ชาวไร่มีเฮมันสำปะหลังราคาพุ่ง ผลผลิตลดเหลือ26ล้านตัน-ส่งออกคึก

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ผลผลิตมันสำปะหลังปี 2561 คาดการณ์ว่าจะน้อยมากไม่น่าจะเกิน 26 ล้านตันโดยเฉพาะภาคอีสาน เพราะพื้นที่เพาะปลูกน้อยลง คุณภาพลดลง

ส่วนสภาพอากาศไม่น่าจะมีผลมากนักซึ่งผลผลิตออกมากที่สุดช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี ส่งผลให้ราคาดีขึ้น มันเส้นอยู่ที่ 210 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากเดิม 200 เหรียญสหรัฐต่อตัน แนวโน้มจะดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะความต้องการยังสูงโดยเฉพาะจีนนำไปผลิตเอทานอล ส่วนการนำเข้าไม่น่าจะมาก เนื่องจากกัมพูชาได้รับผลกระทบราคาตกต่ำเช่นเดียวกับไทย

นางสุรีย์ ยอดประจง กรรมการและที่ปรึกษา สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เปิดเผยว่า การออกมาตรการนำเข้าเป็นเรื่องดี ช่วยควบคุมดูแลและสามารถติดตามได้หากมีปัญหาเรื่องโรค ขณะที่ปริมาณมันสำปะหลังในปี 2561 อาจจะลดลง เป็นผลมาจากปัญหาราคาตกต่ำ ภัยแล้ง เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นมากขึ้น แต่จะมีผลต่อราคาดีขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกผลผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในภาพรวมปี 2561 คาดการณ์ขยายตัว 10-11 ล้านตัน

ขณะที่ปริมาณการส่งออกปี 2560 จะมากกว่า 10 ล้านตัน มูลค่าอยู่ที่ 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะราคามันเส้นอยู่ที่ 2.25-2.40 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนของเกษตรกรอยู่ที่ 1.90 บาทต่อกิโลกรัม แนวโน้มราคาอาจปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาตลาดโลกแนวโน้มขยับขึ้นอยู่ที่ 205-212 เหรียญสหรัฐต่อตัน

นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศเตรียมออกไปโรดโชว์ ทั้งในตุรกี เกาหลี ญี่ปุ่น และเตรียมจัดงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับมันสำปะหลังในเดือนมิถุนายน 2561 เพื่อลดความเสี่ยงจากการส่งออกไปตลาดจีน ซึ่งไทยส่งออกถึง 90%ในปีหน้าคาดว่าการส่งออกและราคาในประเทศจะดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่น่ากังวล และต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายกีรติกล่าวต่อไปว่า กรมการค้าต่างประเทศได้ออกมาตรการเพิ่มเติม เรื่องการกำหนดให้มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง และต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 เพิ่มเติมจากมาตรการเดิม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2561 โดยกำหนดให้ก่อนการนำเข้าต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำเข้า และหลังนำเข้า กรมจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจคุณภาพของมันสำปะหลัง หากพบไม่ได้คุณภาพจะไม่ให้ผู้ประกอบการรายนั้นนำเข้าในครั้งต่อไป จนกว่าจะมีการปรับปรุงคุณภาพให้ดี กรมจะปลดล็อกและให้มีการนำเข้าปกติ

“มาตรการเดิมของการนำเข้า กรมจะกำหนดให้ผู้นำเข้าขึ้นทะเบียน จะต้องมีเอกสารการนำเข้า ประกอบด้วยใบรับรองเรื่องของโรค คุณภาพ อย่างไรก็ดี กรมไม่ได้ห้ามนำเข้า เพียงแต่กำหนดมาตรการดูแลการนำเข้าเพิ่มเติม เพื่อจะได้รับรู้ข้อมูล ข่าวสารในการวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ติดตาม แก้ไขต่อไป”