รัฐบาลเมียนมา ปรับขึ้นภาษีอุตฯ อัญมณี20%

อัญมณีของเมียนมา โดยเฉพาะ “ทับทิม” นับเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญ และสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ด้วยความงามสมคำร่ำลือของอัญมณีมีค่านี้ ถูกขนานนามว่า “ทับทิมจากเมืองโมก๊ก” คือแหล่งทับทิมที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก เพราะเป็นทับทิมสีแดงสดไปจนถึงแดงเข้มเลือดนก และเป็นที่ชื่นชอบสำหรับนักค้าอัญมณีและนักช็อปจากทั่วโลก โดยเฉพาะนักช็อปมือเติบอย่างชาวจีน นอกจากนี้ยังมี “เหมืองพะกันต์” (Hpakant) ที่เป็นแหล่งผลิตหยกคุณภาพดีและมีปริมาณการผลิตมากที่สุดในโลก ที่ทำรายได้ให้กับประเทศไม่แพ้กัน

ล่าสุดกระแสความกังวลของผู้ประกอบการค้าเพชรและอัญมณีในเมียนมาเริ่มปะทุอีกครั้งหลังจากที่กระทรวงแผนงานและการเงินแห่งเมียนมา ประกาศจะทบทวนปรับเพิ่มอัตราภาษีการค้าของ “อัญมณี” ซึ่งถูกจัดให้เป็นหนึ่งในรายการ “ภาษีสินค้าโภคภัณฑ์พิเศษ” (Special Commodities Tax Law) จากทั้งหมด 16 รายการ

โดยรายการภาษีสินค้าโภคภัณฑ์พิเศษ ได้แก่ สินค้าประเภทบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท นํ้ามันเชื้อเพลิง ยานพาหนะ ไข่มุก หยก และอัญมณีทั้งหมด ซึ่งมีอัตราภาษีจัดเก็บเท่ากันอยู่ที่ 15%

เมียนมา บิสซิเนส ทูเดย์ รายงานว่า ปัจจุบันอัตราภาษีที่รัฐบาลเมียนมาเรียกเก็บจากอัญมณี (สินแร่ดิบ) ทุกประเภทอยู่ที่ 15% สำหรับการค้าขายให้กับต่างชาติ และส่งออกระหว่างประเทศ และหากสินแร่นั้น ๆ มีการถลุงภายในประเทศต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีก 10% เป็นทั้งหมด 25%

แต่ล่าสุดรัฐบาลประกาศจะปรับเพิ่มภาษีการส่งออกอัญมณีที่ยังไม่ผ่านการถลุงจากเดิม 15% เป็น 20% ภายในปีนี้ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่น

“อู ทุน ละ อ่อง” เลขานุการสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ยอมรับว่า การปรับขึ้นอัตราภาษีครั้งนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากผู้ประกอบการท้องถิ่น ทั้งยังเกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการดังกล่าวอีกครั้ง เพราะการปรับเพิ่มภาษีดังกล่าวถือเป็นการกีดกันการค้าอย่างหนึ่ง ซึ่งรายได้หลักจากอัญมณีและเครื่องประดับล้วนมาจากนักช็อปและผู้ประกอบการต่างชาติทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเยี่ยมชมประเทศ

“ความจริงแล้วอัญมณีไม่ควรจัดอยู่ในรายชื่อสินค้าพิเศษเนื่องจากไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายและผิดตามหลักศาสนา อย่างเช่น สุรา เบียร์ และบุหรี่”

การเพิ่มอัตราภาษีจะนำไปสู่การลักลอบนำเข้าและส่งออกอัญมณีมากขึ้น จากเดิมที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเมียนมา ควรออกมาตรการป้องกันและปราบปราม พร้อมเข้าตรวจสอบเพื่อควบคุมปัญหาอย่างจริงจัง

ความกังวลของผู้ประกอบการอัญมณีท้องถิ่นเกิดขึ้นเป็นระลอกตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลเมียนมาสมัยเต็ง เส่ง ประกาศปรับเพิ่มราคาขายสำหรับเครื่องประดับประเภท “หยก” อีก 20% เนื่องด้วยมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหวังเก็งกำไรมากขึ้น โดยเกรงว่าผู้ประกอบการท้องถิ่นจะถูกเอาเปรียบจากนักลงทุนกระเป๋าหนัก โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งตั้งแต่ปี 2557-2558 รายได้เฉลี่ยของพลอยและหยก ซึ่งเป็นเครื่องประดับขึ้นชื่อของเมียนมา มีมูลค่ามากถึง 3,400 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตามวิกฤตการเงินโลกที่ยังซบเซาทำให้การค้าอัญมณีและเครื่องประดับลดลงในปัจจุบัน

ทั้งนี้ จำนวนผู้เข้าชมงานแสดงสินค้าหยกและอัญมณี ในกรุงเนย์ปิดอว์ ที่ผ่านมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสินแร่มีค่าที่ลดลง รายได้จากภาคดังกล่าวก็ซบเซาตามไปด้วย

ผู้ประกอบการในวงการค้าอัญมณีเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่าปีนี้เป็นปีแรกที่มีนักช็อปชาวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าบางตา เมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ประเมินว่าจำนวนผู้เข้าชมลดลงไปเกือบครึ่ง ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อยอดการค้าของอัญมณี แต่ยังกระทบไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการ เช่น โรงแรมและร้านอาหารด้วย

โดยนักค้าอัญมณีที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของเมียนมา คือ จีน ที่มักแห่เข้ามาซื้ออัญมณีและเครื่องประดับมากที่สุด โดยเฉพาะทับทิมที่ถือว่าเป็นเครื่องประดับมงคล และนิยมซื้อเป็นของฝากให้แก่กันในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ตัวอย่างความคิดเห็นจากผู้ประกอบการท้องถิ่น นางดอว์ ลา ยี ผู้ค้าอัญมณีรายหนึ่งที่ตลาดค้าอัญมณีเมืองโมก๊กระบุว่า แม้ว่าจะพยายามทำโปรโมชั่น และออกแบบเครื่องประดับที่มีความหลากหลายเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาการค้าขายยังฝืดเคือง

14747105191474710591l

ส่วน นายอู ถันต์ เนือง พ่อค้าพลอยและหยกเจ้าเก่าแก่แห่งเมืองมัณฑะเลย์ระบุว่าปัจจุบันธุรกิจอัญมณีที่ซบเซาเป็นผลจากที่ผู้ค้าชาวจีนเข้ามาซื้อน้อยลงเพราะราคาต้นทุนสูง อีกทั้งทับทิมคุณภาพเยี่ยมในเมืองโมก๊กที่เคยมีมากเหลือเฟือ ปัจจุบันนี้แทบจะไม่เหลือแล้ว โดยผู้ประกอบการต้องนำเข้าสินแร่จากพื้นที่อื่นในประเทศที่หลงเหลืออยู่ อาทิ รัฐคะฉิ่น เป็นต้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความเชื่อมั่นด้านคุณภาพของนักช็อปลดลงไปบ้าง หากการที่รัฐบาลจะปรับเพิ่มอัตราภาษีอัญมณีปีนี้ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ

นายมะขิ่น วิน ผู้ค้าอัญมณีรายหนึ่งเผยว่า ลูกค้าต่างชาติจะยอมจ่ายราคาสูงสำหรับทับทิม และไพลินคุณภาพสูง อัญมณีที่ดีที่สุดส่วนใหญ่จะถูกซื้อโดยลูกค้าต่างชาติ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศยุโรปที่เข้ามาท่องเที่ยว แต่หากรัฐบาลปรับเพิ่มภาษีเป็น 20% ขณะที่คุณภาพของสินแร่ที่ดีที่สุดเริ่มกลายเป็นสิ่งหายาก จะยิ่งทำให้ระดับราคาสินค้ายิ่งสูงขึ้น

นับตั้งแต่ที่รัฐบาลเมียนมาภายใต้การบริหารงานของนางออง ซาน ซู จี เข้ามาบริหารประเทศเมื่อวันที่ 1 เม.ย. จะเห็นว่ามีแผนการปฏิรูปกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนอย่างมาก บ้างก็เอื้อต่อท้องถิ่น บ้างก็เอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติ แต่การปรับขึ้นภาษีอัญมณีที่กำลังเป็นปัญหาในเวลานี้ กลายเป็น “ดาบสองคม” เพราะไม่เพียงจะกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีแล้ว เม็ดเงินที่เคยเป็นหนึ่งในรายได้ของประเทศก็อาจสูญหายไปเช่นกัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ