ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
แห่ชมซูเปอร์ฟูลมูน จันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุด อยุธยานักท่องเที่ยวแน่นวัดโลกยสุทธา ตื่นตาถ่ายภาพดวงจันทร์กับพระพุทธรูปปางไสยาสน์สุดงดงาม หอดูดาวฉะเชิงเทราก็คึกคัก เชียงใหม่-สงขลาร่วมกิจกรรม สดร.เผยใกล้ที่สุดในรอบปี โดยเฉพาะหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นชัดทั้งหลุมอุกกาบาตและภูเขาบนดวงจันทร์ เผยครั้งต่อไปต้นปี 62 แต่ไม่ใกล้เท่าครั้งนี้
เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 2 ม.ค. ที่บริเวณด้านหน้าพระพุทธไสยาสน์ วัดโลกยสุทธา (วัดพระนอน) ต.ประตูชัย อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชมซูเปอร์ฟูลมูนว่า ประชาชนเฝ้าชมปรากฏ การณ์นี้กันอย่างตื่นเต้นและต่างบันทึกภาพความสวยงามของดวงจันทร์เต็มดวงกับองค์พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ซึ่งพระเศียรอยู่ทางด้านทิศเหนือ หันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันตก มีความยาวตั้งแต่พระเศียรจรดพระบาทรวม 42 เมตร พระบาทซ้อนกันเป็นมุมฉาก นิ้วพระบาทยาวเท่ากัน
เวลาเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ ฉะเชิงเทรา โดยมีประชาชนจำนวนมากพากันมาชมปรากฏการณ์ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน รวมถึงชมผ่านกล้องโทรทรรศน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยดารา ศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่าปรากฏการณ์จันทร์เต็มดวงใกล้โลกครั้งนี้ จัดเป็นซูเปอร์ฟูลมูนแห่งปี โดยดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี 2561 มีระยะห่างจากโลกเพียง 356,595 กิโลเมตร และหากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์ก็จะเห็นชัดทั้งหลุมอุกกาบาตและภูเขาบนดวงจันทร์
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร. เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือว่าดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2561 โดยหากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติจะมีขนาดใหญ่กว่า 7% และสว่างกว่า 16% สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก
ผอ.สดร.กล่าวด้วยว่า ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น แต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 356,400 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และแม้ว่าดวงจันทร์จะมีตำแหน่งโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่ดวงจันทร์ไม่ได้ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง ซึ่งครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 21 ม.ค. 2562 ที่ระยะห่าง 357,706 กิโลเมตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา บริเวณจุดสังเกตการณ์หลัก 4 ภูมิภาคที่ สดร. จัดกิจกรรมให้ประชาชนเข้าชมปรากฏการณ์ซูเปอร์ฟูลมูนครั้งนี้ คือที่จ.เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา รวมถึงที่โรงเรียนเครือข่ายในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ อีกกว่า 260 แห่งทั่วประเทศ มีประชาชนไปชมกันอย่างคึกคักและบันทึกภาพด้วยความประทับใจ