แบงก์ลดปล่อยกู้ใหม่ SMEs ไซซ์เล็ก ผวาหนี้เสียธุรกิจโชห่วย-ร้านค้าวัสดุก่อสร้างภูธร

แบงก์พาณิชย์รับเอสเอ็มอีไซซ์เอสมีความเสี่ยงเพิ่ม ห่วงกลุ่ม “อาชีพอิสระ-ค้าปลีก-ร้านขายวัสดุก่อสร้าง” เหตุยอดขายลด แข่งขันรายใหญ่ยาก พบโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม ตั้งการ์ดตรวจข้อมูลลูกค้าเดินสายตรวจสอบพื้นที่ทั้งก่อนและหลังปล่อยกู้ถี่ ยิบ “กรุงไทย-ทหารไทย” เผยยอดอนุมัติสินเชื่อลดเหลือ 50% จากเดิมแตะ 60%

นายลือชัย ชัยปริญญา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานด้านกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในกลุ่มเอสเอ็มอีไซซ์เอส หรือเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยจะมีกระบวนการคัดกรองสินเชื่อมากขึ้น ทั้งการคัดเลือกกลุ่มอาชีพ การดูข้อมูลลูกค้าอย่างละเอียด การลงพื้นที่ตรวจสอบทั้งก่อนและหลังให้สินเชื่อ เพื่อทำให้แน่ใจว่าลูกค้าที่ได้รับสินเชื่อเป็นลูกค้ากลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง

ทั้ง นี้จากการคัดกรองมากขึ้นส่งผลให้ยอดการอนุมัติ(Approve)สินเชื่อใหม่ของ ธนาคารที่ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีไซซ์เอสลดลงด้วยโดยปัจจุบันยอดการอนุมัติสิน เชื่อใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 50% หากเทียบกับปลายปี 2558 ที่ธนาคารมียอดอนุมัติสินเชื่อกลุ่มนี้อยู่ที่ 50-60% ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจที่ธนาคารให้ความระมัดระวังมากขึ้น เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ ค้าปลีกทั่วไป (โชห่วย) ค้าขายวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ธนาคารมองว่ากลุ่มนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น คือพฤติกรรมชำระหนี้มีความล่าช้าให้เห็นมากขึ้น หลังได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หรือรายได้ไม่แน่นอน รวมไปถึงคู่แข่งทางธุรกิจเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มค้าขายวัสดุก่อสร้างในต่างจังหวัดอาจได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากปัจจุบันมีร้านค้าขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าเข้ามาเปิดให้บริการมากขึ้น ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น” นายลือชัยกล่าว

ขณะที่สัดส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีไซซ์เอสในพอร์ตปัจจุบันอยู่ที่ 23% หรือมียอดสินเชื่อคงค้างราว 1 แสนล้านบาท หากเทียบกับยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างทั้งหมดของธนาคาร ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2559 ที่มีอยู่กว่า 4 แสนล้านบาท

นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB กล่าวว่า นโยบายของธนาคารปีนี้ คือระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไซซ์เล็กที่มียอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจกลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากกว่าเอสเอ็มอีกลุ่มอื่น ๆ ทั้งในด้านผลประกอบการ การหมุนเวียนเงินสดที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารไม่มีนโยบายเข้าไปปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้มากนัก ขณะที่การอนุมัติสินเชื่อในลูกค้ากลุ่มนี้มีอัตราการอนุมัติสินเชื่อราว 50% จากการอนุมัติสินเชื่อทุกกลุ่มที่เฉลี่ย 50-60%

“ปีนี้เป็นนโยบายของธนาคารอยู่แล้ว ที่ไม่ได้เน้นการเข้าไปปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้ เพราะความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น และกลุ่มที่มีความเสี่ยงก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของธนาคารอยู่แล้ว ดังนั้นธนาคารจะเน้นปล่อยสินเชื่อในกลุ่มเอสเอ็มอีที่มียอดขายเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ เพราะธุรกิจแข็งแกร่งมากขึ้น” นายไตรรงค์กล่าว

นายสนอง คุ้มนุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านเครือข่ายลูกค้ารายย่อย ธนาคารธนชาต หรือ TBANK กล่าวว่า ด้วยนโยบายของธนาคารไม่ได้เน้นเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีที่มียอดขายต่ำกว่า 20 ล้านบาทอยู่แล้ว อีกทั้งธนาคารก็มีการควบคุมปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มนี้มาแล้วตลอดในช่วง 1 ปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นความสามารถในการชำระเงินกู้คืนลดลง และอัตราการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับเอสเอ็มอีกลุ่มอื่น ๆ ทำให้ธนาคารระมัดระวังค่อนข้างมากในการพิจารณาสินเชื่อเข้าพอร์ต

“ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราเห็นธนาคารอื่น ๆ เข้าไปรุกกลุ่มนี้กันเยอะ ทำให้ตอนนี้เห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ปูดให้เห็นในกลุ่มนี้เยอะมาก และต้องกลับมานั่งแก้หนี้ในปีนี้ แต่ทางเราเห็นทิศทางมาตั้งแต่แรกแล้วว่าการเข้าไปเจาะกลุ่มนี้มีความเสี่ยง เราจึงลดการเข้าไปปล่อยสินเชื่อตั้งแต่แรก ตอนนี้จึงไม่มีปัญหา หากเทียบกับแบงก์อื่นที่รุกลูกค้าเอสเอ็มอีรายจิ๋วมาก ๆ” นายสนองกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกค้าเอสเอ็มอีไซซ์เอสในพอร์ตของธนาคารธนชาต มีสัดส่วนไม่ถึง 10% หากเทียบกับยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างทั้งหมดที่มีราว 1.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 2/2559

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์