ที่มา | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สถานการณ์กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ในปี 2560 ไม่ต่างจากกลุ่มพืชเกษตรหลักที่สำคัญเท่าใดนัก จากปัญหาผลผลิตมากเกินความต้องการจนทำให้ราคาตกต่ำ แต่มีเพียงบางรายการเท่านั้นที่ราคาค่อนข้างดีต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังปี 2559 ได้แก่ ไก่เนื้อที่ราคาขยับขึ้นสูงกว่าช่วงปกติมากกว่า 30% เนื่องจากคู่แข่งหลายประเทศมีปัญหาโรคไข้หวัดนก และปัญหามาตรฐาน
ขณะที่กุ้งขาวแวนนาไมราคาค่อนข้างมีเสถียรภาพ นับตั้งแต่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงครั้งใหญ่ในปี 2559 เป็นต้นมา เพื่อมิให้โรคกุ้งตายด่วน (EMS) ฟื้นคืนชีพอีก
ปี 2561 ตั้งเป้าผลิตกุ้งเพิ่ม 10%
หลังภาครัฐ-เอกชนร่วมมือกันแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ได้สำเร็จในปี 2559 คาดว่าในปี 2560 ผลผลิตได้ประมาณ 3 แสนตัน และจะส่งออกได้ประมาณ 2 แสนตัน มูลค่าเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2561 คาดว่าการเลี้ยงจะเพิ่มขึ้น 10% ปริมาณ 3.3 แสนตัน ผลผลิตกุ้งควรจะดีกว่านี้ แต่ภาวะฝนตกชุกและเกิดน้ำท่วม ปริมาณกุ้งจึงไม่เพิ่มจากที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการประสบกับปัญหาโรคขี้ขาว โรคตัวแดงดวงขาว แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก
ทั้งนี้ ประเทศจีน เป็นตลาดที่นำเข้าเพิ่มขึ้นชัดเจน เพราะการเลี้ยงเองมีต้นทุนเท่ากับการนำเข้า โดยนำเข้าจากไทยใน 10 เดือนแรกปีนี้ 6,593 ตันปริมาณเพิ่มขึ้น 56.05% มูลค่าเพิ่มขึ้น 49.75% จีนผลิตกุ้งได้ 5 แสนตัน แต่ในอนาคตอันใกล้จีนต้องการบริโภคปีละ 1.6 ล้านตัน จึงเป็นตลาดที่น่าจับตามอง และประเทศต่าง ๆ ในเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นนำเข้าเพิ่มขึ้น 10 เดือนแรก 39,940 ตัน มูลค่า 9,453 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้น 20.61% มูลค่าเพิ่มขึ้น 26.90% ขณะที่สหรัฐอเมริกานำเข้าจากไทยมากสุด 62,954 ตัน มูลค่า 23,895 ล้านบาท ปริมาณลดลง 4.41% มูลค่าลดลง 1.35%
ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย ขอให้รัฐเพิ่มงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมจากปัจจุบันมีงบประมาณปีละ 10 ล้านบาท เพราะขณะนี้อินเดียเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมีการเพิ่มพื้นที่เลี้ยงรวมเป็น 1.2 ล้านไร่ส่งออกไปสหรัฐถึง 1.2 แสนตัน
ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งถึง 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ควรจะปรับให้อยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดียค่าเงินอ่อนกว่าไทยถึง 50% มานับสิบปี รวมถึงปัญหาเรื่องใช้แรงงานเด็กหรือผิดกฎหมาย หากสหรัฐปรับอันดับไทยดีขึ้นในปี 2561 จะช่วยแก้ภาพลักษณ์ได้ดีขึ้น และสุดท้ายควรเร่งการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA ไทย-สหภาพยุโรป(อียู)ให้กุ้งไทยส่งเข้าอียูภาษี 0% ให้เสร็จภายใน 1 ปี จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองการขายกุ้งได้มากขึ้น
หมูขาดทุนหนัก เทขายแม่พันธุ์
ผู้เลี้ยงหมูของไทยปีนี้อาการหนักที่สุด ต้นทุนการเลี้ยงหมูจะตก กก.ละ 58-60 บาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ราคาผันผวนหนัก ราคาหมูมีชีวิตตก กก.ละ 41-42-44 บาท ทั้งที่ควรขยับเป็น กก.ละ 55-58 บาท จากราคาช่วงกลางเดือน พ.ย. 2560 กก.ละประมาณ 54 บาท เพราะมีการเทหมูออกสู่ตลาดมาก คาดว่ามีแม่พันธุ์หมูทั่วประเทศ 1.1 ล้านแม่หรือมากกว่านั้น บริษัทขนาดใหญ่ยังเจ็บ แต่ยังสู้กันอยู่ อย่างไรก็ตาม รายกลางที่มีแม่พันธุ์ 3,000-6,000 แม่ เริ่มเทแม่หมู (ขนาดน้ำหนักตัวละ 180-200 กก.) ท้องที่ 3-5 ครั้งแล้วออกขาย กก.ละ 20 บาท แต่ยังไม่มีใครซื้อ เพราะทนขาดทุนไม่ไหว ต้องรีบตัดวงจร เหลือไว้เฉพาะท้องที่ 1-2 ที่ซื้อขายในตลาด กก.ละ 37-40 บาทแทน เพราะคาดกันว่า วงจรราคาอาจดีดกลับอาจกลับมาได้
นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด กล่าวว่า กลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา สหกรณ์ได้ชำแหละหมูขายเนื้อแดงขาย กก.ละ 80-90 บาทประมาณ 10 จุดทั่วแปดริ้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น คงต้องชำแหละหมูขายตรงต่อไปเพื่อตัดวงจรหมูที่มีมาก ปีนี้การส่งออกหมูลดเหลือ 2 แสนกว่าตัวในรอบ 10 เดือนแรกปีนี้ จากปี 2559 เคยส่งออกได้ถึง 1.6 ล้านตัว และมีการขยายแม่พันธุ์เลี้ยงจนทำให้ราคาหมูเป็นทรุดหนัก
พาณิชย์ผนึก “เอ้กบอร์ด”
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรขายได้เพียงฟองละ 2 บาท ลดลงอีก 10 สต.ต่อฟอง จากต้นทุนการผลิต 2.8 บาท/ฟอง
โดยล่าสุดราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ถึง 70% ได้ขยับขึ้นอีก โดยข้าวโพดขยับขึ้นเป็น กก.ละ 9-9.20 บาท จากปีนี้ที่เคยซื้อได้ต่ำสุด กก.ละ 7.30 บาท กากถั่วเหลืองอาร์เจนตินาปลาย พ.ย. 2560 กก.ละ 14 บาทราคาทะลุ กก.ละ 15 บาทแล้ว กากข้าวโพดจาก กก.ละ 7 บาทเป็น กก.ละ 8.50 บาท
ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ที่เคยซื้อครั้งละถาด (30 ฟอง) ซื้อเพียงแพ็กละ 10 ฟอง ช่วงนี้เริ่มเข้าเทศกาลวันหยุดยาว ไข่ไก่ออกมาก และมีการเลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายใหญ่ ไข่ไก่ออกสู่ตลาดวันละไม่ต่ำกว่า 41-42 ล้านฟองเกินปริมาณการบริโภคที่ประมาณวันละ 37 ล้านฟองไปมาก
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมหารือกับคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด ของกระทรวงเกษตรฯในการร่วมกันแก้ปัญหาไข่ไก่แบบครบวงจร เพื่อลดความเดือดร้อนแก่เกษตรกร โดยเบื้องต้นจะดำเนินการออกประกาศควบคุมการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ โดยอาศัยกฎหมายกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2522 เพื่อควบคุมการนำเข้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และการกระจายไข่ไก่ออกสู่ตลาดให้มากที่สุด
ส่วนกรณีที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย ระบุว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการขยายการเลี้ยงเพิ่ม และลดราคาขายในราคาที่ต่ำกว่านั้น สามารถร้องเรียนมาที่กระทรวงพาณิชย์ได้ หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะเป็นผู้พิจารณา
นายนรินทร์ ปรารถนาพร เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ขาดทุนแล้วประมาณ 30% โดยต้นทุนไข่ไก่คละเฉลี่ยที่ 2.7-2.8 บาทต่อฟองขายได้ 2 บาทต่อฟอง ซึ่งต่ำกว่าราคาประกาศที่อยู่ที่ 2.10 บาทต่อฟอง จากที่รายใหญ่ผลิตไข่ไก่จนล้นตลาดถึง 10% จนส่งผลให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่บางรายต้องเลิกกิจการ รัฐควรแก้ไขด่วน
ไก่เนื้อส่งออกพุ่ง
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรฌัม ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออก กล่าวว่า การส่งออกไก่เนื้อไทยปี 2560 ดีมาก จากปัญหาไข้หวัดนกระบาดในหลายประเทศ และบราซิลผู้ส่งออกรายใหญ่ขาดความน่าเชื่อถือจากมาตรฐานส่งออกไก่ ทำให้ราคาไก่สดแปรรูปแช่แข็งของไทยมีราคาพุ่ง ตันละ 3,200-3,300 เหรียญสหรัฐ จากปกติ 2,300 เหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปี 2560 บราซิลเร่งลดราคาเพื่อส่งออกแข่งกับไทย ทำให้ราคาไก่ไตรมาสแรกปี 2561 ลดลงเหลือตันละ 2,800-2,900 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีออร์เดอร์ยาวไปถึงไตรมาสแรกปี 2561 แล้วกว่า 50% คาดว่าปี 2560 ไทยจะส่งออกได้ 7.9 แสนตันเพิ่มขึ้น 7% จากปี 2559 ที่ส่งออก 7.43 แสนตัน และวัตถุดิบอาหารสัตว์จากยูเครนราคาถูกทำให้แข่งขันในตลาดอียูได้