เกษตรฯ ฟุ้ง 20 ปีเหลื่อมล้ำน้อยลง เกษตรกรรวยขึ้น หนี้สินลด – มีเงินสด 7.1 หมื่น/ครัวเรือน

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรปีเพาะปลูก 2559/60 ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 160,932 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 2.34% จากปี 2559 จากผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพืช เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ และปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ โคเนื้อ น้ำนมดิบ รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปผลผลิตที่ผลิตและการจำหน่ายผลผลิตพลอยได้ในฟาร์มที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้เงินสดนอกการเกษตรต่อครัวเรือนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 148,346 บาท เพิ่มขึ้น 3.60% จากปี 2559

นอกภาคการเกษตรที่สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน เช่น เงินเดือน กำไรจากการค้าขาย การรับจ้างและให้บริการของสมาชิกในครัวเรือน ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสดทั้งปี 2560 รวม 309,278 บาท/ครัวเรือน และครัวเรือนเกษตรมีรายจ่ายเงินสดทางการเกษตร 101,957 บาท/ครัวเรือน ขยายตัว 1.52% จากปี 2559 เป็นผลมาจากค่าจ้างแรงงานและราคาปัจจัยการผลิต/วัสดุอุปกรณ์การเกษตรที่เพิ่มขึ้น และรายจ่ายเงินสดนอกการเกษตร ค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของครัวเรือน ลดลง 4.51% จากปี 2559 เหลือเพียง 141,221 บาท/ครัวเรือน โดยเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ลดลง 10.38%

ทั้งนี้ เมื่อนำรายได้มาหักค่าใช้จ่ายแล้วส่งผลให้เงินสดคงเหลือครัวเรือนเกษตรก่อนชำระหนี้ ขยับมาขึ้นอยู่ที่ 66,100 บาท/ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้น 25.41% ขณะที่หนี้สินครัวเรือนเกษตรอยู่ที่ 123,454 บาท/ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเพียง 0.62% โดยหนี้สินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการหมุนเวียนเพื่อทำการผลิตทางการเกษตร

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรปีเพาะปลูก 2560/61 ซึ่งประเมินและวิเคราะห์จากข้อมูลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คาดว่ารายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2.5% และครัวเรือนเกษตรจะมีเงินสดคงเหลือก่อนหักชำระหนี้สูงถึง 71,443 บาท/ครัวเรือน

สำหรับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในภาคเกษตรในช่วงปี 2539-2559 มีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากสัดส่วนรายได้ทั้งหมดในภาคเกษตรที่เกษตรกรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจาก 2.74% ในปี 2553 เป็น 5.33% ในปี 2559 ขณะที่เกษตรกรในกลุ่มที่มีรายได้มากที่สุด 20% มีสัดส่วนรายได้ลดลงจาก 58.75% ในปี 2553 เหลือเพียง 53.23% ในปี 2559

“รอบ 20 ปีรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นกลุ่มที่มีความยากจนที่สุด ที่เมื่อปี 2539 มีรายได้ต่อปี 2,774 บาท/ปี/ครัวเรือน แต่ปี 2559 มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่า หรือมีรายได้ 21,230 บาท/ครัวเรือน/ปี และในกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดหรือเกษตรกรที่รวยสุด มีรายได้ในปี 2539 ประมาณ 59,528 บาท/ครัวเรือน/ปี เพิ่มขึ้น 3.5 เท่าในปี 2559 หรือมีรายได้ 212,034 บาท/ครัวเรือนต่อปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง ความเหลื่อมล้ำในภาคเกษตรลดลงอย่างมาก ส่วนหนี้สินในปี 2559 มีอัตราที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เกิดจากหนี้สินจากการลงทุน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในปีถัดจากนี้ไปกลุ่มเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

นายวิณะโรจน์ กล่าวว่า จากสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของเกษตรกรกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด ส่งผลให้จำนวนคนจนในภาคเกษตรลดลงถึง 14.329 ล้านคน จากในปี 2539 ภาคเกษตรมีคนจนอยู่สูงถึง 19.443 ล้านคน หรือคิดเป็น 72% ของประชากรภาคเกษตร แต่ในปี 2559 ภาคเกษตรกลับมีจำนวนคนจนลดลงเหลือเพียง 5.114 ล้านคน หรือคิดเป็น 21.67% ของประชากรภาคเกษตรเท่านั้น ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแผนงานโครงการต่างๆ ด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐที่ผ่านมาได้มีส่วนสนับสนุนให้การพัฒนาการเกษตรของประเทศมีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตัวเองได้และมีรายได้มั่นคง