เรตใหม่ภาษีที่ดินปรับลด 40% บ้านหลังแรกต่ำ 20 ล้าน ยกเว้น

กมธ.ชงร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ เข้า สนช. 24 ม.ค. 61 แจก “ของขวัญปีใหม่” ลดภาษี 2 ปีแรก 40% บ้านหลังแรกไม่เกิน 20 ล้านยกเว้น นิติบุคคลถือครองที่ดินเกษตรกรรมเสียภาษี 0.01% ตั้งแต่บาทแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 19 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดการเสวนา “การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีประชาชนและตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆร่วมรับฟังราว 250 คน

ของขวัญปีใหม่ผ่อนภาษี 2 ปีแรก

โดยอัตราภาษีที่ กมธ.เสนอ กรณีที่ดินเกษตรกรรมที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา ถ้ามูลค่าที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี, 50-75 ล้านบาท เก็บที่ 0.01%, 75-100 เก็บที่ 0.03%, 100-500 ล้านบาท เก็บที่ 0.05%, 500-1,000 ล้านบาทเก็บที่ 0.07% ส่วนที่ดินเกษตรกรรมที่เจ้าของเป็นนิติบุคคล มูลค่าที่ดินระหว่าง 0-75 ล้านบาท เก็บที่ 0.01%, 75-100 ล้านบาท เก็บที่ 0.03%, 100-500 ล้านบาท เก็บที่ 0.05%, 500-1,000 ล้านบาท เก็บที่ 0.07% และเกิน 1,000 ล้านบาท เก็บที่ 0.10%

บ้านต่ำ 20 ล้านเว้นภาษี

นายพรชัยกล่าวอีกว่า กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลัก เจ้าของต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีชื่อในโฉนดและทะเบียนบ้านตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ของปีภาษีนั้น หากมูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 20 ล้านบาทจะได้รับยกเว้นภาษี (ถ้าเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่เป็นเจ้าของที่ดินจะได้รับยกเว้นภาษีในกรณีมูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท), 20-50 ล้านบาท เก็บ 0.02%, 50-75 ล้านบาท เก็บ 0.03%, 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.05% และมากกว่า 100 ล้านบาท เก็บที่ 0.10% ส่วนที่อยู่อาศัยหลังอื่น ๆ ถ้าไม่เกิน 50 ล้านบาท เก็บที่ 0.02%, 50-75 ล้านบาท เก็บที่ 0.03%, 75-100 ล้านบาท เก็บที่ 0.05% และมากกว่า 100 ล้านบาท เก็บที่ 0.1%

ส่วนที่ดินประเภทอื่น ๆ ทั้งเพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรม รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่า ที่ไม่ได้ทำประโยชน์ ถ้ามูลค่า 0-50 ล้านบาท จะเก็บที่ 0.3%, 50-200 ล้านบาท เก็บที่ 0.4%, 200-1,000 ล้านบาท เก็บที่ 0.5%, 1,000-5,000 ล้านบาท เก็บที่ 0.6% และ มากกว่า 5,000 ล้านบาทเก็บที่ 0.7% โดยในกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะมีการปรับเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 3%

ลดเพดานภาษี 40% ยกแผง

“อัตราภาษีที่เสนอนี้ เป็นภาระภาษีที่พวกเอสเอ็มอีต่าง ๆ รับได้ และบางรายก็มีภาระลดลงด้วย โดยคณะ กมธ.วิสามัญได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าสามารถเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบได้ ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบในขั้นต่อไป ก็จะกำหนดไว้ในกฎหมายเลย และเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลบังคับใช้ในช่วง 2 ปีแรก”

นายพรชัยกล่าวว่า กมธ. ยังได้เสนอปรับลดเพดานภาษีลงประมาณ 40% โดยกรณีที่ดินเกษตรกรรม ลดเพดานเหลือ 0.15% ของฐานภาษี จากร่างกฎหมายเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้ที่ 0.2% ส่วนที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัยลดเพดานเหลือ 0.3% จากเดิมกำหนดที่ 0.5% ขณะที่ที่ดินอื่น ๆ นอกจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย (รวมที่ดินรกร้างว่างเปล่า) ลดเพดานเหลือ 1.2% จากเดิมกำหนดที่ 2% แต่กรณีที่รกร้างว่างเปล่าจะมีการปรับเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 3% ซึ่งต่ำกว่าเดิมที่กำหนดให้เพิ่มขึ้น 0.5% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 5%

บรรเทาภาระภาษีช่วงรอยต่อ

นอกจากนี้ได้กำหนดบทเฉพาะกาลบรรเทาภาระภาษี โดยในช่วง 3 ปีแรก ที่มีการบังคับใช้กฎหมาย ให้ผู้เสียภาษีที่ได้รับการประเมินภาษีในจำนวนที่สูงกว่าจำนวนภาษีเดิม ประกอบด้วย ภาษีบำรุงท้องที่ หรือภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยให้บรรเทาภาระภาษีด้วยการให้ชำระภาษีตามจำนวนที่ต้องเสีย หรือพึงชำระในปีก่อน รวมกับจำนวนภาษีที่เหลือ (ภาษีใหม่-ภาษีเก่า) ดังนี้ 1.ปีที่ 1 ภาษีเก่า+ร้อยละ 25 ของจำนวนภาษีที่เหลือ 2.ปีที่ 2 ภาษีเก่า+ร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่เหลือ และ 3.ปีที่ 3 ภาษีเก่า-ร้อยละ 75 ของจำนวนภาษีที่เหลือ

พลโทชาญชัย ภู่ทอง โฆษก กมธ.วิสามัญ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากจัดรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะเสนอที่ประชุม สนช. ได้ภายในวันที่ 24 ม.ค. 61 คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 60 วันพิจารณาวาระ 2 และ วาระ 3หากผ่าน สนช. จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 เป็นต้นไป ประเมินว่ารัฐจะมีรายได้จากการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปีแรก 3 หมื่นล้านบาท ปีต่อ ๆ ไป ฐานภาษีจะขยับขึ้นตามมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละพื้นที่