บ้านสมเด็จโพลล์เผยของฝากทั่วไทย ‘น้ำพริกหนุ่ม-แหนมเนือง-ขนมเปี๊ยะ-ขนมเค้ก-ทองหยิบฯ-ปลาหมึกแห้ง’ ฮิต

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เปิดเผยว่า นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ใน กทม. 1,271 กลุ่มตัวอย่าง วันที่ 28-30 พฤศจิกายน ผลการสำรวจครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคน กทม.การซื้อของฝากให้กับญาติสนิท มิตรสหาย และของฝากประเภทใดที่มีความนิยมในการเลือกซื้อ ซึ่งแบ่งแยกตามแต่ละภาคของไทย รวมถึง การตรวจสอบฉลากเรื่องของวันหมดอายุ สถานที่ผลิต มีข้อมูลดังนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าจะซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว อันดับหนึ่ง ขนม ของทานเล่น ร้อยละ 26.6 อันดับสอง อาหารแห้ง ร้อยละ 26.0 อันดับสาม ของชำร่วย พวงกุญแจ ฯลฯ ร้อยละ 24.4 อันดับสี่ เครื่องแต่งกาย ร้อยละ 23.0 และอันดับห้า ผักสด ผลไม้สด ร้อยละ 20.9

ของฝากจากภาคเหนือ อันดับแรก น้ำพริกหนุ่ม ร้อยละ 36.1 อันดับสอง แคบหมู ร้อยละ 29.7 อันดับสาม หมูยอ ร้อยละ 25.0 อันดับสี่ ไส้อั่ว ร้อยละ 24.6 และอันดับห้าคือใบชา ร้อยละ 18.3

ของฝากจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับแรก แหนมเนือง ร้อยละ 34.7 อันดับสอง หมูยอ ร้อยละ 29.4 อันดับสาม กุนเชียง ร้อยละ 26.9 อันดับสี่ แหนม ร้อยละ 19.7 และอันดับห้า น้ำพริก ร้อยละ 18.3

ของฝากจากภาคตะวันออก อันดับแรก ขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 29.1 อันดับสอง ข้าวหลาม ร้อยละ 27.5 อันดับสาม อาหารทะเลแห้ง ร้อยละ 26.3 อันดับสี่ ผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 21.6 และอันดับห้า น้ำปลา ร้อยละ 17.5

ของฝากจากภาคกลาง อันดับแรก ขนมเค้ก ร้อยละ 27.3 อันดับสอง สายไหม ร้อยละ 27.1 อันดับสาม โมจิ ร้อยละ 26.8 อันดับสี่ กะหรี่พัฟ ร้อยละ 22.0 และอันดับห้า ขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 21.9

ของฝากจากภาคตะวันตก อันดับแรก ทองหยิบทองหยอด ร้อยละ 27.7 อันดับสอง ขนมหม้อแกง ร้อยละ 27.6 อันดับสาม ขนมชั้น ร้อยละ 25.3 อันดับสี่ ขนมปังสัปปะรด ร้อยละ 23.4 และอันดับห้า มะขามสามรส ร้อยละ 19.7

ของฝากจากภาคใต้ อันดับแรก ปลาหมึกแห้ง ร้อยละ 32.5 อันดับสอง กะปิ ร้อยละ 29.3 อันดับสาม กุ้งแห้ง ร้อยละ 24.2 อันดับสี่ น้ำพริก ร้อยละ 22.3 และอันดับห้า เครื่องแกง ร้อยละ 21.3

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุ ร้อยละ 44.8 รองลงมา ไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 35.4 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.8 และมีการตรวจดูสถานที่ผลิต ร้อยละ 44.8 รองลงมา ไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 34.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.0 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 54.8 รองลงมา ไม่แน่ใจ ร้อยละ 28.8 และเคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 16.4