หนุ่มราชบุรีแกะสลักภาพเหมือน”ตูน บอดี้สแลม” ด้วยขี้เถ้า หนึ่งเดียวในไทย

วันที่ 20 ธ.ค. นายสุทน แสงตันเจริญ อายุ 45 ปี ชาวบ้าน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จบการศึกษา ปวส.ด้านไฟฟ้า และเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในอำเภอบ้านโป่ง ที่รักงานศิลปะและงานประติมากรรมการแกะสลัก โชว์ผลงานการแกะสลักภาพเหมือนรูปลอยนูน ที่ทำจากขี้เถ้าผสมปูนมีลักษณะเสมือนจริง โดยจัดแสดงภายในตลาดจวนเก่าผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี พร้อมทั้งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการนำขี้เถ้าเหลือใช้จากการเผาไหม้ของไม้หรือเชื้อฟืนต่างๆ ตามบ้านเรือน และร้านค้าทั่วไป นำมาคิดสูตรผสมพิเศษของตนเองจนมีผลงานมากมายหลากหลายรูปแบบ มากว่า 18 ปี นอกจากนี้ยังเป็นนักวิทยากรเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ออกให้ความรู้ตามหน่วยงานบริษัทห้างร้านและงานพิธีในจังหวัดต่างๆ

โดยผลงานล่าสุดของนายสุทน ได้รับแรงบันดาลใจของนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ที่ตั้งใจวิ่งการกุศลเพื่อหาเงินช่วยเหลือโรงพยาบาล ตามโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เป็นภาพของตูนที่หลั่งน้ำตาขณะโอบกอดเด็กชาย ขณะมอบทุนการศึกษาให้น้องณัฐนันท์ จำนวน 10,000 บาท โดยเป็นภาพที่แกะสลักถ่ายทอดอารมณ์มาจากเฟซบุ๊กชื่อ Arthit Kannikar ที่วาดภาพนี้เอาไว้และบรรยายถึงความอบอุ่นของตูน ที่นอกจากจุดหมายปลายทางของโครงการก้าวคนละก้าว จะมีไว้เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลแล้ว ระหว่างทางที่วิ่งผ่าน ยังได้บริจาคเงินและสิ่งของให้กับโรงเรียนในชนบทด้วย สำคัญมากๆ คือทุนการศึกษา ในภาพจะเห็นได้จากการที่เด็กนักเรียนคนหนึ่งที่เข้ากอด ตูน บอดี้สแลม กอดนี้มันอบอุ่น นั่นเป็นความรู้สึกที่ผมรู้สึกสัมผัสกับภาพๆ นี้ น้ำตาคนให้ กับน้ำตาคนรับ แม้จะคนละเหตุผล แต่ก็เป็นน้ำตาแห่งความสุขที่อิ่มเอมใจและแสนอบอุ่น

นายสุทน เจ้าของผลงานขี้เถ้าแกะสลัก กล่าวว่า เมื่ออายุ 15 ปี เริ่มปั้นแกะจากดินเหนียวในรูปต่างๆทำได้อยู่ 12 ปี จึงหันมาใช้ขี้เถ้ามาเป็นส่วนผสมในการสร้างชิ้นงาน โดยมองดูจากที่จังหวัดเพชรบุรี ช่างปั้นแกะสลักจะใช้ปูนดิบมาเป็นส่วนผสม ประกอบกับชอบเรื่องประวัติศาสตร์และได้ฟังจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า การปั้นพระสมัยก่อนจะใช้ขี้เถ้า โดยการเอาเศษไม้มาเผาเป็นขี้เถ้าและผสมกับปูน จึงลองนำมาทดลองจนได้สูตรเฉพาะของตนเอง ตลอดจนฝึกฝนพัฒนาฝีมือและต่อยอดออกไปกว่า 10 ปี จนมีผลงานออกมาสมบูรณ์ ทำแล้วเอามาโชว์ผ่านงานต่างๆ อีกทั้งยังสอนให้ผู้ที่ชื่นชอบในงานแกะสลัก และเป็นวิทยากรเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อยากให้อนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านนี้ไว้

นายสุทน กล่าวต่อว่า ขี้เถ้ามันเกิดจากเรามองไม่เห็นคุณค่าของมันแล้วนำกลับมาใช้ บวกกับการชอบงานศิลปะงานปั้น โดยเฉพาะเรื่องดิน เรามองว่าได้มาจากธรรมชาติ มันมีประโยชน์มากกว่าที่จะนำมาเผาเอามาปั้นอย่างเดียว เราน่าจะลดทอนธรรมชาติ เอาวัสดุเหลือใช้ใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ ตนไม่ได้จบมาจากช่างศิลป์โดยตรงจึงไปเรียนรู้งานปั้นจากภูมิปัญญาชาวบ้านจากการปั้นโอ่ง ความโดดเด่นของขี้เถ้า มีความแตกต่างจากวัสดุอื่นทั่วไป ที่ได้อารมณ์ของชิ้นงานที่เสมือนจริง จากสี ซึ่งขี้เถ้าสามารถนำไปปั้น แกะ หรือหล่อได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องไปเผาซ้ำ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่เผามาแล้ว สามารถผสมกับวัสดุตัวอื่นได้ อาทิ ปูนซีเมนต์ ดินเหนียว ปูนปลาสเตอร์ หรือกาว รวมทั้งขี้เถ้าจะให้ความละเอียดของงานที่ดีกว่า

“การแกะสลักภาพผลงานของ ตูน บอดี้สแลม การแสดงออกถึงความดีความตั้งใจให้ได้เห็น โดยนำเงินบริจาคที่จะนำไปสร้างสาธารณประโยชน์มามอบให้โรงพยาบาล อีกทั้งยังทำให้เห็นว่าชีวิตเราอย่าหยุดนิ่ง ถ้าไม่หยุดนิ่งแล้วมันจะมีอะไรเข้ามาในชีวิตเราเยอะ โดยภาพผลงานชิ้นนี้ผมตั้งชื่อว่าภาพน้ำตาแห่งความสุขของคนที่ได้รับและคนที่ได้ให้ และสิ่งที่ตั้งใจไว้คืออยากให้ภาพนี้เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการ ก้าวคนละก้าว ของคุณตูน อาจจะเป็นยอดบริจาคเข้ามาหรือคุณตูน อาจจะเอาไปเก็บเป็นที่ระลึก ผมเห็นพี่ตูนเป็นหนึ่งในต้นแบบของผมในด้านของการดำเนินชีวิตที่ต้องก้าวไปอย่าหยุดนิ่ง” นายสุทน กล่าว