แบรนด์ ‘ยิ้มสู้’ ผลิตภัณฑ์ ‘คนพิการ’ เปลี่ยนภาระเป็น ‘พลัง’

จากบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ถูกน้อมนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตของผู้พิการ และล่าสุดกับการเปิดตัวแบรนด์ “ยิ้มสู้” ซึ่งจัดแถลงข่าว ณ ร้านกาแฟยิ้มสู้ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ซอยอรุณอมรินทร์ 39

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวว่า จากพระราชดำรัสในหลวง ร.9 ตอนหนึ่งว่า “งานช่วยคนพิการนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้พิการมิได้เป็นผู้อยากพิการ แต่อยากช่วยตนเอง ถ้าเราไม่สามารถช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไรเพื่อช่วยชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัว จะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้นนโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยให้เขาช่วยตนเองได้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม” ซึ่งตนได้น้อมนำมาเป็นวัตถุประสงค์ก่อตั้งมูลนิธิ ในการพัฒนาคนพิการตั้งแต่แรกเกิด และการให้คนพิการมีงานทำ โดยได้ขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมผ่านการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา

“ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เดือนกันยายน 2560 ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีคนพิการที่อยู่ในช่วงวัยทำงานคือ 16-60 ปี อยู่จำนวน 8 แสนกว่าคน ในจำนวนนี้แยกเป็นคนพิการที่มีงานทำแล้ว 2.7 แสนคน และยังไม่มีงานทำอีก 5 แสนกว่าคน เราจึงมองว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ได้เปลี่ยนจากภาระเป็นพลังอย่างยั่งยืน จึงจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพนี้ขึ้น เพื่อพัฒนาให้เขามีศักยภาพ มีอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และลุกขึ้นมาช่วยครอบครัวและสังคมต่อไป” ศ.วิริยะ กล่าว

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

ศูนย์ฝึกอาชีพได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้รับองค์ความรู้จากสถาบันอาหาร และขับเคลื่อนโดยมูลนิธิ โดยอบรมอาชีพให้คนพิการไปแล้ว 2 รุ่น จำนวน 260 คน ใน 3 อาชีพ ได้แก่ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เพาะเห็ดนางฟ้า และเลี้ยงจิ้งหรีด อีกทั้งได้ร่วมมือกับบริษัทซีพี ในการนำผลิตภัณฑ์ไปขายในห้างแม็คโครในเขตจังหวัดภาคเหนือ หรือเกษตรกรสามารถนำไปขายเองได้ตามตลาดชุมชน โดยจากผลการดำเนินงานปีแรกเป็นไปตามความคาดหวัง คนพิการมีทักษะ มีรายได้ ชีวิตเปลี่ยนจากหลังมือเป็นหน้ามือ

น.ส.รุ่งรวิภา โปธิวงค์ อายุ 33 ปี ชาว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการขับมอเตอร์ไซค์เมื่ออายุ 21 ปี ทำให้ต้องดามเหล็กที่ขาเคลื่อนไหวไม่สะดวก กล่าวว่า ช่วงแรกที่ประสบอุบัติเหตุ แทบไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อเลย เพราะจากที่เคยทำอะไรได้เอง ก็ต้องนอนให้แม่ดูแลอย่างเดียว เป็นภาระให้ท่าน

“โชคดีที่ได้กำลังใจที่ดีจากแม่และคนรอบตัว โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า ไม่ว่าลูกจะเป็นอะไร เกิดเป็นลูกแม่แล้ว แม่จะดูแลเอง ก็ทำให้เริ่มยอมรับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง”

หลังจากนั้นเธอก็เริ่มหางานทำด้วยการ “เย็บผ้า” หารายได้ แต่ก็ทำไม่ค่อยไหว เพราะนั่งไม่ได้นานก็ปวดขา กระทั่งได้เข้าไปฝึกอาชีพกับศูนย์ในรุ่นที่ 2 เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา

“ตลอดหลักสูตร 3 เดือน ได้เรียนรู้การปลูกผัก เพาะเห็ด และเลี้ยงจิ้งหรีด ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ อีกทั้งได้เรียนรู้เรื่องการตลาด การขาย การทำแพ็กเกจ ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นก็เริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริมของพ่อแม่ และเตรียมปลูกผักและเพาะเห็ดตามที่ได้ฝึกอบรมมาด้วย”

จากที่ชีวิตมืดมน แต่เมื่อเธอยิ้มสู้กับชะตาชีวิต ชีวิตของรุ่งรวิภาก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

“วันนี้ที่มีรายได้ ดิฉันรู้สึกมีความสุขมาก ขณะนี้ยังกลับมาเป็นพี่เลี้ยงในศูนย์ฝึกอบรม ยิ่งได้สอนก็ยิ่งมีความสุข ฝากถึงคนพิการว่าเราต้องมีดีสักอย่างแน่นอน หากยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและลองลุกขึ้นสู้” รุ่งรวิภา กล่าวด้วยสีหน้าภูมิใจ

รุ่งรวิภา โปธิวงค์

อีกหนึ่งผู้แข็งแกร่งยิ้มสู้ให้กับทุกอุปสรรคที่เข้ามา นายนิพนธ์ ตาซา อายุ 31 ปี ชาว อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้ฝึกอบรมอาชีพรุ่นที่ 1 และกลับไปประกอบอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดขายเป็นล่ำเป็นสัน จนมีรายได้ต่อเดือนสองหมื่นกว่าบาท กล่าวทั้งรอยยิ้มว่า ก่อนหน้านี้อยู่บ้านไม่ได้ทำอะไรเพราะมีพ่อคอยหาเลี้ยง กระทั่งพ่อมาเสียชีวิต เหลือตนกับแม่ที่สุขภาพไม่แข็งแรงทำงานหนักไม่ได้

“พอพ่อเสีย ผมก็เกิดความกดดันว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร กระทั่งโครงการได้มาเชิญชวนไปฝึกอบรม และออกมาลองทำเป็นอาชีพเสริม ปรากฏว่าจิ้งหรีดที่เลี้ยงอยู่ 4 บ่อปูนขายดีมาก ลำพังขายในตลาดชุมชนยังแทบไม่พอ” เขาว่าอย่างเปี่ยมสุข

นิพนธ์ตั้งใจจะขยายไปปลูกผักและเพาะเห็ดขายตามที่ได้เรียนมา เพื่อทำให้มีรายได้หมุนเวียนหลายทาง

“ศูนย์ฝึกแห่งนี้ไม่เพียงสอนทักษะอาชีพ แต่ปรับวิธีคิดให้ผมลุกขึ้นสู้ ซึ่งวันนี้ผมเหมือนมีชีวิตใหม่ เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จักและสนใจผม แต่วันนี้ผมเป็นที่รู้จัก เพราะทำหน้าที่แนะนำคนที่มาศึกษาดูงานเลี้ยงจิ้งหรีด จึงรู้สึกภูมิใจที่คนเล็กๆ คนหนึ่งได้มีโอกาสตรงนี้” นายนิพนธ์ กล่าว

นิพนธ์ ตาซา

มูลนิธิยังเตรียมเพิ่มฝึกวิชาชีพ ได้แก่ ปลูกข้าวและกล้วยที่กำลังมาแรง และเพื่อให้คนพิการก้าวเดินบนเส้นทางอาชีพอย่างยั่งยืน

ศ.วิริยะเชิญชวนคนไทยให้มาร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ยิ้มสู้ที่ช่วยคนพิการ อีกทั้งเตรียมหาลู่ทางขายในตลาดออนไลน์ และขยายตลาดส่งออกไปเมืองจีน อาจารย์วิริยะเชื่อว่า “รุ่งแน่นอน”

อีกหนึ่งแบรนด์ที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนจากภาระเป็นพลังอย่างยั่งยืน!