ก.วัฒนธรรม สั่งปรับปรุง MV เที่ยวไทยมีเฮ ให้เหมาะสม ชี้โขนเป็นศิลปะชั้นสูง

จากกระแสดราม่า มิวสิกวิดีโอ เที่ยวไทยมีเฮ ที่ใช้ทศกัณฐ์ มาเป็นตัวละครหลักดำเนินเรื่อง ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์) ออกมาให้เหตุผลว่า ไม่ได้ติดใจการพาทศกัณฐ์หรือนางในวรรณคดีไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แต่ติดใจที่ ทศกัณฐ์ ซึ่งถือว่าเป็นราชาแห่งยักษ์ทั้งปวง รวมถึงยังเป็นตัวละครในวรรณคดีที่สง่างาม น่าเกรงขาม ทำกิจกรรมไม่เหมาะ เช่น หยอดขนมครก, ขับโกคาร์ท, ถ่ายเซลฟี่, ขี่บั้งไฟ เป็นต้น จนเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนให้ระงับการฉายเอ็มวีดังกล่าวนั้น โดยมีทั้งความคิดเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด วธ. ทั้ง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) และผู้บริหาร วธ.เข้าร่วม หารือถึงกรณีดังกล่าว โดยมี นายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัด วธ. เป็นประธาน โดยใช้เวลาหารือ ร่วม 2 ชั่วโมง จากนั้น นายอภินันท์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระแสที่หลายคนกำลังติดตาม ซึ่งจากการประชุมได้ข้อสรุปว่า ให้พบกันครึ่งทาง และเห็นควรให้ปรับปรุงแก้ไขภาพ และเนื้อหาบางส่วนให้เหมาะสมมากขึ้น เพราะเชื่อว่าน่าจะออกมาดียิ่งขึ้น โดย วธ. จะเชิญ นายบัณฑิต ทองดี ผู้กำกับมิวสิกวีดิโอ ททท. และผู้รู้ จาก วธ. มาหารือกันว่ามิวสิกวีดิโอที่ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ควรปรับปรุงแก้ไขส่วนใดบ้าง

14745385221474538597l

นายอภินันท์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวคิดว่า เมื่อประชาชนได้ชมมิวสิกวีดิโอแล้ว น่าจะรู้สึกสนุกเพลิดเพลิน เพราะนำเสน่ห์ไทยมานำเสนอได้เป็นอย่างดีในเวลาเพียงแค่ 4 นาที แต่จากการหารือและได้รับทราบจากผู้รู้จากกรมศิลปากร และสบศ.นั้น ยังพบว่า มีบางฉากที่ไม่เหมาะสม เช่น ทศกัณฐ์ไปหยอดขนมครก ขับโกคาร์ท ถ่ายเซลฟี่ ขี่ม้าบนชายหาดหัวหิน เป็นต้น เพราะทศกัณฐ์ ถือว่าเป็นราชาแห่งยักษ์ และเป็นตัวละครในวรรณคดีที่สง่างาม น่าเกรงขาม ไม่ควรจับมาทำกิจกรรมเช่นนี้ อีกทั้งยังเห็นว่าโขนเป็นศิลปะชั้นสูง มีครูบาอาจารย์ ต้องมีความเคารพ แต่คนทั่วไปอาจมองว่าเป็นเรื่องวรรณกรรมจินตนาการ และคนรุ่นใหม่ก็อาจมองว่าทำไมถึงทำไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ได้หลบหลู่ ดูแค่เพลินๆ อมยิ้มไม่ได้ตลกขบขัน แต่เมื่อมีผู้รู้มองว่าการนำทศกันฐ์มาอยู่ในฉากควรจัดให้พอเหมาะพอควร และมีกาละเทศะ ขณะที่ ผู้ผลิตอาจมองว่าเป็นเรื่องร่วมสมัยและต่อยอดมรดกวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความน่าสนใจในเรื่องของโฆษณา ซึ่งจากการพูดคุยกับ นายบัณฑิต นอกรอบ ก็มีความยินดีที่จะแก้ไขให้ดีขึ้น

“เรื่องที่เกิดขึ้น เชื่อว่า ททท. ไม่คิดไปทำลายวัฒนธรรม แต่เป็นเจตนารมณ์ดีที่อยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่อาจไม่เข้าใจการนำศิลปวัฒนธรรมมาใช้ทั้งหมด ทั้งนี้คิดว่าเวลานี้เราต้องให้โอกาส ททท. และ คงไม่สามารถห้ามเผยแพร่มิวสิกวีดิโอนี้ได้ เพราะโลกดิจิทัลควบคุมค่อนข้างยาก แต่คงต้องเร่งให้มีการปรับปรุงโดยเร็ว และผมเน้นย้ำว่าภาครัฐควรต้องคุยกัน แต่ที่สำคัญภาคเอกชนที่เป็นบริษัทโฆษณาจะได้รับทราบถึง สิ่งที่ทำลงไปว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ อย่างไรก็ตามผมเห็นว่าในอนาคตควรมีการจัดทำคู่มือเกี่ยวกับการนำศิลปวัฒนธรรมไปใช้ในรูปแบบต่างๆ พร้อมโดยเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ เพราะบางเรื่องมีผู้ที่ไม่รู้ แต่ไม่รู้จะถามใคร และในอนาคตบริษัทโฆษณาหรือกระทรวงต่างๆที่จะทำมิวสิกวีดิโอลักษณะนี้สามารถที่จะมาขอหารือกับผู้รู้ของวธ.ได้ เพื่อจะได้ขับเคลื่อนร่วมกัน” ปลัด วธ. กล่าว

14745385221474538649l-1

นายอภินันท์ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 23 ก.ย.นี้ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดี สบศ. จะเชิญศิลปินแห่งชาติ ด้านโขน และนาฏศิลป์มาให้องค์ความรู้และข้อมูลด้านต่างๆขณะที่ วันที่ 29 ก.ย. นี้ สวธ.ก็จะเปิดเวที แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เน้นสื่อโฆษณาด้านศิลปวัฒนธรรม เพราะ วธ. กำลังทำเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ดิจิทัลไทยแลนด์ และสตาร์ทอัพ ล้วนเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่จะขับเคลื่อนด้วยกันในเรื่องท่องเที่ยวและ วัฒนธรรมที่ไปด้วยกันได้

นายธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดี สบศ.กล่าวว่า โขนเป็นมรดกของชาติ เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่สำคัญ มีจารีต มีขนบในการแสดง ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่ วธ. กรมศิลปากร หรือ สบศ.ไม่เห็นด้วยกับมิวสิกวีดิโอ ทั้งหมด แต่มีเพียงไม่กี่ตอนที่เป็นการแสดงโขน ที่เหลือเป็นอากัปกริยาของมนุษย์ โดยนำเครื่องแต่งกายโขนไปใช้เท่านั้น จึงอาจทำให้คนทั่วไปมองว่าโขนว่าเล่นอะไรก็ได้ รูปแบบจารีต และขนบที่แท้จริงก็จะหายไป ดังนั้นเรื่องนี้เหมือนดาบสองคม คือ เมื่อผู้ผลิตไม่มาปรึกษาหน่วยงานที่ดูแลมรดกของชาติอย่างเราทำให้โดนร้องเรียน แต่ในขณะเดียวกันมีการอ้างว่าได้ปรึกษาแต่ก็หาตัวคนนั้นไม่ได้ กล้าพูดหรือไม่ว่าปรึกษาใคร