พระอารมณ์ขัน ‘สมเด็จพระเทพฯ’ ประมวลภาพถ่ายฝีพระหัตถ์นิทรรศการ ‘กาวยประภา’

นับแต่พุทธศักราช 2550 เป็นต้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เพื่อนำมาจัดแสดงนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่นิทรรศการ “แสงคือสี สีคือแสง” ในปี 2550 สร้างความประทับใจในพระอัจฉริยภาพของพระองค์แก่พสกนิกรไทย ที่แต่ละภาพทรงบันทึกไว้ระหว่างเสด็จฯยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เปรียบเหมือนได้ตามรอยเสด็จฯพระองค์

จวบจนครั้งนี้ ถือเป็นปีที่ 11 และเป็นนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 10 แล้ว

ต้นคริสต์มาสแบบไทย วังสระปทุม

ในปี 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ 168 รูป ให้จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “กาวยประภา” หรือ Poetry of Light ภาพถ่ายที่สะท้อนให้เห็นสีที่ประกอบกันเป็นภาพที่มีความหมาย การนี้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ฯ พร้อมทรงบรรยายภาพที่ปรากฏในนิทรรศการด้วยพระองค์เอง ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ก่อนเสด็จฯไปทอดพระเนตรนิทรรศการที่ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า แสดงภาพมา 10 กว่าหน ก็ยังมีผู้ชมมาเชียร์อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ตั้งแต่เริ่มเตรียมงานมีผู้มาบ่นอ่านชื่อไม่ออก หรือจำไม่ได้ ซึ่งชื่องานนิทรรศการครั้งนี้คิดเป็นภาษาอังกฤษก่อน (Poetry of Light) ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ที่คิดชื่อเป็นภาษาไทย คำว่า กาวย เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง กวีผู้นำคำมาเรียงร้อยให้เป็นระเบียบ เกิดความสวยงาม ให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคล ก็ได้เขียนความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ไว้ในคำนำ

“อยากที่จะกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่มีนิทรรศการภาพฝีพระหัตถ์ในพระองค์อยู่ที่ตึกแห่งนี้ คนที่มาดูงานนี้ก็ขอเชิญให้ไปนิทรรศการภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่จัดแสดงเป็นครั้งแรกด้วย ได้นำหนังสือที่ประกอบงานเมื่อปีก่อนๆ ไปทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทอดพระเนตรแล้วก็มีพระราชกระแสว่า บางรูปถ่ายทำไม ไม่เข้าใจเหมือนกัน ก็คิดกันไปคนละอย่าง บางคนก็เห็นว่ารูปนี้น่าสนใจ บางคนก็งงว่าแบบนี้ถ่ายทำไม บางที่ก็ไม่ได้ตั้งใจถ่ายแต่บังเอิญถ่ายพอดี ออกมาเป็นรูปที่ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น แต่ทำให้เกิดความลึกลับดี จึงได้นำมาจัดแสดง” รับสั่งด้วยพระอารมณ์ขัน

ทั้งนี้ ทรงเลือกรูป “ฤาษีดัดตน วัดพระเชตุพน” เป็นภาพแรกที่ทรงนำมาบรรยาย โดยรับสั่งว่า นอกจากแก้โรคปวดเมื่อยแล้วยังแก้โรคต่างๆ ที่มีในร่างกายได้ เป็นท่าออกกำลังกาย กายภาพบำบัด แต่ว่าบางท่าที่มองเห็นตามตำรา ลองทำแล้วทำไม่ได้ทุกท่า บางท่าก็ทำได้ลำบาก ทำให้นึกถึงตอนที่ทำงานในโรงเรียนนายร้อย ก็จะมีกิจกรรมที่เรียกว่า ส่งเสริมสมรรถภาพกองทัพไทย นายสิบพลศึกษาได้สอนท่าที่ยากมาก

จากนั้นทรงเลือกดาราเก่าที่ทรงคิดว่าทุกคนคงจะจำกันได้ ในภาพ “บ๊อบบอกว่าเนื้อยเหนื่อย” พระองค์ตรัสว่า ตั้งชื่อว่าเนื้อยเหนื่อย เพราะส่งรูปไปให้ใครก็ถามว่าทำไมเขานั่งเศร้าๆ แบบนี้ พักหลังๆ แก่ โดนคลื่นลูกใหม่กัด จากการบาดเจ็บมากๆ หลายหนทำให้เป็นโรคประสาท ต้องส่งไปหาจิตแพทย์แมว ดูไม่ค่อยสบายแต่ชอบไปแสดงอาณาเขตที่นู่นที่นี่

บ๊อกบอกว่า เนื้อยเหนื่อย

ภาพ “งูเหลือมวังสระปทุม ตัวที่ 68 รู้สึกน้องใหม่จะชอบ” โดยทรงอธิบายว่าจะเป็นงูเหลือมหรืองูหลามก็ไม่แน่ใจ แต่ถ้าเปิดพจนานุกรมก็บอกว่า งูเหลือมเป็นงูที่คล้ายงูหลาม ส่วนงูหลามก็เป็นงูที่คล้ายงูเหลือม ความรู้เท่าเดิม แต่ก็มีคนอธิบายว่าดูลวดลายก็จะบอกได้ว่าเป็นงูเหลือมหรืองูหลาม และหลานสาว คุณใหม่ดูจะชอบงูมาก มาดูอย่างสนใจก็เลยถ่ายภาพไว้ด้วย

งูเหลือมวังสระปทุม ตัวที่ 68 รู้สึกน้องใหม่จะชอบ

รวมถึงภาพประจำนิทรรศการ ที่หลายคนคุ้นตาอย่างภาพของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ถ่ายภาพกับภาพของตนเองทุกๆ ปี โดยทรงให้ชื่อว่า “สัญญาว่าจะมาทุกปี” และรับสั่งว่า “ไม่แน่ใจว่าจะลงกินเนสส์บุ๊กได้หรือยัง วันนี้ก็ต้องขอถ่ายอีก เพื่อจะให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้เป็นรูปปู่เมธอยู่ในแปลงพริกปู่เมธ เดี๋ยวนี้พริกไม่ค่อยจะเผ็ด แต่ปู่เมธตัวจริงยังแข็งแกร่งอยู่”

สัญญาว่าจะมาทุกปี

หลังจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำผู้ชมไปสัมผัสกับโลกกว้าง จากสถานที่ต่างๆ เช่น สัตว์ในหมู่เกาะกาลาปากอส ทั้งภาพนกเพนกวินที่เขาว่าอยู่เหนือสุด อยู่กาลาปากอส และนกฟริเกตตัวผู้ ใต้คางมีถุงสีแดงสำหรับโชว์ความหล่อให้สาวๆ เลือก ที่แต่ละภาพสอดแทรกพระอารมณ์ขันไว้ในชื่อแต่ละภาพได้อย่างดี

นกฟริเกตตัวผู้ ใต้คางมีถุงสีแดง
นกเพนกวินที่เขาว่าอยู่เหนือสุด อยู่กาลาปากอส

หรือ “หลุมประตูนรก” ที่สาธารณรัฐเติร์กเมนิสถาน เป็นหลุมที่มีก๊าซธรรมชาติ นักธรณีวิทยาชาวรัสเซียเคยบอกว่าเมื่อมีไฟเผาจนมอดแล้วจะมีก๊าซธรรมชาติ แต่เวลาผ่านไป 46 ปี ไฟก็ยังไม่ดับลง จนปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เดินทางลำบากเพราะอยู่ในทะเลทรายคาราคุม

โดยทรงตรัสว่า “กลายเป็นทัวร์ทรหด ทรมานบันเทิงมาก”

หลุมประตูนรก

ในช่วงท้ายของการบรรยาย ทรงนำภาพงานพระเมรุมาศมาถ่ายทอดเรื่องราว อาทิ ภาพวิธานสถาปกศาลา หรือโรงขยายแบบที่พระองค์พระราชทานชื่อให้ใหม่หลังจากเจ้าหน้าที่ว่าชื่อไม่เพราะ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนชื่อใหม่แล้วก็ทำให้ปัญหานี้หมดไป รวมถึงโครงสร้างพระเมรุมาศ ที่ทรงให้ความรู้ว่าเหตุที่เป็นเหล็กและด้านนอกเป็นไม้ เพราะจะทำให้ทำได้เร็ว และต้องพยายามใช้วัสดุที่กันฝนได้

วิธานสถาปกศาลา
โครงสร้างพระเมรุมาศ

ภาพฉัตรดอกไม้กรองชั้นบนสุด ฝีมือของข้าพเจ้า ทรงบรรยายไว้ว่า “ภาพนี้ยินดีนำเสนอมากเพราะว่าเป็นฝีมือข้าพเจ้า แต่มีคนช่วยทำอุบะ ทำจากดอกรัก และดอกเข็มที่ทำจากผ้าตัดเป็นสี่เหลี่ยม ต้องค่อยๆ ร้อยทีละชั้น ติดดอกเข็มใช้กาวลาเท็กซ์ ติดไม้ติดมือเละไปหมด กว่าจะทำเสร็จใช้เวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง ทำไม่ได้ลุก ต้องทำให้เสร็จ”

ฉัตรดอกไม้กรองชั้นบนสุด ฝีมือของข้าพเจ้า

หรือภาพพระโกศจันทน์ ที่รับสั่งว่า “ของเก่าๆ เก็บไว้ ที่จริงต้องเผาไปในเวลาถวายพระเพลิง แต่ทูลขอท่านไว้ดูเล่น อยากจะให้ลูกหลานได้เห็นฝีมือรุ่นเก่าๆ”

กระทั่งรูป “คุณทองแดง และคุณโจโฉ” นั้น พระองค์รับสั่งว่า “ครั้งงานสมเด็จกรมหลวง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีสุนัขอยู่หลายตัว คิดว่าครั้งนี้สัก 2 ตัวก็พอ ทุกคนรู้จักคุณทองแดงแต่ที่คู่กับทองแดงมีคนมาถามเยอะ แม้แต่หลานสาวว่าโจโฉไม่รู้จัก เพราะเขาตายไปนานแล้ว เป็นหมาพันธุ์บ็อกเซอร์ ลูกของสุนัขที่ท่านเอามาจากสวิตเซอร์แลนด์ ทางเรือ เป็นหมาที่หน้าตาน่ากลัวแต่ทำตามคำสั่ง คาบไปป์ นั่งเก้าอี้ ดีดเปียโน ดูโน้ต ให้ทำอะไรทำหมดทุกอย่าง ตอนเล็กๆ ท่านบอกว่าลูกฉันทำอะไรไม่ได้ ก็จูงเดินลากไป เขาก็ได้แต่ถอนหายใจเฮือก แล้วก็ไม่ทำอะไร”

คุณทองแดง
คุณโจโฉ
ละมุนละไมอยู่ในเรือน จ้องมองใบตองอยู่นอกเรือน วังสระปทุม

ทั้งนี้ นิทรรศการจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมระหว่างวันที่ 12 ธันวาคม-4 มีนาคม 2561 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00-21.00 น. และมีการจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ กาวยประภา ในราคาเล่มละ 900 บาท ณ ห้องนิทรรศการชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร รายได้ทั้งหมดทูลเกล้าฯ ถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย