เกษตรกรตรังผุดนวัตกรรม “เจาะยาง” แทนกรีดยาง หวังเอาชนะดินฟ้าอากาศ เผยผลผลิตสูงกว่า 3 เท่า

เกษตรกรชาว ต.นาตาล่วง อ.เมืองตรัง นำนวัตกรรมการเจาะยาง มาใช้แทนการกรีดยาง ควบคู่กับการใช้ฮอร์โมน เพื่อแก้ปัญหาฝนตก หน้าเปียก ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 3 เท่า และมีรายได้แน่นอน

นายจิรโชติ จรูญศักดิ์ วัย 48 ปี หรือโกซึ้งน้ำยาง เกษตรกรหมู่ที่ 5 บ้านทุ่งควน ในเขตเทศบาลตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง ได้ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมการกรีดยางพารายุคใหม่ เพื่อเอาชนะปัญหาดินฟ้าอากาศ อันเนื่องมาจากสภาพฝนที่ตกชุกในพื้นที่ภาคใต้เกือบตลอดทั้งปี จนกรีดยางได้เดือนละไม่กี่วันเท่านั้น สร้างผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อมีการนำระบบปิดมาใช้กับสวนยาง ทำให้กรีดได้แม้วันฝนตก และหน้ายางเปียก หรือต้นเปียก รวมทั้งไม่ต้องรีบเร่งเก็บน้ำยาง เพราะถึงมีฝนตกลงมา ผลผลิตก็ไม่เสียหาย จึงสามารถกำหนดวันกรีด การเก็บ และรายได้ อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากประสบการณ์ในการใช้ฮอร์โมน หรือสารเอทิลีน มาช่วยควบคุมการหยดของน้ำยางเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ มานานถึง 15 ปี จากนั้น ล่าสุดได้พัฒนามาสู่วิธีการเจาะยางด้วยสว่านขนาด 5 มิลลิเมตร แทนการกรีดยางด้วยมีด พร้อมต่อสายยาง ขนาดความยาว 25 ซม. ไปยังจอกยางชนิดที่มีฝาปิด เพื่อกันน้ำกันฝน ทำให้น้ำยางไหลออกมาต้นโดยตรง และไม่ต้องสัมผัสหน้ายางเป็นบริเวณกว้างแบบการกรีด จึงมีรอยแผลเป็นรูเล็กๆ ขนาดตะเกียบ ทำให้สมานเนื้อได้เรียบและรวดเร็ว ส่วนเปลือกหรือหน้ายาง ก็ไม่เป็นร่องรอยขรุขระเหมือนการกรีด อีกทั้งยังให้ปริมาณผลผลิตที่สูงกว่าถึง 3 เท่า

โดยวิธีการเจาะยาง จะทำ 1 วัน หยุด 2 วัน หรือเก็บผลผลิตแค่เดือนละ 10 วัน เพื่อมิให้ต้นยางโทรม แถมยังทำงานสบาย เพราะไม่ต้องตื่นมากรีดยางตอนเช้ามืด เนื่องจากการเจาะยางจะทำในเวลา 4-5 โมงเย็น แต่ทั้งนี้การเจาะจะเหมาะสำหรับต้นยางที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป หรือมีสภาพสมบูรณ์เท่านั้น แต่ไม่ควรนำมาใช้กับต้นยางอ่อน หรือต้นยางแก่ใกล้โค่น เพราะมีเปลือกบาง อย่างไรก็ตาม แม้การเจาะจะมีต้นทุนประมาณต้นละ 80 บาท และต้องซื้อสว่านที่มีราคาตัวละ 850 บาท แต่ในระยะยาวถือว่าคุ้มค่า เพราะวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ใช้ได้ 4-5 ปี และทำงานได้ทุกวันที่ต้องการ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ (084) 1823-806