ข้อสังเกต-คำแนะนำ ลอตเตอรี่ รางวัลที่ 1 หาย!

กรณี ร.ต.ท.จรูญ วิมูล อดีตข้าราชการตำรวจ ที่ถูกนายปรีชา ใคร่ครวญ ข้าราชการครูใน จ.กาญจนบุรี แจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.เมืองกาญจนบุรี ว่าเป็นเจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาล รางวัลที่ 1 งวดประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ที่อดีตตำรวจนำสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวไปขึ้นเงินรางวัลกว่า 30 ล้านบาท เป็นประเด็นล่าสุดของคดีศึกชิงลอตเตอรี่รางวัลที่ 1

ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าใครเป็นเจ้าของลอตเตอรี่กันแน่ ยังต้องรอผลการสรุปคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นอกจากคดีล่าสุดแล้ว ก่อนหน้านี้มีอีก 4 คดีที่มีการแจ้งความดำเนินคดีในลักษณะคล้ายกัน

นั่นคือมีการอ้างความเป็นเจ้าของลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 และทางตำรวจกองบังคับการปราบปรามได้เข้าไปช่วยคลี่คลายคดี

ประกอบด้วย คดีที่ นายพันธุ์ศักดิ์ เสือชุมแสง อายุ 31 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ เข้าแจ้งความที่ สภ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2560 จำนวน 2 ใบ ถูกรางวัลที่ 1 เป็นเงิน 12 ล้านบาท หายไป

อ้างว่าถูกคนร้ายขโมยไปและได้ถูกนำไปขึ้นเงินรางวัลแล้ว โดยผู้ที่ขึ้นเงินรางวัลเป็นสามีภรรยาชาว จ.ร้อยเอ็ด เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา

คดี นางเรวดี หาแก้ว และ นางวิไลพร รัตนติสร้อย เดินทางเข้าพบ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น.ในขณะนั้น เพื่อร้องขอความเป็นธรรมในคดีที่ถูก นางสุดารัตน์ น้อยนิตย์ เพื่อนสนิทที่หุ้นซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล หมายเลข 066720 จำนวน 5 คู่ ที่ถูกรางวัลที่ 1 งวดประจำวันที่ 1 เมษายน 2559 รวมมูลค่า 30 ล้านบาท เชิดสลากหายไป และมีการแจ้งความไว้ที่ สน.ประเวศ เหตุเกิดเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

คดีที่นางเรวดี หาแก้ว ผู้เสียหายเดียวกับคดีที่ สน.ประเวศ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ 1 อีกราย ในพื้นที่ สภ.ดงเย็น จ.อุดรธานี เหตุเกิดเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

และคดีสุดท้าย น.ส.ประดับ จันทร์อ่วม แจ้งความลอตเตอรี่หายที่ สภ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี โดยมี น.ส.พรทิพย์ ปาลวงษ์ ไปขึ้นเงิน 6 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา

ศึกชิงลอตเตอรี่ที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นคดีความ พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ สั่งการให้กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ได้ให้ กก.5 บก.ป. ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี และพื้นที่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี กก.3 บก.ป. ตรวจสอบในพื้นที่ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ส่วน กก.1 บก.ป. ตรวจสอบในเขตประเวศ กทม. เพื่อคลี่คลายคดี

ล่าสุด สามารถปิดคดีที่ นายพันธุ์ศักดิ์ เสือชุมแสง อายุ 31 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ เข้าแจ้งความที่ สภ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2560 จำนวน 2 ใบ ถูกรางวัลที่ 1 เป็นเงิน 12 ล้านบาทถูกคนร้ายขโมยไป

ผลการตรวจสอบรหัสทางพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ ระบุชัดเจนว่าสลากเป็นของนายวิทยา ธนทรัพย์สิน และนางขวัญศิริ ธนทรัพย์สิน สองสามีภรรยาชาว อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

อย่างไรก็ดี พล.ต.ท.ฐิติราช มองว่า เชื่อว่าแต่ละคดีน่าจะมีเบื้องหลังที่ซับซ้อนและเป็นไปได้ที่อาจจะมีการวางแผนการกระทำความผิดอย่างเป็นขบวนการ จึงให้ บก.ป.สืบสวนหาข้อเท็จจริงในทุกคดีว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือไม่

หากพบว่าเข้าข่ายความผิดใดให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับฝ่ายนั้นทันที

ทั้งได้ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาฐานความผิดอย่างรอบคอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกคน โดยได้สั่งการให้นำทุกคดีมารวมกันและตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งหมดเป็นสำนวนในปี 2559-2560

เบื้องต้นพบว่า บางรายเข้าแจ้งความว่าเป็นเจ้าของลอตเตอรี่ถึง 2 พื้นที่

ตรงนี้ตั้งข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้ไหม คล้ายเป็นการสร้างเรื่องราว ตรงนี้เป็นเรื่องไม่ปกติ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าพิสูจน์ความจริง คาดว่าจะได้ความกระจ่างไม่เกิน 2 สัปดาห์

“ข้อแนะนำกรณีผู้ซื้อสลาก อยากให้ถ่ายรูปตั้งแต่ตอนซื้อ ถ่ายรูปคนขาย ถ่ายรูปสลากของตัวเองโดยให้ติดจุดสังเกต อาทิ นาฬิกาของเจ้าของสลาก เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ เชื่อว่าในปัจจุบันทุกคนมีโทรศัพท์มือถือใช้แล้ว จึงไม่น่าจะยากและก่อนออกรางวัลให้ถ่ายรูปอีกครั้ง รวมถึงเมื่อถูกรางวัลให้ถ่ายรูปไว้ในช่วงเวลา 16.00 น. ตรงนี้เป็นข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น เพียงแค่ถ่ายรูปวันซื้อสลากกับวันประกาศรางวัล ก็สามารถรักษาสิทธิของตัวเองเอาไว้ได้” ผบช.ก.เสนอแนะ

ในขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เห็นว่าการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของสลากที่สูญหายไปนั้นไม่ง่ายเพราะไม่ได้มีระบบการตรวจสอบย้อนหลังหรือแสดงความเป็นตัวตนทั้งคนซื้อและคนขาย ดังนั้น ผู้ที่ซื้อสลากควรถ่ายรูปสลากและทำการเซ็นชื่อ นามสกุลสลักหลังทุกครั้ง รวมทั้งหมั่นตรวจสอบว่าสลากยังอยู่หรือไม่

หากพบว่าสลากหายให้รีบแจ้งความลงบันทึกประจำวัน และประสานไปยังสำนักงานสลากทันที เพื่อให้ทำการอายัดรางวัลล่วงหน้า กรณีสลากที่หายถูกรางวัล

“ส่วนผู้ที่มีสลากรางวัลเมื่อถูกรางวัลควรไปแจ้งความลงบันทึกประจำไว้เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของรางวัลอีกครั้ง และเมื่อตำรวจพิสูจน์แล้วว่ามีการฉ้อโกงเกิดขึ้น ต้องมีการลงโทษอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการเลียนแบบแอบอ้างสลากที่ถูกรางวัลของคนอื่น ที่จริงอยากจะให้ขายสลากออนไลน์ด้วยซ้ำเพราะระบบจะมีการแสดงความเป็นเจ้าของสลากตั้งแต่จุดที่ซื้อคือหมายเลขบัตรประชาชนผู้ซื้อ ซึ่งไม่สามารถโกงกันได้”Ž นายธนวรรธน์กล่าว

ในยุคที่เงินทองหายากเช่นนี้บรรดาคอหวยควรต้องรู้วิธีป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดคดีฟ้องร้องแย่งชิงลอตเตอรี่ซ้ำรอยอีก