มาดูกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วงในปี’61 ชี้ไทยเข้าสู่ยุคไอทีดิจิตอลเต็มรูปแบบ

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงเกณฑ์การวัดและการสำรวจกลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง ดาวร่วง โดยใช้พิจารณาจากข้อมูลทุติยภูมิ ได้แก่ ข้อมูลด้านการนำเข้าและส่งออกสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ตารางปัจจัยการผลิต I-O Table ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย และประเทศคู่ค้าสำคัญ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์

ประกอบการกับข้อมูลปฐมภูมิจากการสำรวจของหอการค้าโพลล์ เช่น ผลการสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา ผลสำรวจสถานภาพธุรกิจไทย ผลสำรวจปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ นำมาประกอบการพิจารณาและให้คะแนน และสำหรับเกณฑ์ให้คะแนน หอการไทย จะให้คะแนน ดังนี้ ยอดขาย ต้นทุน ส่วนต่างของยอดขายต่อต้นทุน (กำไรสุทธิ) ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและภาวะการแข่งขัน และความต้องการ ความสอดคล้องกับกระแสนิยม รวม 100 คะแนน

โดยผลสำรวจ 10 อันดับธุรกิจเด่น ปี 2561 ว่า ลำดับที่ 1 ธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์( ผู้ให้บริหารโครงข่าย) คะแนนรวม 94.5 ลำดับ 2 ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม คะแนนรวม 93.6 ลำดับ 3 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คะแนนรวม 92.1 ลำดับ4 ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว คะแนนรวม 91.6 ลำดับ 5 มีสองธุรกิจคือ ธุรกิจด้านปิโตรเคมีและพลาสติก และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ คะแนนรวม 91.1 เท่ากัน ลำดับ 6 มีสามธุรกิจคือ ธุรกิจ โมเดิร์นเทรด ธุรกิจบริการด้านการเงิน ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม คะแนนรวม 90.4 เท่ากัน

ลำดับ 7 ธุรกิจร้านขายยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ คะแนนรวม 89.4 ลำดับ 8 มีสองธุรกิจคือ ธุรกิจด้านการศึกษา และธุรกิจเกี่ยวกับทางด้านการท่องเที่ยว คะแนนรวม 87.7 ลำดับ 9 มีสามธุรกิจคือ ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และบ้านเช่าหรือห้องเช่า ธุรกิจด้านความเชื่อ เช่น โหราศาสตร์ เครื่องราง ของขลัง คะแนนรวม 85.4 เท่ากัน และ ลำดับ10 มีสองธุรกิจคือ ธุรกิจวัสดุก่อสร้างและรับเหมา ธุรกิจร้านเสริมสวย ตัดผมแนวแฟชั่น คะแนนรวม 83.8 เท่ากัน

โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น ภาวะเศรษฐกิจในปี 61 มีทิศทางขยายตัวสูงขึ้นเกิน 4% ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น การลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขยายตัว กำลังซื้อของประชาชนฐานรากเพิ่มขึ้นตามมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐ การเลือกตั้งในประเทศทุกระบบ นโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การพัฒนาอินเตอร์เน็ตตำบล แนวโน้มระดับระดับราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนปัจจัยลบคือนโยบายเศรษฐกิจสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ความขัดแย้งและการก่อการร้าย ปัญหาหนี้สินครัวเรือน และหนี้เสียของธุรกิจขนาดกลางและย่อย ทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อเพิ่มขึ้น มาตรการการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว เป็นต้น

ขณะที่ธุรกิจดาวร่วง 10 ธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจหัตกรรม 2. ธุรกิจด้านการผลิตเหมืองแร่ 3. สื่อสิ่งพิมพ์นิตยสาร และสารสาร ธุรกิจการเช่าหนังสือ 4. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องเล่น DVD CD 5. ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายแผ่น CD DVD ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน 6. ธุรกิจเคเบิลทีวี 7. ธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตร ยาง ปาล์ม ข้าว 8. ธุรกิจร้านขายมือถือมือมือสอง 9. ธุรกิจร้านค้าดั้งเดิม และ 10. ธุรกิจร้านอินเตอร์เน็ต

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ในปี 2561 จะเป็นยุคไอทีดิจิตอล เต็มรูปแบบที่จะมีการนำเรื่องของระบบการค้า การประกอบธุรกิจ ก็จะนำเรื่องของเทคโนโลยี เข้ามามีส่วนสำคัญ การค้ารูปแบบ e-commerce ก็จะยิ่งได้รับความนิยม ขณะที่ธุรกิจกลุ่มอื่นก็จะยังดีต่อเนื่อง เช่น การท่องเที่ยว การก่อสร้าง ซึ่งหากไม่มีการปรับเปลี่ยนการประกอบธุรกิจให้ทันสมัยก็อาจจะลำบาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่ธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์ (ผู้ให้บริหารโครงข่าย) ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 1 แทนที่ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม ที่อยู่ในลำดับที่ 1 มาโดยตลอด บ่งบอกว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิตอลแล้ว ขณะที่ปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 4.2-4.5% ภาคการส่งออกขยายตัว 4.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 1.6%

 

ทีี่มา ข่าวสดออนไลน์