หาดูยากชุมชนบ้านเหนือ อ.บางระกำ ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำยมอนุรักษ์บ้านโบราณอายุ 100 ปี

ชุมชนบ้านเหนือ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีวิถีผูกพันกับสายน้ำยังคงมีบ้านไม้เก่าแก่โบราณหลังเหลืออยู่หลายหลัง อายุกว่า 100 ปี บางหลังเจ้าของบ้านก็อนุรักษ์ไว้อย่างดี เช่นบ้านหกเหลี่ยม หรือบ้านโบราณ เลขที่ 152 ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ของคุณลุงสณัฐ อำไพพงษ์ อายุ 75 ปี อดีตข้าราชการบำนาญ ที่อนุรักษ์บ้านไม้สักโบราณอายุ 130 ปี ย้ายจากริมฝั่งหนีน้ำท่วมมาได้อนุรักษ์ไว้อย่างดีและเปิดให้ชนรุ่นหลังได้ชมศึกษาความรู้ ซึ่งลุงสนณัฐ อำไพพงษ์เป็นรุ่นที่ 3 ที่สืบทอดมรดกบ้านโบราณหลังนี้มาจาก พ่อ โดยพ่อของลุงสณัฐได้รับบ้านโบราณหลังนี้มาจากปู่ ซึ่งเป็นคนจีนเดินทางมาค้าขายที่ประเทศไทยในสมัยก่อน โดยปลูกติดกับแม่น้ำยม เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรและล่องเรือค้าขาย ปัจจุบันได้มีเลื่อนตัวบ้านออกห่างจากตลิ่งถึง 40 เมตร เพราะได้รับผลกระทบจากตลิ่งพังทลายทุกปี และถูกน้ำท่วมสูงในฤดูน้ำหลาก แต่ยังคงสภาพสมบูรณ์

นอกจากนั้น ยังมีบ้านไม้เก่าแก่โบราณอีกหลายหลัง ในชุมชนบ้านเหนือ เป็นบ้านไม้รูปทรงเก่าแก่ ยุ้งฉางข้าว หลายหลังยังมีผู้อยู่อาศัย แต่สภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่เจ้าของบ้านยังคงรักษาดูแลไว้ได้อย่างดี

ยายอำนวย สถิตพานิช อายุ 76 ปี เจ้าของบ้านไม้เก่าแก่อายุ 109 ปี เลขที่ 215 ม.7 ต.บางระกำ เป็นหนึ่งในเจ้าของบ้านเก่า ที่เจ้าตัวดูแลรักษาบ้านได้อย่างดีมาก แม้ว่าจะผ่านฤดูกาลน้ำเหนือไหลหลากท่วมบ้านมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เรือนโบราณของคุณยายอำนวย มีการการดูแลรักษาที่ดีเยี่ยม โดยชุมชนบ้านเหนือเป็นชุมชนเก่าแก่ของอำเภอบางระกำ สมัย 100 ปีก่อน คนผูกผันกับการเดินทางและใช้ชีวิตคู่กับลำน้ำยม จึงยังเห็นบ้านเก่าแก่โบราณอายุ 100 ปีขึ้นไปหลงเหลืออยู่หลายหลัง ทั้งบ้านทรงหกเหลี่ยมที่อนุรักษ์ไว้อย่างดี รวมถึงบ้านของตน ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากแม่

บ้านหลังนี้เดิมเป็นเรือนแพมาก่อน ในแม่น้ำยมที่จ.สุโขทัย มีบันทึกไว้ว่า สร้างตั้งแต่พ.ศ.2451 สมัยพ่อและแม่ตนแต่งงานกัน พากันไปซื้อเรือนแพไม้สักหลังนี้ในราคา 1,250 บาท และนำมาเป็นเรือนหอในแม่น้ำยมที่ชุมชนบ้านเหนือ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และอยู่ใกล้เคียงกับที่ว่าการอำเภอบางระกำสมัยก่อน ต่อมาเรือนแพหลังนี้ขึ้นมาอยู่บนบก เมื่อ พ.ศ.2485 มาสร้างเป็นบ้านพัก ในอดีตพื้นที่ตรงนี้เต็มไปด้วยป่าระกำ ชาวบ้านจะตัดไม้ระกำมาเผาถ่านกัน ตนอาศัยบ้านหลังนี้มาตั้งแต่เกิด กระทั่งพ่อและแม่ตนเสียชีวิต พี่น้องต่างแยกย้ายเรือนไป ปัจจุบันอาศัยอยู่กับหลานสาว

ส่วนสภาพบ้านของยายอำนวยนั้น มองจากภายนอกจะยังคงเอกลักษณ์ของการสร้างบ้าน สร้างเรือนแพของคนยุคก่อน ที่จะใส่ลายละเอียดตัวรอบบ้านอย่างสวยงาม ด้วยไม้แกะสลักฉลุลาย ติดบนชายคา และเป็นผนังกั้น ตัวคานบ้านนั้นทำด้วยไม้สักแผ่นใหญ่มาก เมื่อย้ายจากแพขึ้นมาอยู่บนบก ได้ยกทั้งคานไม้ขึ้นมาประกอบกับเสาไม้ ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพเก่าแก่ด้วยถูกน้ำท่วมเป็นประจำ และมีเรือไม้เคียงคู่อยู่ใต้ถุนบ้าน ตามแบบฉบับดั้งเดิมคนคนบางระกำ

ภายในตัวบ้าน ยังรักษา อนุรักษ์ภายในบ้านไว้แบบดั้งเดิม พื้นที่ไม้สักแผ่นใหญ่ที่ถูกน้ำท่วมไปหมาดๆ มีการขัดจนคราบโคลนออกหมด ประตูไม้ ติดบานกระทกสีแบบโบราณ รวมถึงลายไม้แกะสลักประดับภายในตัวบ้านยังรักษาไว้อย่างดี

ยายอำนวย กล่าวว่า หมดรุ่นเราแล้วยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร คงต้องเป็นรุ่นหลานดูแลต่อไป เพราะลูกชายคนเดียวของตนเสียชีวิตไปแล้ว แต่คงลำบากหน่อย เพราะน้ำท่วมในระยะหลังๆ น้ำขังนาน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่น้ำที่ท่วม แต่เป็นเพียงน้ำท่วมแบบไหลผ่าน

นอกเหนือจากบ้านยายอำนวยที่มีอายุ 100 ปี ขึ้นไปแล้ว ยังมีบ้านอีกหนึ่งหลัง บ้านเลขที่ 211 อยู่ติดกับศาลเจ้าพ่อ บ้านหลังนี้ก็เป็นบ้านเก่าแก่ อายุ 100 ปีเช่นกัน สภาพบ้านพักแบบโบราณ ทำด้วยไม้ทั้งหลัง ข้างบ้านยังมียุ้งข้าวไม้เก่าอยู่ บันทึกร่องรอยของอดีตของเจ้าของบ้าน ที่เคยทำอาชีพค้าข้าวในสมัยก่อน แต่บ้านหลังนี้ ดูเก่าแก่และทรุดโทรมมาก เจ้าของบ้าน ได้ให้คนเก่าแก่ที่เคยอยู่มาก่อน ได้อยู่พักอาศัย เพื่อคอยดูแลแลไม่ให้ทรุมโทรมไปมากกว่านี้ หากปล่อยร้างเอาไว้เฉยๆคงจะพังไปหมดแล้ว

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์