ว่างงาน “4.5แสน” ขยับปรับตัว รับไทยแลนด์ 4.0?

จากข้อมูลคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุอัตราว่างงานไตรมาส 3 ปีนี้ อยู่ที่ 1.2% หรือมีผู้ว่างงาน 450,000 คน สูงเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 0.9% ถือว่าสูงกว่าเกณฑ์ปกติ 1% หรือ 400,000 คน และในข้อมูลระบุอีกว่าสิ่งที่ต้องจับตาคือ ผู้ประกอบการจะใช้เทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักร มาผลิตแทนกำลังคน รวมถึงภาคบริการ ค้าปลีกค้าส่ง หันซื้อขายออนไลน์แทน แม้แต่ภาคเกษตรก็เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคน เช่น ใช้โดรน ตรวจสอบพืชผล โปรยปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เป็นต้น

จึงก่อให้เกิดความวิตกถึงอนาคตแรงงานไทย!!!

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงตัวเลขการว่างงานในขณะนี้ว่า ตัวเลขการว่างงานต้องดู 2 ส่วน ส่วนแรกช่วงไตรมาส 3 ระดับอุดมศึกษาเพิ่งจบพร้อมๆ กันและอยู่ระหว่างการรองาน ต้องใช้เวลา ประกอบกับเป็นช่วงการเปลี่ยนถ่ายจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานหรือการให้บริการ อัตรารับคนใหม่อาจน้อยกว่าในอดีต

อีกส่วนคือแรงงานไม่ต้องการทักษะมาก เช่น รับเหมาก่อสร้าง ประมง หรือภาคเกษตร ไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ยังเป็นปัญหาขาดแคลนอยู่ จึงทำให้ตัวเลขไตรมาส 3 ค่อนข้างสูง

“มองว่าเป็นปัญหาระยะสั้น ยังไม่ถึงขั้นต้องกังวลมากนัก อัตราการว่างงานระดับ 1.2-1.3% มองว่ายังอยู่ในอัตราปกติ และเชื่อว่าตลาดแรงงานกำลังรอการจ้างงานใหม่ ตามเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว การส่งออก การลงทุน เริ่มมากขึ้น ปกติการจ้างงานจะกลับมาคึกคักอีกครั้งตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีหน้า แต่หากเลยไตรมาส 2 ลากถึงไตรมาส 3 ของปี การจ้างงานใหม่หรือทดแทนของเดิมยังไม่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณระยะยาวต่อปัญหาแรงงานไทยแล้ว เชื่อว่าโอกาสน่าจะน้อยตรงกันข้าม กลับวิตกในเรื่องไทยขาดแคลนแรงงานมากกว่า เป็นเรื่องที่น่ากลัวของไทย ตอนนี้หลายอุตสาหกรรมขาดแคลนคนอย่างหนัก เพราะที่ผ่านมามีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว แต่ตอนนี้แรงงานต่างด้าวลดลงมาก ขณะที่แรงงานไทยจะเลือกงานมากกว่าคนต่างด้าว และการเข้าสังคมสูงวัยของคนไทย ยิ่งลดทอนแรงงานฝีมือแรงงานทักษะ ดูได้จากสัญญาณที่กระทรวงการคลังออกมาตรการภาษีเพิ่มค่าลดหย่อนให้คนมีลูกมากขึ้น เรื่องนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคน น่าห่วงก็จริง แต่ก็ไม่ถึงกับเลิกการจ้างงาน เพียงปรับทักษะใช้เทคโนโลยีมากขึ้น” นายธนวรรธน์กล่าว

ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า “ยอมรับว่าอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น สาเหตุมาจากการใช้เครื่องจักรกลในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่การใช้ของภาคอุตสาหกรรมนั้นเป็นไปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้เครื่องจักร ส่วนหนึ่งเพราะไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคม

ผู้สูงอายุ ขณะนี้สัดส่วนผู้สูงอายุมีถึง 10% ของจำนวนประชากร 67 ล้านคน และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 20% ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมพร้อมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับคนในวัยแรงงงานลดลง เนื่องจากอัตราเกิดลดลง

นอกจากนี้ อัตราการว่างงานเกิดจากระบบการศึกษาของไทยไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ไทยยังเน้นส่งเสริมให้คนจบปริญญาตรี และมีการเรียนในสาขาที่ตลาดแรงงานไม่ต้องการ เช่น สายนิเทศศาสตร์ สิ่งพิมพ์ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานจบสายอาชีวะมากกว่า จึงทำให้ผู้จบการศึกษาไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและมีทักษะ เช่น วิศวะ ไอที เครื่องจักร

อยากให้เหมือนต่างประเทศที่ส่งเสริมเป็นเมืองอุตสาหกรรม เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น รัฐบาลสนับสนุนให้เรียนสายอาชีวะ เงินเดือนสายอาชีวะก็ไม่ได้ด้อยกว่าผู้จบปริญญาตรี บางสาขาผู้จบอาชีวะอาจได้เงินเดือนมากกว่าปริญญาตรีด้วย”

ดังนั้น แรงงานที่ยังตกงาน และเรียนมาไม่ตรงกับที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ หากอยากมีงานทำ ควรไปอบรม หรือเรียนเสริม ในสาขาตลาดต้องการ เพราะค่าจ้างพอๆ กับผู้จบปริญญาตรี

เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ มีการจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 500 บาท สูงกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจ้างกันอยู่วันละ 300-310 บาท นายเกรียงไกรกล่าว