ผลวิจัยชี้”แต่งงาน” ลดเสี่ยง”สมองเสื่อม”

(ภาพ-Alexas_Fotos via Pixabay)

ทีมผู้เชี่ยวชาญโรคสมองเสื่อม จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน ทำวิจัยโดยการนำเอางานศึกษาวิจัยก่อนหน้า 15 ชิ้นซึ่งมีข้อมูลที่ระบุถึงภาวะการเป็นโรคสมองเสื่อม (ดีเมนเชีย) และสถานะการแต่งงาน มาวิเคราะห์ใหม่ โดยการตรวจสอบข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับคนในกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยเหล่านั้นมากกว่า 800,000 คนในภาคพื้นยุโรป, อเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้ และเอเชีย ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า การแต่งงานมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมลงได้

ในรายงานผลการศึกษาวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการประสาทวิทยา, ศัลยกรรมประสาท และ จิตเวช ระบุว่า ผู้ที่ครองตัวเป็นโสดอยู่จนตลอดชีวิต มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม เพิ่มมากขึ้นถึง 42 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับกลุ่มที่แต่งงานและใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เป็นม่าย ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังโดยที่คู่สามีหรือภรรยาเสียชีวิต จะมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับผู้ที่แต่งงานและยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ในขณะที่คู่แต่งงานที่หย่าร้าง กลับไม่พบว่ามีความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ทีมวิจัยสรุปว่า ผลการวิเคราะห์วิจัยครั้งนี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่แสดงว่า ผู้ที่แต่งงานและใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ถูกสุขอนามัยมากกว่า ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับสังคมแวดล้อมมากกว่าผู้ที่ครองตัวเป็นโสด ทำให้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมลดลง ในขณะที่ผู้ที่ตกเป็นม่ายเพราะคู่แต่งงานเสียชีวิต จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมากขึ้นสืบเนื่องจากภาวะเครียดที่เกิดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก