ร้านกาแฟ “ชาบันดาร์” ร้อยปีของแหล่งปัญญาชน

Iraqis sit at the century old Shabandar café, one of Baghdad’s few remaining traditional cultural cafés, at al-Mutanabi street in the Iraqi capital on August 18, 2017. Since opening its doors a century ago, the establishment has become a hub of Baghdad's intellectual life, drawing poets and politicians to its wooden benches and photo-lined walls. / AFP PHOTO / AHMAD AL-RUBAYE

ร้านกาแฟ ชาบันดาร์ เป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้อย่างมั่นคง ในกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก และเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่าปัญญาชนในอิรักมาช้านาน

AFP PHOTO / AHMAD AL-RUBAYE

จนถึงวันนี้ ร้านกาแฟ ชาบันดาร์ มีอายุถึง 100 ปีแล้ว หากแต่ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางสำหรับเหล่าปัญญาชนที่จะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน มาร่ายกลอน และพูดคุยเรื่องการเมือง

ร้านชาบันดาร์ ผ่านร้อนผ่านหนาวกับอิรักมานาน ตั้งแต่สมัยที่อังกฤษปกครองอิรัก จนถึงอิรักได้อิสรภาพจากอังกฤษ การถูกปกครองโดยซัมดัม ฮุสเซน หลายสิบปี กระทั่งสหรัฐบุกอิรัก โค่นซัดดัม ฮุสเซนได้ และตามมาด้วยเหตุนองเลือดมากมายหลังจากนั้น

AFP PHOTO / AHMAD AL-RUBAYE

เรื่องราวต่างๆผ่านมามากมายที่ร้านกาแฟแห่งนี้

รวมไปถึงเหตุนองเลือดครั้งใหญ่ ที่คนร้ายก่อเหตุระเบิดรถยนต์ เมื่อปี ค.ศ.2007 บนถนนอัล-มูทานับบี ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านชาบันดาร์ และทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 100 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตครั้งนี้ เป็นลูกชาย 4 คน และหลานชาย 1 คน ของนายโมฮัมเหม็ด อัล-คาชาลี เจ้าของร้านชาบันดาร์คนปัจจุบัน

หากแต่คาชาลี ไม่ได้ต้องการจะถูกครอบงำด้วยความโศกเศร้าที่เกิดขึ้น และยังคงเดินหน้าทำธุรกิจร้านกาแฟต่อไป ยังคงมีเสียงแก้วชา และบทสนทนาภายในร้านกาแฟแห่งนี้จนถึงทุกวันนี้

แรกเริ่มเดิมทีที่ร้านกาแฟแห่งนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ.1917 เจ้าของร้านคือนายอับเดล อาจิด อัล-ชาบันดาร์ ก่อนที่คาชาลีจะเข้าไปซื้อกิจการต่อในปี 1963

ฝาผนังของร้านเต็มไปด้วยรูปถ่ายขาว-ดำ ที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของกรุงแบกแดด และของประเทศอิรัก รวมไปถึงสมุดบันทึกสีทอง ที่มีลายเซ็นของเอกอัครราชทูตต่างชาติหลายคนอยู่

อับเดล ฟัตตาห์ อัล-โนอีมี วัย 77 ปี บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เขามาที่ร้านชาบันดาร์นานถึง 60 ปีแล้ว โดยจะมานั่งตั้งแต่ 9 โมงเช้า ไปจนถึงบ่ายสองหรือบ่ายสาม เวลาเดียวกับที่ลูกค้าหมดไปจากร้าน และที่สำคัญคือ ร้านนี้ ไม่ได้จองไว้สำหรับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง ทุกคนสามารถมาที่นี่ได้

นอกจากนี้ โนอีมียังบอกด้วยว่า ที่ร้านชาบันดาร์ ก็เปรียบเสมือนกับโรงเรียน เพราะแม้ว่าอิรักจะมีรอยร้าวลึกจนทำให้สังคมแตกแยก

หากแต่ทุกคนที่นี่ยังคง “รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน”