ชมภาพชุด พระจันทร์เต็มดวงที่เจดีย์หลวงวัดราชบูรณะ จ.พิษณุโลก

เมื่อช่วงเวลา 18.20-18.30 น. วันที่ 3 ธันวาคม 2560 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 วันนี้วันพระ และเป็นอีกหนึ่งคืน ที่เกิดเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก หรือที่มักเรียกกันว่า ซูเปอร์ฟูลมูน ที่เจดีย์หลวง วัดราชบูรณะ อ.เมืองพิษณุโลก แลนด์มาร์คเด่นสง่าของจังหวัดพิษณุโลกริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ช่วงหัวค่ำ พระจันทร์เต็มดวงค่อย ๆ เคลื่อนตัวสูงขึ้นมา เมื่อมองจากแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกแลดูงดงามอย่างยิ่ง ประชาชนที่มาออกกำลังกาย นั่งพักผ่อนย่านร้านนมฝั่งศาลจังหวัด ต่างได้ชื่นชมกับพระจันทร์เต็มดวงที่เคลื่อนมาคู่กับเจดีย์หลวงวัดราชบูรณะ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยข้อมูลว่า ในคืนวันที่ 3 ธันวาคม 2560 นี้จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก หรือที่มักเรียกกันว่า ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่าง 357,973 กิโลเมตร ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงปกติ ประมาณ 6.3 เปอร์เซนต์ สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 17.50 น. โดยประมาณ ทางทิศตะวันออกเป็นต้นไป

โดยซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือดวงจันทร์เต็มดวงในตำแหน่งใกล้โลก ที่ทำให้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ สำหรับช่วงปกตินั้นดวงจันทร์จะมีระยะห่างเฉลี่ย 382,000 กิโลเมตร โดยเราให้คำกำจัดความของคำว่า Super Moon นั้นเมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 360,000 กิโลเมตรลงมา และ Micro Moon หรือดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 400,000 กิโลเมตรขึ้นไป

ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

จากการเก็บข้อมูลของนักดาราศาสตร์พบว่าการเกิดปรากฏการณ์ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) นั้นจะเกิดขึ้นทุกๆ ดวงจันทร์เต็มดวง 14 ครั้ง หรือประมาณ 411.8 วัน

สำหรับปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ในวันที่ 3 ธันวาคม 2560 นี้ นักดาราศาสตร์อาจจะยังไม่ประชาสัมพันธ์ข่าวนี้มากนัก เนื่องมาจากปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลก ตามคำกำจัดความของคำว่า Super Moon คือเมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 360,000 กิโลเมตรลงมา นั่นเอง “ซึ่งช่วงวันที่ 3 ธันวาคม 2560 นั้น ระยะห่างของดวงจันทร์เต็มดวง ยังไม่ใช้ช่วงที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี”

โดยการเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกมากที่สุด” จะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 2 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุด และครบรอบของการเกิดปรากฏการณ์ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon)

ขอบคุณที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)