อุปนิสัย 7 ประการของ “ธนินท์ เจียรวนนท์”

เชื่อกันว่ามี “DNA” แห่งความสำเร็จที่ฝังอยู่ในผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต หน้าที่ การงาน และส่วนตัว ซี่งหากเราสามารถ “ถอดรหัส” ออกมาและปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างได้ เราก็จะสามารถมีผลสำเร็จได้เช่นกัน

DNA ที่ว่านี้ หาใช่ยีนส์ หรือ รหัสพันธุกรรม ที่ติดตัวกันมาแต่กำเนิดแต่อย่างใด แต่คืออุปนิสัย ใจคอ ทัศนคติ ค่านิยม (Values) ที่คนๆนั้นเชื่อและยึดถือ  ดังเช่นที่สะท้อนอยู่ในหนังสือ  “7อุปนิสัย สำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง” (7 Habits of Highly Effective People) ของ สตีเฟน โควีย์ ที่ได้รับการตีพิมพ์และปฎิบัติตามจากคนหลายล้านคนทั่วโลก

สำหรับตัวอย่างในประเทศไทยนั้น หากเราจะลองถอดรหัสความสำเร็จของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร ฟอร์ปส จากสหรัฐอเมริกา ให้เป็นผู้มีความมั่งคั่งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของไทย  จะพบว่ามีอุปนิสัยอย่างน้อย 7  ประการของเขาที่อาจจะไม่ตรงกับของ สตีเฟน โควีย์ เสียทีเดียว แต่บุคคลทั่วไปอาจจะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อประสบความสำเร็จได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของคนไทยและเอเชีย ดังต่อไปนี้

1.ความกตัญญู

ความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณ เป็นคุณสมบัติอันประเสริฐที่ชาวจีนยึดถือมาก  ในรายงานพิเศษ “My Personal History” ของนิตยสาร Nikkei Asia Review  ลงตีพิมพ์เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2557 ระบุว่า เมื่อธนินท์มีโอกาสได้กลับเข้าไปประเทศจีนในปี พ.ศ.2522 เพื่อเข้าไปเจรจาธุรกิจที่กวางเจา หลังจากที่ไม่สามารถกลับเข้าไปจีนเป็นเวลากว่า 20 ปีเนื่องจากจีนปิดประเทศ เขาได้ฉวยโอกาสนั้นเดินทางไปซัวเถา เพื่อเยี่ยมเยียนนาง เฉิน ซือฟู่ ครูสมัยประถมของเขา และเมื่อทราบว่าครูต้องอาศัยอยู่ในห้องพักเล็กๆขนาดเพียง 6-7 ตารางเมตรเบียดเสียดกับสมาชิกอื่นๆในครอบครัวของท่าน เขาจึงยกบ้านหลังเก่าของเขาที่ซัวเถาให้ครูเป็นที่พักอาศัย และได้ซื้อห้องชุดให้ครูในเวลาต่อมา

นับจากนั้นมาธนินท์จะหาโอกาสมาเยี่ยมเยียนคารวะคุณครูผู้มีพระคุณของเขาทุกครั้งที่เขาเดินทางไปซัวเถา

ความกตัญญูของธนินท์ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ทิศเบื้องบนของท่าน อันได้แก่ พ่อ แม่บิดา มารดา และครูบาอาจารย์เท่านั้น แต่ยังเผื่อแผ่มาถึงลูกน้องและเพื่อนร่วมงานของท่าน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าที่ซีพี ผู้บริหารระดับอาวุโสที่ร่วมหัวจมท้ายกับท่านมาตั้งแต่ยุคแรกๆ จะได้ทำงานไปจนตลอดชีพ ไม่มีคำว่าเกษียณอายุ

2.การให้

ในบทความตอนหนึ่งของ Nikkei  ได้เปิดเผยถึงอุปนิสัยสำคัญที่ธนินท์ได้ซึมซับมาจากแม่ของเขา คือ “การให้” การชอบช่วยเหลือผู้อื่น และนึกถึงผู้อื่นอยู่เสมอ  ธนินท์มองว่าการให้เป็นพื้นฐานสำคัญของผู้บริหาร ผู้ซี่งจะต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเข้าใจผู้อื่น และให้โอกาสแก่เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือแม้กระทั่งลูกค้า

อย่างไรก็ตามธนินท์จะถือหลักการให้แบบยั่งยืน ที่สามารถช่วยให้ผู้รับสามารถพัฒนาและยืดหยัดขึ้นมาได้ด้วยตัวเองได้ในที่สุด มากกว่าการให้แบบให้เปล่าที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนา

3.เปิดใจกว้าง ชอบให้โอกาสคน

เพราะเคยได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ ให้ทำงานใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อย ธนินท์จึงมีอุปนิสัยชอบให้โอกาสคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ให้ได้มีโอกาสแสดงฝีมือและโชว์ผลงาน บางโครงการเขาไม่เห็นด้วย แต่เขาก็เปิดโอกาสให้มีการลองผิดลองถูก อาทิการเปิดร้านเบอร์เกอร์ ในโครงการเถ้าแก่น้อยอินเตอร์ของเครือฯ

คิดบวกเป็นคุณสมบัติของผู้ประกอบกิจการ (Entrepreneur) และผู้ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ในกรณีของธนินท์ นอกจากการมองโอกาสในวิกฤตอยู่เสมอแล้ว  ธุรกิจสำคัญๆที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เช่น 7-Eleven  หรือ แมคโคร เขาเอาเข้ามาบุกเบิกในประเทศไทย ตั้งแต่ยุคที่ไม่มีใครคิดว่ามันจะประสบความสำเร็จ แม้กระทั่งตัวฝรั่งเจ้าของแฟรนไชส์เอง

5.ขยันและเรียนรู้อยู่เสมอ

เรื่องความขยันของธนินท์เป็นที่รู้กันอยู่ ตั้งแต่สมัยเริ่มทำงานตอนอายุ 18 ปี ที่เขาจะขอติดรถบรรทุกขนส่งวัตถุดิบเพื่อเรียนรู้กระบวนการซื้อวัตถุดิบ การขนส่ง และขั้นตอนการผลิตของโรงงานทุกๆเช้า ก่อนที่จะเริ่มงานตอน 8 โมงเช้าทุกๆวันที่บริษัทของครอบครัว

  1. คิดแบบไร้พรมแดน (Global Mindset)

ธนินท์มักจะพูดอยู่เสมอว่าเขามองตลาด และวัตถุดิบทั้งโลกเป็นของซีพีและของทุกๆคน ที่ทุกคนสามารถแสวงหามาใช้ได้ตามความเหมาะสม  เพราะธุรกิจไม่ควรที่จำกัดตัวเองที่อยู่พรมแดนทางภูมิศาสตร์  แต่ควรที่จะแสวงหาสิ่งที่ดีมีคุณภาพ ราคาเหมาะสมมาใช้เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าอย่างเต็มที่

เบื้องลึก เบื้องหลังของความเป็นพลเมืองโลก (global citizen) ของธนินท์ในส่วนหนึ่งนั้น อาจจะมาจากชีวิตในวัยเยาว์ของเขาที่ต้องเปลี่ยนที่อยู่ ที่เรียนอยู่เป็นประจำ ที่ทำให้เขาคุ้นชินกับการปรับตัวเข้าสู่วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมใหม่ๆอยู่เสมอ (ธนินท์เข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนจีนในกรุงเทพ แล้วย้ายไปเรียนโรงเรียนประจำที่ รร.สารสิทธิ์พิทยาลัย จ.ราชบุรี ก่อนจะข้ามประเทศไปเรียนประถมที่ซัวเถา ซึ่งใช้ภาษาจีนแต้จิ๋ว จนถึงชั้นมัธยม 1 จึงย้ายไปเรียนที่กวางเจาซึ่งใช้ภาษากวางตุ้ง และอยู่ได้เพียงปีเดียวก็ต้องย้ายไปเรียนภาษาอังกฤษที่ฮ่องกง จนอายุ  17 ปีจึงกลับมาประเทศไทยเพื่อเริ่มทำงาน)

นอกจากนี้ต้องอย่าลืมว่า ซีพีเกิดขึ้นมาเป็นธุรกิจข้ามชาติตั้งแต่วันแรก ที่คุณพ่อกับคุณอาของธนินท์เริ่มกิจการในประเทศไทยในปี พ.ศ.2464 โดยเริ่มจากการทำกิจการในสองประเทศคือไทย และจีน  แล้วอาศัยเครือข่ายของคนจีนโพ้นทะเล ขยายธุรกิจไปประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน

  1. มองไปข้างหน้าเสมอ

สำหรับธนินท์แล้วขอบฟ้าคือที่สิ้นสุด เขาจะมองไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาโอกาสเสมอแม้ในยามวิกฤตที่สุด ไม่หยุดพัฒนา และหลงระเริงไปกับความสำเร็จในอดีต และปัจจุบัน

แต่จะว่าไปแล้วเรื่องบางอย่างเรารู้ หากการจะทำตามให้ได้ครบทุกข้อไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เป็นไม่ได้