ชาวนากาฬสินธุ์สุดทน ทำไปก็ไม่ได้กำไร จำใจขายที่ทิ้ง อัดนโยบายรบ.เอื้อแต่นายทุน

วันที่ 27 พ.ย. ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ แจ้งว่า ผลกระทบจากต้นทุนและราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำที่สุดขณะนี้ จากการสำรวจพื้นที่นาข้าว พบว่าชาวนาหลายรายในเขตตำบลลำพาน พากันติดป้ายขายที่นาของตนเอง เพราะประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก จากภาวะราคาข้าวเปลือกตกต่ำ โดยในปีฤดูกาลผลิต 2560/61 โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิที่ราคา ตันละ 10,800 บาท และข้าวเหนียวตันละ 6,000 บาท ตามค่าความชื้นในราคาซื้อจริงนั้น ทำให้ชาวนาขายข้าวได้หอมมะลิเพียงตันละ 7,000 บาท ถึง 8,000 บาท และข้าวเหนียวเฉลี่ยตันละ 4,000 บาท ถึง 5,000 บาท เท่านั้น

นายประหยัด มงคลพันธ์ อายุ 53 ปี ชาวนาบ้านตูม เลขที่ 53 หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ในอนาคตอาจจะต้องขายที่นา ซึ่งมีเพียง 13 ไร่ ให้กับนายทุน เพราะปัญหาการทำนา ค่าจ้างแรงงาน เฉพาะในช่วงเก็บเกี่ยวตกคนละ 350 บาท แต่จะหนักในราคาปุ๋ยต่อไร่ต้นทุนจะอยู่ที่ไร่ละ 3,500 บาท ถึง 5,000 บาท และสิ่งที่ทำให้ชาวนาต้องเป็นหนี้สิน ธ.ก.ส. ก็มาจากความจำเป็นที่จะต้องหยิบยืมเงินธนาคาร และทำการหมุนเวียนไปในแต่ละปี ชาวนาไม่สามารถจะยืนด้วยขาของตนเองได้ เพราะไม่มีรัฐบาลชุดไหนไปจำกัดราคาในเรื่องของปุ๋ยและเครื่องมือทางการเกษตร แต่กลับเน้นในรูปแบบการส่งเสริมให้ชาวนาเป็นหนี้ จึงทำให้ขณะนี้เพื่อนบ้านหลายครอบครัวต้องเลิกอาชีพชาวนาและมีการติดป้ายประกาศขายที่ดิน เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ ธ.ก.ส.และหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะตนเองซึ่งในอนาคตหากเศรษฐกิจยังตกต่ำนั้น ก็คงต้องขายที่นาผืนสุดท้ายเพื่อไปใช้หนี้และหันไปทำอาชีพรับจ้างอย่างแน่นอน

สำหรับปัญหานี้ จึงต้องการให้รัฐบาล หามาตรการช่วยเหลือชาวนาไทยอย่างจริงจัง เพราะการกระทำตามนโยบาย เกษตร 4.0 เป็นการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อการซื้อขาย แต่ในข้อเท็จจริงนโยบายดังกล่าวไปเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบัตรกดเงินคนจน ก็ถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ร้านค้ารายเล็กซึ่งเป็นของชุมชนปิดตัว เพราะเงินไม่ได้อยู่ในพื้นที่แต่กลับไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจ ที่เชื่อว่าทุกคนก็รู้เรื่องนี้แต่รัฐบาลก็ยังปล่อยให้เกิดขึ้น