สดจากไร่! คุยกับผู้ก่อตั้ง “ฟาร์มโตะ” เรียลลิตี้ขายสินค้าเกษตร จองซื้อตั้งเเต่ปลูกยันเก็บเกี่ยว

หากจะซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเเบบไม่ต้องไปถึงหน้าห้าง หรือเดินตลาดให้วุ่นวาย เพียงเเค่คลิกเดียว ก็สามารถจับจองเป็นเจ้าของสินค้าตั้งเเต่หน้าฟาร์ม ทั้งยังได้ราคาที่เป็นธรรม ผลิตภัณฑ์สดใหม่ ผู้ผลิตกับผู้บริโภคติดต่อกันได้ง่ายขึ้น คงเป็นอีกทางเลือกที่ดีเเละตอบโจทย์ผู้คนในปัจจุบันได้ เป็นที่มาให้เกิดการสร้างเเพลทฟอร์มที่ชื่อว่า “ฟาร์มโตะ”

@ฟาร์มโตะคืออะไร

“พี่โต อาทิตย์ จันทร์นนทชัย” ผู้ร่วมก่อตั้งฟาร์มโตะ เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ฟังว่า เเนวทางของฟาร์มโตะ (FarmTo) คือการเชื่อมเกษตรกรเเละผู้บริโภคเข้าด้วยกัน เป็นช่องทางการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ที่เชื่อมเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากัน ผ่านวิธีการ “ร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตการเกษตร” เพื่อให้ทั้งคู่ได้ช่วยเหลือและดูแลผลผลิตไปด้วยกัน หากผู้บริโภคต้องการเดินทางมาเยี่ยมชมผลผลิตก็สามารถเช็คพิกัดพื้นที่การเพาะปลูกได้จากในระบบเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะจัดส่งผลผลิต ให้ผู้บริโภคตามที่อยู่ที่ได้ลงทะเบียนและบางชนิดสินค้าเกษตรจะมีการนัดรับผลผลิตบริเวณพื้นที่การเพาะปลูก

“ฟาร์มโตะยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ตั้งราคาขายผลผลิตด้วยตัวเองเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้สิน และราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้เกษตรกรได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้ที่จะสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองในอนาคต ส่วนผู้บริโภค ก็จะได้ความมั่นใจในคุณภาพที่สดใหม่เพราะร่วมดูแลและเห็นการเจริญเติบโตไปจนถึงได้รับผลผลิต ฟาร์มโตะเชื่อว่าการรับรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเพาะปลูกให้แก่กันจะทำให้คุณค่าผลผลิตที่ได้รับเพิ่มสูงขึ้น เพราะไม่ใช่แค่รสชาติที่อร่อยสดใหม่ แต่มันคือมิตรภาพที่ส่งผ่านจากหัวใจของเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค” พี่โต เริ่มต้นเล่า

“เดิมทีจะใช้ชื่อว่า “ฟาร์มโต” ตามชื่อเล่นเเต่เกรงว่าหากต้องไปติดต่อเกษตรกรทั่วประเทศ อาจมีการเข้าใจผิดว่าเป็นฟาร์มของพวกเรา เลยคิดชื่อน่ารักๆ ให้เป็นมิตรกับเกษตรกร ลงเอยด้วยชื่อ “ฟาร์มโตะ” ซึ่งมีผู้ก่อตั้งทั้งหมด 3 คน โดยผมคือเกษตรกรวันหยุด ทำเเค่เสาร์-อาทิตย์ เป็น Young Smart farmer ที่ปทุมธานี เเละทำงานประจำวันจันทร์-ศุกร์ จึงร่วมกับเพื่อนที่มีความรู้เรื่องประชาสัมพันธ์ การตลาด เเละเพื่อนอีกคนที่รู้เรื่องเเอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ เทคโนโลยี โดยต้องการนำทั้ง 3 ส่วนจากสามคนมาทำเป็นโครงการ ซึ่งขณะนี้ฟาร์มโตะยังได้น้องๆ ที่อาสาสมัครเข้ามาร่วมด้วย คาดหวังว่าอนาคตจะสามารถจ้างงานประจำพวกเขาเหล่านี้ได้ เมื่อเราอยู่ได้ การช่วยเหลือจะเป็นไปอย่างยั่งยืน”

ย้อนกลับไป 2 ปีตอนเริ่มโครงการ กลุ่มผู้ก่อตั้งฟาร์มโตะถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนเลิกงานเเล้วรวมตัวกัน เกษตรกรอาจมองว่ายังเด็ก ซึ่งจุดเริ่มต้นจริงๆ คือการคิดที่จะทำโมเดลบางอย่างเกี่ยวกับการเกษตร เพื่อเเก้ปัญหาในเรื่องผลผลิตอินทรีย์ในปัจจุบันที่มีน้อย ช่องทางการขายยังไม่กว้างมากนัก อีกทั้งยังไม่สามารถตั้งราคาขายได้เอง จึงนำโครงการฟาร์มโตะเข้าประกวดในหลายโครงการซึ่งล่าสุดก็ได้รับรางวัลจากบ้านปู เมื่อมีรางวัลการันตี เกษตรกรก็เริ่มสนใจ ผู้คนข้างนอกอยากเข้าร่วมด้วยมากขึ้น

@โมเดลฟาร์มโตะ ความท้าทายของเกษตรกรรุ่นใหม่

หน้าที่หลักของฟาร์มโตะ คือการทำโมเดลให้เกษตรกรเปิดพื้นที่ของตัวเองให้กับผู้บริโภคได้ร่วมจับจองพื้นที่เพาะปลูก (กรณีผู้บริโภคจองผลิตภัณฑ์ตั้งเเต่ต้นเล็กๆ) ผู้บริโภคจะได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพ สดใหม่ ราคาหน้าฟาร์ม ส่งตรงถึงมือ ในส่วนของการดำเนินงาน “พี่โต” เล่าด้วยสีหน้ายิ้มเเย้มว่า ฟาร์มโตะจะเชื่อมโยงเกษตรกรเเละผู้บริโภคเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมเป็นเจ้าของ อย่างเเรก เกษตรกรจะติดต่อเข้ามาผ่านทางหน้าเว็บไซต์ (หน้าเว็บไซต์จะมีกล่องข้อความติดต่อ) เเละบอกกับเราว่าพวกเขาเพาะปลูกอะไร จากนั้นจะมีการสอบถามข้อมูลในเบื้องต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่อยู่ในฟาร์มโตะล้วนเป็นสินค้าอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์

“เมื่อเกษตรกรติดต่อเข้ามา เราต้องถามเขาว่าเขาเพาะปลูกอะไร บางรายยังไม่เป็นเกษตรอินทรีย์ เเต่อยากริเริ่ม ก็จะมีการทำความเข้าใจกันก่อน ผมจะถามกลับไปถึงผลผลิตย้อนหลัง 3 ปี เพื่อนำมาคำนวนว่าผลผลิตหลังจากนี้จะได้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าขาดเเคลน”

โมเดลของฟาร์มโตะคือการลงพื้นที่ พูดคุยกับเกษตรกร ตรงนี้ต้องเจรจาถึงยอดขาย หากทางฟาร์มโตะขายให้ได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ เกษตรกรจะยอมรับหรือไม่ พวกเขาจะอยู่ต่อได้ไหม นี่คือเรื่องท้าทาย

ช่องทางติดต่อ เกษตรกรที่อยากเข้าร่วม

@เปิดพื้นที่ช่องทางการขาย เน้นเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์

“เมื่อตกลงกันได้เเล้วทางฟาร์มโตะ จะอัดคลิปวิดีโอเเละตัดต่อเพื่อนำกลับมาโปรโมทให้กับเกษตรกรผ่านทางหน้าเว็บไซต์ ผู้บริโภคสามารถเข้ามาเลือกผลิตภัณฑ์ตั้งเเต่ยังไม่ขึ้นต้นได้เลย เมื่อมีการจองเกษตรกรจะทำป้ายมาไว้ที่หน้าเเปลง เพื่อเเสดงว่าพื้นที่ตรงนี้มีลูกค้าจองเเล้ว ผู้บริโภคสามารถร่วมปลูก หรือมาเก็บเกี่ยวด้วยได้ 1 ครั้ง หากเป็นสินค้าที่จองกันตั้งเเต่ปลูกเเรกๆ เกษตรกรจะถ่ายภาพเเละส่งให้ผู้บริโภคดูทุกๆ เดือน ซึ่งตรงนี้

“พี่โต” อธิบายว่า เกษตรกรที่จะเข้าร่วมกับฟาร์มโตะต้องมีพื้นฐานในเรื่องการใช้สมาร์ทโฟนร่วมด้วย เพื่อสามารถถ่ายภาพอัพเดทผลิตภัณฑ์ได้ เเต่ในเบื้องต้นเกษตรกรบางรายยังไม่เข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี

หากมีผู้จองผลิตภัณฑ์เเล้ว ฟาร์มโตะจะโอนเงินครึ่งเเรกไปให้กับเกษตรกรเพื่อใช้หมุนเวียนในการเพาะปลูก หากผลิตภัณฑ์ถึงมือลูกค้า จะโอนเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดไปให้ ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินเเน่นอน ทั้งยังตั้งราคาสินค้าได้เอง ส่วนใหญ่เป็นราคาหน้าฟาร์ม การจัดส่งสินค้า เกษตรกรสามารถส่งตรงถึงมือผู้บริโภคได้เองเลย เนื่องจากมีการคิดค้นวิธีการจัดส่ง ศึกษากับผู้เชี่ยวชาญเเล้ว

พี่โตอธิบายต่อว่า ข้อดีของฟาร์มโตะคือ ผู้บริโภคจะได้สินค้าที่ใหม่ เป็นผลผลิตอินทรีย์ รู้ว่าปลูกอย่างไร ราคาเป็นธรรม ซึ่งตอนนี้ไม่ได้เน้นเพียงผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งที่ปลูก เเต่เกษตรกรที่ไม่เข้าใจ ไม่มีช่องทางการขาย ตรงนี้ฟาร์มโตะก็เป็นอีกช่องทางที่จะเข้าช่วยเหลือ

“ขณะนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย เเม่ฮ่องสอน ตลอดระยะเวลาที่เปิดโครงการมา มีเกษตรกรกว่า 3,000 รายที่สมัครเข้าร่วม เเละมีเเผนพัฒนาเว็บไซต์คาดว่า เกษตรกรจะเข้าร่วมเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 ราย รวมถึงยังมีการเชื่อมโยงกับ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ อีกกว่า 1,500 ราย ส่วนฝั่งผู้บริโภคในปีที่เเล้วอยู่ที่ 100 ราย เเต่ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 500 ราย เเม้จะยังมีไม่มากเท่าจำนวนเกษตรกร เเต่ก็จะพยายามทำให้ผู้บริโภคเข้าใจมากขึ้น คาดว่าอนาคตตัวเลขผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นเเน่นอน” ผู้ก่อตั้งฟาร์มโตะ เล่าขณะพาเราชมตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากหาร์มโตะ

เกษตรกรต้องปลูกอินทรีย์อย่างเดียวเลยหรือ? พี่โตอธิบายว่า ในฟาร์มโตะมีโปรดักต์สินค้าทั้งหมด 15 รายการ ซึ่งเกษตรกรเเต่ละรายอาจมีสินค้ามากกว่า 1 โปรดักต์ เเละสินค้า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดล้วนเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น โดยฟาร์มโตะจะเเนะนำให้เกษตรกรปลูกตามหลักในหลวงร.9 คือการปลูกแบบบันได 9 ขั้นเพื่อนำไปสู่ความพอเพียง “ปลูกของที่กิน กินของที่ปลูก” เมื่อปลูกอะไรก็ตามเหลือค่อยเอามาขาย จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างยั่งยืน

โปรดักสินค้าในฟาร์มโตะ

@เเปรรูป หาความต่าง สร้างมูลค่าเพิ่ม!

พี่โตเล่าต่อว่า เกษตรกรปลูกผลิตภัณฑ์เหมือนกัน เเละขายกันอย่างเดียว รายได้ก็เท่าเดิม “ฟาร์มโตะ” จุดประกายไอเดีย ต่อยอดด้วยการเเปรรูป หาความต่าง สร้างมูลค่าเพิ่ม! เพื่อให้เกิดความต้องการในท้องตลาด ในส่วนนี้ต้องมองก่อนว่าเราจะไปขายกับใคร เเปรรูปเเละสร้างจุดขายอย่างไร ให้มูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น เเละลงไปพูดคุยกับชุมชนว่าหากเเปรรูปแบบนี้พวกเขาเห็นด้วยหรือไม่ นำมาซึ่งการเเปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ซึ่งทางฟาร์มโตะจะเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาเเละเเปรรูป จนขณะนี้มีสินค้าเเปรรูปแล้ว 15 โปรดัก อาทิ ชุดผลิตภัณฑ์เเปรรูปจากนมเเพะ น้ำตาลน้ำอ้อย โดยได้ผลตอบรับดีจากผู้บริโภค

เมื่อมีการเเปรรูปก็ต้องมีคนเข้าช่วย “พี่ติ๊ก-ปารณีย์ จิรัสย์จินดา” หนึ่งในอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการเเปรรูปผลิตภัณฑ์ในล็อตต่อไป ที่จะออกในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมปีนี้ ว่า การเข้ามาทำงานในฟาร์มโตะจะช่วยเสริมในเรื่องของการเเปรรูป บรรจุภัณฑ์ ด้วยการติดต่อกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ สถาบัน มหาวิทยาลัย รวมถึงสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (IFRPD) ให้เชื่อมโยงกับเกษตรกร เพื่อร่วมกันศึกษา เเปรรูปให้ผลผลิตคงคุณค่ามากที่สุด พร้อมทั้งเน้นในเรื่องของการเพิ่มมูลค่า พัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

การเริ่มงานของพี่ติ๊กในฟาร์มโตะ คือการเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกร ตามขั้นตอนการทำงานของฟาร์มโตะที่มีอยู่เเล้ว พร้อมนำเสนอ เเลกเปลี่ยนความคิดในเรื่องของกการเเปรรูปสินค้า หากเกษตรกรเห็นด้วยเเละมองไปทิศทางเดียวกัน ก็จะนำไปพัฒนาต่อ เเต่หากเกษตรกรยังไม่เห็นด้วยต้องมีการปรับปรุงเเก้ไขร่วมกัน โดยส่วนนี้จะเชื่อมโยงองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่เกษตรกร ชุมชน เพื่อให้พวกเขาทำงานต่อไปได้เอง

พี่โต อาทิตย์ จันทร์นนทชัย (ซ้าย) / พี่ติ๊ก-ปารณีย์ จิรัสย์จินดา (ขวา)

“เราเข้ามาทำงานตรงนี้ได้ไม่นาน ต้องค่อยๆ เชื่อมโยงองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรให้มากที่สุด ต้องมาดูกันว่าเเต่ละชุมชนขาดเครื่องมืออะไรหรือเปล่าในการเเปรรูป และเพิ่มคุณภาพของสินค้าในเชิงสุขภาพให้มีมากขึ้น จุดประสงค์ที่ยั่งยืนของเราคือการให้ชาวบ้านพัฒนาต่อไปได้เอง เราจะช่วยดูในเรื่องการออกเเบบ โปรโมทให้กับเกษตรกร เเละทำให้ผู้คนรู้จักฟาร์มโตะมากยิ่งขึ้น” ปารณีย์ กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ในอนาคต ไม่เพียงเเค่เว็บไซต์ฟาร์มโตะเท่านั้น ยังมีการพัฒนาต่อยอดไปยังเเอพพลิชั่นที่คาดว่าจะเปิดใช้งานกลางปีหน้า โดยเเอพพลิเคชั่นจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเล่าเรื่องราวความรู้ให้เกษตรกรรายอื่น เป็นพื้นที่ให้เกษตรเข้ามาขายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังบริหารจัดการโดยใช้คนจำนวนไม่มากได้

ทาง “ฟาร์มโตะ” ยังคาดหวังว่า จะสามารถเข้าร่วมกับเกษตร ทำงานกับชุมชนมากขึ้น เเละขยายในวงกว้าง อีกทั้งยังอยากให้เกษตรกรหันมาปลูกเกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด

เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคเข้าด้วยกัน ไม่เพียงเเค่เพิ่มช่องทางการขาย ยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า การเเปรรูปผลิตภัณฑ์ เเละยังช่วยพัฒนาเกษตรกร ยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาอีกด้วย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์