BEM เผยถอดเก้าอี้รถไฟฟ้าใต้ดินเป็นช่วงทดลอง รอ รฟม.เคาะ ถอดทั้ง 19 ขบวน ธ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่บริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเตาปูน-หัวลำโพง ได้ทดลองถอดที่นั่งผู้โดยสารแถวกลางในขบวนรถไฟฟ้าออก จำนวน 1 ขบวน เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในขบวนรถไฟฟ้า และทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้มากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุดเวลา 07.15 น. ของวันที่ 23 พ.ย.2560 นายรณชิต แย้มสอาด ที่ปรึกษา รักษาการรองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท BEM ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่สถานีเตาปูน จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ซึ่งมีผู้ใช้บริการในช่วงเร่งด่วนจำนวนมาก

นายรณชิต กล่าวว่า สาเหตุที่ BEM ถอดเก้าอี้ผู้โดยสารออก เนื่องจากต้องการระบายผู้โดยสารตกค้างภายในสถานีที่เข้าคิวรอใช้บริการจำนวนมากในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งวิธีการนี้เป็นมาตรการสุดท้ายที่บริษัทนำมาแก้ปัญหา ระหว่างรอรถขบวนใหม่ที่สั่งซื้อ จำนวน 35 ขบวนจะมาถึงประเทศไทยโดยเครื่องบินภายในปลายปี 2561 จำนวน 1 ขบวน จะนำมาใช้บริการประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย.2562 ส่วนที่เหลือจะทยอยมาจนครบปลายปี 2562

“ทาง BEM พิจารณาดีแล้ว ก่อนจะตัดสินใจใช้วิธีการนี้ จากก่อนหน้านี้มีปรับรูปแบบการเดินรถให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มมาตรการและความถี่ด้านการบำรุงรักษา ให้ความรู้ และรณรงค์การโดยสารรถไฟฟ้าที่ถูกต้องรวดเร็ว ปลอดภัย จัดแคมเปญส่งเสริมสำหรับผู้โดยสารที่ปรับเวลามาใช้บริการเช้าขึ้นก่อนเวลา 07.00 น. รวมถึงปรับปรุงห้องโดยสารในขบวนรถไฟฟ้าโดยถอดที่นั่ง จำนวน 14 ที่นั่ง แต่ได้เพิ่มราวจับอีก 32 ห่วง เพื่อให้ผู้โดยสารได้ใช้ยึด ยังคงเหลือที่นั่งสำหรับผู้โดยสาร เช่น ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ภิกษุสงฆ์ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้ 10% หรือประมาณ 90 คน/ขบวน จากเดิมจุได้ 800 คน/ขบวน เป็น 890 คน/ขบวน”

ทั้งนี้สำหรับการปรับปรุงห้องโดยสารในขบวนรถไฟฟ้าโดยถอดที่นั่งบางส่วนและเพิ่มราวจับนั้น เป็นการทดลองดำเนินการ หลังจากนี้จะมีการประเมินผลอีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นเดือน ธ.ค.นี้ หากผลประเมินเป็นที่น่าพอใจจะเริ่มดำเนินการถอดเก้าอี้ที่นั่งผู้โดยสารทั้ง 19 ขบวน ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป

ด้านนายสมบัติ กล่าวว่า การถอดเก้าอี้ผู้โดยสารเพื่อเพิ่มพื้นที่ความจุนี้เป็นวิธีการที่ทั่วโลกใช้กัน เพื่อแก้ปัญหาการให้บริการรถไฟฟ้า หลังมีผู้โดยสารจำนวนมาก ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหลังมีการเชื่อมต่อกับสายสีม่วงอย่างสมบูรณ์ ทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10% ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 350,000 เที่ยวคน/วัน ซึ่งในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็นจะมีผู้โดยสารตกค้างสถานีจำนวนมาก เนื่องจากต้องรอรถ ซึ่งพบว่าจะต้องรอถึง 3 ขบวนกว่าจะได้ใช้บริการ และหากบริษัทไม่ใช้วิธีการนี้ จะทำให้สามารถเพิ่มความถี่ของรถได้เร็วขึ้น เป็นไม่เกิน 1 ขบวน

“หากผลประเมินสรุปออกมาเป็นที่น่าพอใจเราก็จะถอดเก้าอี้ของ 19 ขบวน เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ผู้โดยสาร คาดว่าปีหน้าจะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 5% อยู่ที่ 370,000 เที่ยวคน/วัน”

ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม “ศิริรัตน์ ปัญญา” พนักงานบริษัทหลักทรัพย์ ผู้โดยสารที่มาใช้บริการเพื่อไปทำงานย่านสวนลุมพินี ระบุว่า เห็นด้วย เพราะทำให้เพิ่มพื้นที่ให้คนได้เข้าไปใช้บริการ เนื่องจากช่วงเช้าคนจะใช้บริการแน่นทุกสถานี และส่วนใหญ่จะไม่ได้นั่งอยู่แล้ว

“บริษัทไม่ได้ถอดทั้งหมด แค่บางส่วน และมีที่จับให้ ปกติเวลาคนแน่นก็แทบจะไม่ได้นั่งอยู่แล้ว และการเดินทางก็ใช้เวลาไม่มาก ดูแล้วไม่น่าจะมีผลกระทบเท่าไหร่ แต่อยากฝากให้พิจารณาเรื่องค่าโดยสารมากกว่า ให้อยู่ในระดับที่พอดี”

เช่นเดียวกับ “ถิ” เด็กหนุ่มที่อยู่อาศัยอยู่จรัญสนิทวงศ์ ที่มาใช้บริการรถไฟใต้ดินเพื่อไปทำงานที่ย่านพหลโยธิน กล่าวว่า ใจจริงอยากให้เพิ่มขบวนรถมากกว่า แต่เมื่อต้องใช้เวลาสั่งผลิตนาน ก็เห็นด้วยที่บริษัทเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย เนื่องจากช่วงเช้าและเย็นจะมีคนใช้บริการหนาแน่นมาก