‘กิมหยง’ พร้อมเปิดตัว ตลาด ‘ไร้เงินสด’ ตั้งเป้าจังหวัดละแห่งในปีนี้

การก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเริ่มไปอีกขั้น ล่าสุด คุณสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดไอเดียถนนไร้เงินสด ตลาดไร้เงินสดเพื่อผลักดันให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) หรืออีเพย์เมนต์

ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ จะเปิดตลาดไร้เงินสด ที่ตลาดกิมหยงŽ อ.หาดใหญ่ ใน จ.สงขลา เพิ่มอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตรงกับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะไปสัญจรพอดี

ตลาดไร้เงินสดเปิดตัวอย่างเป็นทางการแห่งแรกที่ตลาดสามชุก ระหว่างการประชุม ครม.สัญจร จ.สุพรรณบุรี-พระนครศรีอยุธยา เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นต้นแบบของตลาดที่รับชำระเงินด้วยระบบ คิวอาร์โค้ด (QR Code) และหากเป็นร้านใหญ่ๆ ที่ติดตั้งเครื่องอีดีซี สามารถนำบัตรเดบิตมารูดจ่ายค่าสินค้าและบริการได้ด้วย

คุณกุลยา ตันติเตมิทŽ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลเรื่องตลาดไร้เงินสดว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายเรื่องนี้มาเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยมีธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เป็นหน่วยงานผลักดัน ทั้ง 2 ธนาคารจะสนับสนุนการใช้คิวอาร์โค้ดและไปติดตั้งเครื่องอีดีซี กับแม่ค้าพ่อค้า ในตลาดต่างๆ

ล่าสุด ดำเนินการเรื่องตลาดไร้เงินสดไปแล้ว 60 จังหวัด และตั้งเป้าหมายภายในปีนี้จะมีให้ครบ 76 จังหวัด ส่วนปีหน้าให้ขยายในจังหวัดใหญ่เพิ่มมากกว่า 1 แห่ง

นอกจากธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสินแล้ว ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เริ่มสนับสนุนสังคมไร้เงินสด เช่น สามารถจ่ายเงินกับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถรับจ้างต่างๆ ร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ด้วยคิวอาร์โค้ดได้ คาดว่าปีหน้าจะขยายได้มากขึ้น เพราะเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้ 5 แบงก์คือ กรุงไทย กรุงเทพ ออมสิน กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ เปิดบริการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดได้ทั่วประเทศ จากเดิมเป็นเพียงการทดลองใช้แค่ตลาดใดตลาดหนึ่งเท่านั้น

สิ่งที่กระทรวงการคลังอยากเห็นในระยะต่อไปคือประชาชนเริ่มลดการใช้เงินสดลง มีการใช้คิวอาร์โค้ดในตลาดสด หรือแม้กระทั่งการบริจาคเงินเข้าวัด เหมือนในประเทศจีน

ผลดีของการลดใช้เงินสด คือช่วยประเทศ และธนาคารประหยัดต้นทุนการบริหารเงินสด พ่อค้า แม่ค้า ได้รับความสะดวกไม่ต้องเสียเวลาเอาเงินไปเข้าธนาคาร ไม่ต้องมานับแบงก์ และช่วยป้องกันการถูกปล้น ถูกขโมย ส่วนผู้ใช้สะดวกไม่ต้องไปหาตู้เอทีเอ็ม ไม่ต้องพกเงินสดมากๆ เพียงแต่มีโมบายแบงกิ้งก็สามารถจ่ายเงินได้ทันทีตั้งแต่บาทแรก และสามารถจ่ายเงินค่าสินค้าจากคิวอาร์โค้ดข้ามธนาคารในวงเงินไม่เงิน 5,000 บาท ไม่เสียค่าธรรมเนียม ถ้าเกินกว่านี้ค่าธรรมเนียมจะเหมือนกับอีเพย์เมนต์ซึ่งก็ต่ำมาก เช่น 5,000-30,000 บาท ค่าธรรมเนียมเพียง 2 บาท

“กระทรวงการคลังทดลองใช้คิวอาร์โค้ดจ่ายเงินที่โรงอาหารของกระทรวง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี พบว่ามีการใช้คิวอาร์โค้ดจ่ายเงินค่าอาหาร ของหวาน และน้ำดื่ม กว่า 50% ของผู้ใช้บริการในแต่ละวัน ส่วนตลาดอื่นๆ ที่ดำเนินการไปนั้นยังไม่ได้ประเมินผล เพราะเพิ่งเริ่มไม่นานŽ” คุณกุลยา สรุป

สำหรับตลาดกิมหยง ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ชื่อดังของภาคใต้ และเป็นตลาดเก่าแก่ของชาวหาดใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีสินค้าหลากหลายชนิด ทั้งสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าที่ระลึก ทำให้กระทรวงการคลัง โดยคลังจังหวัดสงขลา เลือกเป็นตลาดนำร่องในโครงการตลาดไร้เงินสดแห่งแรกของจังหวัดสงขลา มีกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ ท่ามกลางร้านค้าที่พร้อมให้บริการในโครงการกว่า 100 แห่ง จากทั้งหมด 200 แห่ง

ปัจจุบัน ได้รับการติดตั้งระบบคิวอาร์โค้ด สำหรับใช้ซื้อขายโดยไม่ต้องจ่ายเงินสดเรียบร้อยแล้ว โดยร้านที่เข้าร่วมโครงการจะติดแสดงชัดเจนว่า ร้านค้าแห่งนี้สามารถใช้จ่ายด้วยระบบคิวอาร์โค้ด

ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ร้านค้าในโครงการเริ่มให้บริการลูกค้าด้วยระบบคิวอาร์โค้ดแล้ว แม่ค้าหลายรายพอใจกับการใช้ แต่พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่เลือกจ่ายเงินสด เนื่องจากยังไม่ทราบว่าสามารถชำระด้วยระบบคิวอาร์โค้ดได้ รวมทั้งยังไม่ทราบระบบคิวอาร์โค้ด พร้อมส่งเสียงสะท้อนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทราบอย่างแพร่หลาย

นางเฉลียว แซ่มลิ่ม แม่ค้าในตลาดกิมหยง บอกว่า รู้สึกพอใจกับการที่ไม่ต้องใช้เงินสดจ่ายเงิน ซึ่งธนาคารมาติดตั้งระบบที่ร้านแล้ว แต่ยังไม่มีลูกค้ามาใช้บริการมากนัก ทั้งที่มีการติดแผ่นป้าย และคิวอาร์โค้ดเพื่อประชาสัมพันธ์ไว้หน้าร้านแล้ว

“ฉันมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แม่ค้าจะได้รับเงินทันทีผ่านบัญชี ซึ่งจะมีข้อความส่งเข้ามาว่าการซื้อขายอันเสร็จสิ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่ลูกค้า พ่อค้าแม่ค้าต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ โดยส่วนตัวพร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และเชื่อว่า ไม่ว่าจะใช้เงินสด หรือจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด มีค่าเท่ากัน คือ ขายสินค้าได้ และได้เงิน ส่วนจะมีผลทำให้การค้าขายดีขึ้นนั้นหรือไม่ ฉันมองว่าไม่เกี่ยว เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพอใจกันทั้งสองฝ่าย อยู่ที่ราคา รวมถึงเศรษฐกิจด้วยŽ” นางเฉลียว กล่าว

น.ส.มาริสา หวังเบ็ญหมัด แม่ค้าขายขนมของขบเคี้ยว บอกว่า ชอบใจที่ใช้ระบบนี้ในตลาด เพราะก่อนหน้านี้มีลูกค้าหลายรายถามถึงเครื่องรูดบัตร และระบบไม่ต้องใช้เงิน คาดว่าเมื่อมีระบบดังกล่าวแล้ว น่าจะทำให้ลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น แต่คงไม่ได้ขายดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่ถือเป็นทางเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่พกเงินสดมาก เมื่อมาพบเจอสินค้า จะมีความต้องการซื้อมากขึ้น การมีระบบคิวอาร์โค้ด มีส่วนทำให้แม่ค้า มีช่องทางการมีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น

นางมัลลิกา อัพภาสกิจ คลังจังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดระบบสำหรับให้ร้านค้า ลูกค้า และธนาคาร สามารถใช้ระบบคิวอาร์โค้ดในการใช้จ่ายเงินได้แล้ว มี 3 จุดใหญ่ที่เริ่มใช้ระบบคิวอาร์โค้ด คือ ที่ตลาดกิมหยง จุดที่สอง โรงอาหารกลางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมืองสงขลา และตลาดเกษตร ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เบื้องต้นคาดว่าเริ่มต้นจะมีร้านค้า 200 ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการตลาดไร้เงินสด และถนนไร้เงินสด

ขณะนี้มีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 100 ร้านค้าจากการประเมินเบื้องต้น ประมาณ 1 สัปดาห์ที่เริ่มใช้นั้น ปรากฏว่าอาจมีข้อจำกัดเรื่องประชาชนที่อาจยังไม่คุ้นเคย ซึ่งกระทรวงการคลังมีความพยายามในการประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง ส่วนฝั่งแม่ค้าได้รับเงินทันทีผ่านเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งจะมีข้อความส่งมา ซึ่งภาพรวมนั้นได้รับความสนใจ พ่อค้าแม่ค้าชอบ เพราะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำธุรกรรม พ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่ปรับตัวได้ ตามแผนที่ทำเอาไว้ จะเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมให้มากที่สุด ในย่านท่องเที่ยว ร้านค้าที่มีชื่อเสียง ร้านขายของฝาก ตั้งคิวอาร์โค้ดให้ครอบคลุม ตลาดประชารัฐ

เป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด