ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“สมคิด” เปิดแผนจัมป์ ศก.ปี”61 ดัน GDP ทะลุ 5% ระดม “คลัง-ธ.ก.ส.-พาณิชย์-ททท.” ออกมาตรการพิเศษอุ้ม SME-คนจน 11.4 ล้านคน อัดฉีดเงินตรงเข้ากระเป๋า จ้างผลิตสินค้าเกษตรป้อนร้านธงฟ้า ดันแบงก์ออมสินหนุนสินเชื่อผู้มีรายได้น้อยท..าธุรกิจแฟรนไชส์ จีบ Lazada-JD.com เปิดตลาดการค้าชุมชนปลดล็อกงบฯท้องถิ่น 2 แสนล้าน จ้างงาน-บูมแหล่งท่องเที่ยว เร่งสุดตัวประมูล 4 โครงการยักษ์ EEC
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนาแห่งปี THAILAND 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปี 2018 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ยุครุ่งเรือง โดยต้องฉวยโอกาสจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รับประโยชน์จากการเคลื่อนความมั่งคั่งสู่เอเชีย จะต้องสร้างพื้นฐานดัชนีเศรษฐกิจมหภาคทุกตัวให้แข็งแกร่ง และขับเคลื่อนการลงทุน-มาตรการทุกด้านอย่างรวดเร็ว
GDP ปีนี้แตะ 4 ปีหน้าทะลุ 5
นายสมคิดกล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) โตต่ำเพียง 0.8% แต่ปัจจุบันคาดว่า GDP ทั้งปีจะขยายตัว 3.8% โดยภาพที่จะเกิดขึ้นปีหน้า ผลจาก GDP ไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ ขยายตัวเติบโตถึงจุดหนึ่งจะเป็นสปริงบอร์ดที่ดีที่สุดให้ไปถึงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ในปี 2561 อย่างน้อยที่สุดหาก GDP ในปีนี้แตะ 4% และรักษาเสถียรภาพให้มั่นคง จะทำให้ในปีหน้า GDP ต้องไปถึง 4-5% เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันประคับประคอง เชื่อว่าปีหน้าฟ้าจะสดใสกว่าปีนี้
จากผลการจัดอันดับทางเศรษฐกิจของหลายองค์กรระหว่างประเทศไทยดีขึ้นเป็นลำดับ อาทิ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขัน (IMD) และ Doing Business 2018 ของธนาคารโลก แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมหภาคไม่แพ้ประเทศใด ขณะที่ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นทุกปัจจัย ทำให้เกิดความกล้าที่จะบริโภคและลงทุน
ดัชนีเศรษฐกิจมหภาคขาขึ้น
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ดัชนีเศรษฐกิจมหภาคทุกตัวกำลังดีขึ้น เช่น การส่งออกเริ่มทะยานสู่ขาขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศ เชื่อมั่นว่าความพยายามของรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายระหว่างประเทศตลอด 1 ปี จากการโรดโชว์เศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น จีน จะส่งผลให้อีก 2 ประเทศมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไต้หวันและฮ่องกง ซึ่งตัดสินใจตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง หรือ ETO ในไทยแทนเวียดนาม ดัชนีการท่องเที่ยว หากสามารถผลักดันขยายไปสู่ชุมชนและเมืองรองได้ พร้อมกับการขยายสนามบินเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จะทำให้เม็ดเงินหมุนลงไปสู่ชนบท
ทั้งนี้ ได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่า ในปี 2561 จะต้องทำให้เศรษฐกิจฐานราก ประชาชนในชนบทมีเงินหมุน มีงานทำ โดยเฉพาะเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตร โดยจะปลดล็อกงบประมาณท้องถิ่นราว 2 แสนล้านบาท ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำเงินไปทำโครงการพัฒนาท้องถิ่น ให้เกิดการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน วิสาหกิจชุมชนและดูแลผู้สูงอายุ
“ปีหน้าจะลงไปขันนอต นำเงินไปสู่รากหญ้าให้มาก เพื่อให้เศรษฐกิจข้างล่างขับเคลื่อนต่อไป ได้สั่งการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำโครงการเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เสริม ผ่านฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการจ้างปลูกพืชผลให้เป็นไปตามความต้องการตลาด ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง จ่ายค่าจ้างในการปลูกพืชในที่ดินของตัวเอง เช่น กล้วยหอม มะพร้าว และนำสินค้าไปจำหน่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านค้าโมเดิร์นเทรด เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก” นายสมคิดกล่าว
ดึง Lazada-JD.com เข้าชุมชน
นอกจากนี้ต้องการเห็นการค้าขายออนไลน์ผ่านระบบอีคอมเมิร์ซในชุมชน โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบ หากภาครัฐไม่ทำจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนดำเนินการแทน เช่น Lazada และ JD.com และสั่งการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดึงนักท่องเที่ยว งบประมาณไปในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังคิดมาตรการแก้ไขความยากจน โดยให้เริ่มต้นดำเนินการทันทีในต้นปี 2561 เสริมด้วยการลงทุนอย่างรวดเร็ว (move fast) แบบก้าวกระโดด ต้องเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 4 โครงการ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง โครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้ได้ภายในไตรมาส 2 ของปีหน้า
“ปีหน้าทั้งปีจะเห็นความพยายามของรัฐบาลลงไปขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ให้ออกมาให้ได้ เพื่อให้เป็นฐานแห่งอนาคต ซึ่งไม่ว่าใครจะมาหรือใครจะไปทางการเมือง สิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานให้อยู่ต่อไป”
e-Payment ส่งเงินถึงชุมชน
นายสมคิดกล่าวว่า ในปีหน้าอินเทอร์เน็ตจะครบทุกหมู่บ้าน เป้าหมายทุกโรงเรียน โรงพยาบาล เพื่อให้พื้นที่ห่างไกลได้รับข้อมูลข่าวสาร เข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะนโยบาย National e-Payment เป็นระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นตัวปฏิวัติการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน อนาคตการสื่อสารผ่านออนไลน์ทั้งหมด ธุรกิจใหม่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ฟินเทค ร้านค้าโชห่วยจะเป็น outlet ของการค้าขายสินค้าท้องถิ่น งบประมาณไม่ต้องผ่านกระทรวง แต่ให้ยิงตรงเข้ากระเป๋าประชาชนได้ทันที
เร่งเชื่อมบิ๊กดาต้าเครดิตบูโร-สธ.
ด้านนายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เปิดเผยว่า งานที่ได้รับมอบหมายให้เร่งดำเนินงานในปี 2561 คือการเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กับฐานข้อมูลของผู้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11 ล้านคน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของคุณสมบัติให้ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากเครดิตบูโรจะมีฐานข้อมูลทั้งบัญชีเงินฝาก บัตรเครดิตและสินเชื่อของสถาบันการเงินต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็จะเชื่อมต่อกับข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าช่วยวางแผนการให้บริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมต่อไป
ดึง ธ.ก.ส.ต่อยอดประชารัฐ
ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าไม่ใช่เฉพาะสินค้าชุมชนเท่านั้น แต่ขยายถึงพืชผลทางการเกษตรและเกษตรแปรรูปด้วย แนวทางดำเนินการจากเดิม ธ.ก.ส.มีโครงการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกร และให้ค่าจ้างปลูก เช่น เดือนละ 2,000 บาท (แทนค่าด้วย X) เมื่อได้เมล็ดพันธุ์มา ธ.ก.ส.จะนำไปขาย เมื่อได้เงินมา (แทนค่าด้วย Y) จำนำค่า Y-X เหลือเท่าไร คือ กำไร (แทนค่าด้วย Z) จะแบ่งกันระหว่างเกษตรกรกับ ธ.ก.ส.
อย่างไรก็ตาม เดิม ธ.ก.ส.จะไปขายกันเอง แต่ต่อไปกระทรวงพาณิชย์จะดึงพืชเกษตรนี้มาเชื่อมโยงกับตลาดกลาง และจะรื้อตลาดกลางสินค้าเกษตรชุมชนปรับปรุงขึ้นมาใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากตามเป้าหมายของรัฐบาล
โจทย์ใหญ่ช่วยให้หายจน
ส่วนประชาชนที่ใช้บัตรสวัสดิการซึ่งมีจำนวน 11.4 ล้านคนจะถูกฟรีซไว้ 1 ปี จนกว่าจะมีการขึ้นทะเบียนใหม่ปี 2562 ซึ่งรัฐบาลมีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้พ้นความยากจน ไม่ได้เอาเงินมาแจก แต่กำลังจัดทำโปรเจ็กต์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น โครงการต่อยอดสร้างรายได้จากธุรกิจแฟรนไชส์ โดยให้คัดเลือกว่ามีแฟรนไชส์ที่ดี ๆ อะไรบ้าง ใครสนใจเรียนรู้อะไร อยากขายอะไรมาอบรม เชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์)จะให้สินเชื่อรายย่อย 20,000-30,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน หรือหากต้องใช้หลักประกันก็จะมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รองรับ แต่จะบังคับให้อยู่ในระบบแฟรนไชส์ เพราะแฟรนไชซอร์ (franchisor) หรือเจ้าของแฟรนไชส์ คือมืออาชีพในการบริหารจัดการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยโครงการนี้ไม่เพียงแค่พี่จูงน้อง แต่ยังช่วยยกระดับธุรกิจแฟรนไชซอร์ของไทยให้มีจำนวนมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับแฟรนไชส์ต่างประเทศ ถือเป็นการสร้าง ecosystem ให้ตั้งหลักธุรกิจให้ได้
จับคู่แฟรนไชส์-บัตรคนจน
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างผลักดันการสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยได้หารือกับกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กลุ่มการศึกษาด้านอาชีพ เช่น อาชีวศึกษา และพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จัดทำข้อมูลอาชีพที่มีความเหมาะสม เป้าหมายธุรกิจใดที่ต้องการ เพื่อใช้เป็นฐานในการสร้างอาชีพ พร้อมกันนี้ช่วงปลายเดือน พ.ย. 2560 นี้ กรมจะจัดงานธุรกิจแฟรนไชส์ขึ้น เปิดโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการมีอาชีพงานนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีความเข้มแข็ง พบกับผู้ที่ต้องการสร้างธุรกิจ โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสินเข้าร่วมปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ที่สนใจทำแฟรนไชส์และผู้ที่สนใจหรือมีรายได้น้อย
ปั้นร้านธงฟ้าเป็นโชห่วยไฮบริด
ขณะที่ผู้ที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้วก็อาจใช้โอกาสนี้ต่อยอดได้ เพราะจะเปิดโอกาสในการเจรจาธุรกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มร้านธงฟ้าประชารัฐ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า ส่วนการส่งเสริมร้านค้าประชารัฐ เข้าสู่โชห่วยไฮบริด จะผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการค้าออนไลน์มากขึ้น โดยคัดเลือกผู้ที่มีความพร้อม เป้าหมายอยู่ที่ 200 รายในปี 2560 จะคัดเลือกจากร้านค้าประชารัฐ 18,000 แห่งทั่วประเทศ
ขณะที่โครงการธงฟ้าประชารัฐเพื่อให้บริการบัตรสวัสดิการของรัฐระยะต่อไปมีเป้าหมายเพิ่มร้านค้าอีก 30,000 แห่ง
กระทรวงอุตฯเร่ง EEC
ด้านนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของการผลักดันให้โครงการ EEC มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการ ในจำนวนนี้ 4 โครงการหลัก ในพื้นที่ EEC คือ สนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และท่าเรือน้ำลึก ตามแผนงานของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) กำหนดว่า แต่ละโครงการจะต้องเปิดประมูลภายในปี 2561 และต้องได้ตัวผู้รับเหมาเข้าดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญา และเดินหน้าโครงการได้
อุ้มธุรกิจ SME
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอยู่ระหว่างจัดทำแพ็กเกจมาตรการดูแลเอสเอ็มอี แต่ขณะนี้แต่ละหน่วยงานยังไม่ได้เสนอรายละเอียดแพ็กเกจ ซึ่งจะเป็นมาตรการปล่อยสินเชื่อ ส่วนมาตรการทางภาษีคงไม่นำมาใช้แล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า โจทย์ที่นายสมคิดให้เอสเอ็มอีแบงก์ ไปคิดคือ ต้องช่วยเอสเอ็มอีกลุ่มที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนทางการ หรือธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายเล็กในต่างจังหวัด โดยนำโมเดลของประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาใช้
“สิ่งสำคัญคือต้องเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของชุมชนกับผู้ซื้อ โดยเฉพาะจังหวัดรอง ไม่ใช่หัวเมืองหลัก และใช้ระบบโลจิสติกส์ อาทิ ขยายสนามบินตามต่างจังหวัด 28 แห่ง ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวก็มีการกระจายตัวกันตามจังหวัดรองมากขึ้น อาทิ พัทลุง นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง เป็นต้น”
ด้านนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า กำลังเตรียมมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐไว้ ในระยะที่ 2 กับมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีเกษตรให้มากขึ้นกว่าที่ทำอยู่แล้วเบื้องต้นอาจขยายขอบเขตการสร้างเอสเอ็มอีเกษตร จากเดิมตำบลละ 1 ราย เป็นหมู่บ้านละ 1 เอสเอ็มอี และมีมาตรการเชื่อมโยงด้านการตลาดด้วย ขณะเดียวกันหากพบว่า เป็นลูกหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อยู่ แต่ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินชำระหนี้ ก็จะมีการเจรจากับ กยศ. ให้ปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ
ลดภาษีบูมท่องเที่ยวเมืองรอง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาคลังได้ให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับแก้เกี่ยวกับการเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองเป็นหลัก เพื่อจะได้พิจารณามาตรการลดหย่อนภาษี แต่ขณะนี้ ททท.ยังไม่ได้ส่งข้อมูลใดกลับมา จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ขณะนี้คลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เฟส 2 โดยได้เสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ช่วยสนับสนุนและผลักดันให้ผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน เข้าถึงโอกาสการออมตลาดทุน การออกผลิตภัณฑ์การออมให้ง่ายขึ้น