ลงทุน 20 ล้าน! “แม่นภา” จะพาข้าวต้มมัดไปขาย…ทั่วโลก

ไม่นานมานี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม  ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อประกาศให้ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นมรดกของชาติ เนื่องจากต้องการให้สังคมรับรู้และช่วยกันปกป้องคุ้มครองมิให้ภูมิปัญญาดังกล่าวสูญหายไป

ซึ่งหนึ่งในนั้น  “ข้าวต้มมัด”รวมอยู่ด้วย

ขนมพื้นบ้านทำจากข้าวเหนียว กะทิ กล้วย และ ถั่วดำ ทำรับประทานกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ รูปร่างหน้าตาออกจะเชย แต่ได้รับการยกย่องอย่างเป็นทางการให้เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ คงเป็นเครื่องยืนยันได้ ขนมไทยชนิดนี้มี “ข้อดี”ที่ควรอนุรักษ์ไว้…อย่างยิ่ง

บริษัท ทีอาร์ ไทยฟู้ดส์ จำกัด คือ  ผู้ผลิตและจำหน่าย “ข้าวต้มมัด”พร้อมรับประทานรูปแบบใหม่ ติดแบรนด์  “แม่นภา” ซึ่งผ่านการวิจัยและพัฒนามานานนับปี

จนสามารถทำให้ขนมสูตรเก่าแก่ชนิดนี้ มีอายุการเก็บรักษาในอุณหภูมิปกติได้นานถึง 6 เดือน ทั้งที่ผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นของสด และไม่มีส่วนประกอบของผงชูรสหรือมีสารกันบูดร้อยเปอร์เซ็นต์  ปัจจุบันมีวางขายแล้วทั่วไปในร้านสะดวกซื้อและโมเดิร์นเทรดชั้นนำ

สำหรับกิจการต้นเรื่องครั้งนี้ อาจไม่ใช่หน้าใหม่ในแวดวงคนทำธุรกิจ เพราะเป็น “บริษัทลูก” แตกไลน์มาจาก บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงระดับ ยี่ห้อ “ข้าวตราไก่แจ้” อายุกิจการยาวนานกว่า 30 ปี ปัจจุบันยอดขายอยู่ในระดับ “ท็อปทรี”ของประเทศ มีผู้บริหาร “เจนฯสอง” อย่าง คุณกอล์ฟ-ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ดูแล

“การทำข้าวถุงอย่างมากแค่ขัดสีแล้วบรรจุขาย เราทำแบบนั้นมาตลอด  ขณะเดียวกันก็คิดมาตลอดเหมือนกันว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหลักที่เรามีอยู่ได้อย่างไรบ้าง จนได้ข้อสรุปจะทำสิ่งที่ ถนัด คือ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว”คุณกอล์ฟ เริ่มต้นอย่างนั้น

ประกอบกับคุณแม่ของเขา ไม่ชอบให้ลูก-หลาน ทาน “ขนมถุง-ถุง” เลยมักทำขนมไทยทานเอง อย่าง ขนมครก ขนมถ้วย ไส่ใส้ ทับทิบกรอบ ลูกชุบ ฯลฯ ครอบครัวของเขาจึงผูกพันกับขนมไทยแทบทุกชนิดมาแต่ไหนแต่ไร

“ทุกวันนี้ถ้าอยากกินข้าวต้มมัดซักชิ้นนึง ไม่รู้จะซื้อที่ไหน  เลยเกิดความคิดอยากทำขนมไทยให้มีแบรนด์สินค้า มีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อสืบสานวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมเดิมๆจะได้ไม่หายไป”คุณกอล์ฟ ว่าอย่างนั้น

ก่อนย้ำถึงข้อเด่นของสินค้าที่คิดจะนำเสนอออกมาว่า คนไทยเก่งเรื่องข้าวไทยที่สุด ข้าวไทยใครลอกเลียนแบบไม่ได้เหมือนกับขนมไทย ฉะนั้นขนมที่จะทำออกมา หากวัตถุดิบทุกอย่างมาจากเมืองไทย รสชาติก็ต้องเป็นแบบไทย คงไม่มีชาติไหนมาแข่งขันได้

“ขนมไทยเจ๋งกว่าขนมเค้ก  ขนาดขนมญี่ปุ่นไม่มีอะไรเลยแต่ขายได้มหาศาล ขณะที่ขนมไทย การทำแต่ละขั้นตอนประณีตทุกอย่าง บางอย่างใช้เครื่องจักรไมได้ต้องใช้คนทำเท่านั้น แต่มูลค่าจิ๊บจ๊อย มากแถมร่อยหรอไปทุกวัน

ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่หยิบขนมไทยนะ หยิบแต่ขนมถุง เพราะรู้จักจากโฆษณา กินแล้วเท่-ทันสมัย ใครไปถือขนมใส่ไส้ไปโรงเรียน นี่เชยเลยแถมเลอะเทอะ แต่ถ้าเป็นขนมถุงกินง่าย ฉีกข้างในมีการ์ตูนแถมด้วย”คุณกอล์ฟ เปรยแกมตัดพ้อ

 เห็นชัดเจว่านบรรดา “คู่แข่ง”มีจำนวนมากและเข้มแข็งเหลือหลาย เหตุใดยังกล้าลงทุนทำขนมไทยออกมาจำหน่าย คุณกอล์ฟ แจงชัดถ้อยชัดคำ รู้ว่าเสี่ยงแต่ไม่กลัว เพราะคิดว่าไม่มีธุรกิจไหนเสี่ยงเท่าธุรกิจข้าวแล้ว แต่เขายังกล้าเสี่ยงลงโฆษณา ทั้งที่ไม่มีของขาย กล้าใช้การตลาดนำ เพราะเชื่อมั่นลงทุนก่อนย่อมได้รับก่อน

“ตอนนี้ยังไม่มีใครขนมไทยแนวใหม่ออกมาขาย เพราะกลัวตลาดใหญ่มั๊ย ลูกค้าจะรับได้มั๊ย       จะขายได้มั๊ย แต่ผมคิดต่าง ถ้าทำก่อนได้ก่อน ย่อมกลายเป็นเจ้าตลาดรายแรก ผมไม่กลัวว่าตลาดจะมีมั๊ย  ถ้าไม่มีเชื่อว่าสร้างได้ และมั่นใจขนมไทย ถ้าทำออกมาดี คนกินแน่นอน และไม่ใช่ขายแค่ตลาดในเมืองไทยต้องขายไปได้ทั่วโลก”เอ็มดีหนุ่ม กล่าวอย่างมั่นใจ

เมื่อถามถึงกระบวนการผลิต จึงทราบ คุณจูน-ชญานิศ  ธัญญวัฒนกุล ภรรยาสาวของคุณกอล์ฟ  ในฐานะผู้จัดการทั่วไป  รับหน้าดูแลทุกขั้นตอน ภายใต้โจทย์ต้องทำให้ได้  คือ  ผลิตขนมไทยทำ จากวัตถุดิบที่เป็นของสด เพื่อ รูป รส กลิ่น ยังเหมือนเดิม เก็บไว้ได้นาน แต่ไม่ใส่ สารกันบูด และง่ายต่อการบริโภค

เธอย้อนที่มาให้ฟัง ข้าวต้มมัด คือ เป้าหมายแรก เพราะทำจากข้าวเหนียว ซึ่งทางบริษัทรู้แหล่งดีที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งทางคุณแม่ของสามี มีสูตรการทำอร่อยไม่แพ้ใคร

เลยเริ่มทำการ “วิจัยและพัฒนา””ร่วมกับทีมงาน จนสามารถทำข้าวต้มมัดออกมา บรรจุอยู่ในแพคเกจจิ้งที่เป็นถุงซีล ซึ่งกว่าจะทำอกมาได้นั้นไม่ง่ายเลย แต่เมื่อนำไปเสนอขายให้กับทางโมเดิร์นเทรดกลับได้รับการปฏิเสธ โดยให้เหตุผลเก็บรักษาได้ไม่นานและระหว่างการขนส่งอาจเสียหายง่าย  แต่ยังให้ความหวัง ถ้าทำออกมาเป็นแบบรีทอร์ท (Retort) แล้วจะรับซื้อ

(รีทอร์ท คือ บรรจุภัณฑ์อาหารชนิดหนึ่ง ที่จัดเป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัว  ทำจากฟิล์มหลายชนิด ขึ้นรูปเป็นถุงมีความแข็งแรง สามารถทนต่อความร้อนและความดันสูงได้ ใช้บรรจุอาหารที่ต้องการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนได้เหมือนกับกระป๋อง อาหารที่ผ่านการฆ่าเชื้อสามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องได้ )

 รับคำชี้แนะมาดังนั้น คุณจูน จึงนำทีมเดินหน้าทำการวิจัยและพัฒนาต่อ โดยเข้าไปขอคำนำนจากสถาบันวิชการแห่งหนึ่ง แต่ถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผล “มันยากเกินไป เพราะไม่มีใครทำได้มาก่อน”

“ทางสถาบันนั้น เขาบอกทำไมได้  เพราะข้าวเวลานำไปรีทอร์ทแล้ว จะเละกลายเป็นแป้ง  ตัวน้ำตาลจะไหม้ สีไม่เหมือนข้าวต้มมัด ดูแล้วไม่น่ารับประทานเลย สรุป คือ ยากสำหรับเขา และถ้าจะทำจริงต้องใช้เวลานานมาก เพราะไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน”คุณจูน เล่าเสียงหม่น

เมื่อถูกปฏิเสธมาอย่างนั้น  จึงนำเรื่องมาหารือกับคุณกอล์ฟ-สามี ว่าจะเดินหน้าหรือล้มโครงการกันดี  เพราะที่ผ่านมาเสียเวลาไปกว่าครึ่งปีแล้ว  สุดท้ายได้ข้อสรุป “ไม่มีเกียร์ถอยหลัง” เพราะเชื่อมั่นทุกอย่างต้องมีทางออก

เลยหอบโปรเจ็คท์ไปให้ทางมหาวิทยาลัยสยาม ช่วยวิจัยและพัฒนาต่อ  ใช้เวลาลองผิดลองถูกร่วมกันอยู่นานเกือบสองปี ทำ-เท-ทิ้ง อยู่อย่างนั้นหลายพันลอต ท้อแท้อยู่หลายครั้ง แต่ยังกัดฟันเดินหน้าต่อ จนได้ผลรับน่าพอใจออกมาในที่สุด

แต่หนทางก็ยังไม่ได้โรบด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเมื่อนำสินค้ากลับไปให้ทางโมเดิร์นเทรดรายเดิมพิจารณา กลับมาติดปัญหาราคารับซื้ออีก ต้องต่อรองถึงขั้น “ตื๊อ”อยู่พักใหญ่กว่าจะตกลงกันได้

ถามถึงงบฯลงทุน คุณจูน บอก  เนื่องจากเป็น “มือใหม่”เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการแปรรูป  ขณะที่เครื่องจักรเกี่ยวกับอาหารนั้นราคาสูงมาก เมื่อทำเป็นสเกลระดับโรงงาน จึงต้องซื้อเครื่องจักรใหม่ทุกอย่าง  การลงทุนเริ่มต้น จึงอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท เพราะต้องการให้เครื่องจักรและระบบทุกอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล

เจ้าของสินค้าท่านเดิม บอกด้วยว่า ทุกวันนี้ยอดขายในร้านสะดวกซื้อรวมทั้งห้างฯหลายแห่งเพิ่มขึ้นตามลำดับ และกำลังจะไปเปิดตลาดต่างประเทศ เร็วๆนี้  เพราะตลาดโลก คือ โอกาสที่แท้จริง โดยจะทำเป็นของฝากเจาะกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว

“ตลาดต่างประเทศยังมีมหาศาล คนต่างประเทศมาเมืองไทยต่างอยากกินขนมไทย อย่าง  ข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวเหนียวมะม่วง กินแล้วอยากซื้อกลับไปฝากคนที่บ้าน แต่ทุกวันนี้หิ้วไปไม่ได้ เสียก่อน แต่ข้าวต้มมัดแม่นภานี้ ถือไปได้เลย เป็นของสดอยู่ข้างใน อย่างไรก็ตามข้าวต้มมัดนี้เป็นแค่กิมมิก ที่ออกมาเป็นตัวแรก ต่อไปจะมีขนมไทยตัวใหม่ๆออกมาอีกแบบต่อเนื่อง”สองสามีภรรยา เจ้าของกิจการ ฝากส่งท้าย