นักธุรกิจ5ภาค ชี้ยังไม่รับรู้ถึงศก.ฐานรากฟื้นตัว หวังได้เห็นไตรมาส2ปีหน้า แต่รับได้ปรับครม.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 35 ที่กำหนดจัดวันที่ 17-19 พฤศจิกายน ที่จ.สุราษฎร์ธานี ว่า

จากการสำรวจและสอบถามนักธุรกิจใน 5 ภูมิภาค ถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยขณะนี้ พบว่า ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนและนักธุรกิจยังไม่อยู่ในระดับปกติและมองอนาคตยังไม่สดใสนัก โดยเฉพาะมุมมองจากนักธุรกิจต่างจังหวัดและเอสเอ็มอี ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรยังไม่เพิ่มขึ้นโดดเด่น ส่งผลให้กำลังซื้อของเกษตรกรไม่ฟื้นตัวนัก แม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคจะเติบโต แต่เศรษฐกิจในพื้นที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก เนื่องจากการแข่งขันที่สูงในพื้นที่ มีธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลเข้ามาแข่งขัน ทำให้ธุรกิจดั้งเดิมยอดขายหายไป และกำลังซื้อของเกษตรกรไม่เพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าเกษตรทรงตัวต่ำ

ดังนั้น แม้เศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น แต่ในมุมมองนักธุรกิจท้องถิ่นยังไม่รับรู้ถึงการฟื้นตัว คาดว่าจะรับรู้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มที่และฟื้นตัวปลายไตรมาส 2 ปี 2561

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปีหน้า มาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวโดดเด่น โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย รวมถึง อาเซียน การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การท่องเที่ยว เม็ดเงินใช้ในการเลือกตั้งปีหน้า รวมถึงเม็ดเงินจัดสรรแก่ผู้มีรายได้น้อยในแต่ละเดือน คาดเศรษฐกิจไทยปี 2561 เติบโต 4.2% ซึ่งเกิน 4% ในรอบ 5 ปี จากปี 2560 คาดเติบโต 3.9% ขณะที่ไทยมีโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมแบบเดิมและขั้นกลาง สู่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขั้นสูงและไฮเทค

คาดระยะ 3 ปีจากนี้ ส่งออกโตต่อปี 5% คาดว่าจะทำให้ 4 ปีจากนี้ หรือ ปี2561 – 64 เศรษฐกิจไทยจะโตเกิน 4 % และคาดว่าปี 2564 มีโอกาสโตกว่า 5% ถือเป็นครั้งแรกรอบ 10-12 ปีที่เศรษฐกิจโตถึง 5%

“เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวคนในพื้นที่และให้รับรู้ว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้ว รัฐบาลควรกระตุ้นให้เศรษฐกิจภูมิภาคคึกคักขึ้น โดยอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเช่น การให้เงินสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงสนับสนุนการใช้สินค้าเกษตรในประเทศ ลงทุนโครงการการสู่พื้นที่ภูมิภาค เพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ จะส่งผลให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น มีกำลังซื้อ และยอดขายของภาคธุรกิจดีขึ้น ”

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 5 ว่า การปรับ ครม. หากมีปรับสลับกันหลายตำแหน่ง จะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ และมีนโยบายใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาจะทำให้ผลงานของรัฐบาลมีความโดดเด่นมากขึ้น แต่หาก ครม.ชุดใหม่ มีการเชิญคนนอก หรือภาคเอกชน เข้ามา และบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของประชาชน และเป็นผู้มีความสามารถหลายด้าน ทั้ง เศรษฐกิจ และสังคม ให้ดีขึ้นได้ จะทำให้เกิดการยอมรับของประชาชน และทำให้เกิดการยอมรับในรัฐบาลชุดนี้มากขึ้น

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะที่ความกังวลเรื่องความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย นั้น มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และนักธุรกิจ เพราะการปรับครม. แต่ละครั้ง ยังเดินหน้าตามนโนบายเดิม เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง หากรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เข้ามาใหม่ เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน และนักธุรกิจ เชื่อว่าจะสามารถเรียนรู้และสานต่องานเดิมได้เร็วขึ้น ส่วนนโยบายที่ดำเนินการอยู่แล้ว เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะผู้ปฎิบัติยังเป็นข้าราชการกลุ่มเดิมที่ทำงานอยู่แล้ว และไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน