ผู้เขียน | สดุจตา |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิดตัวเว็บไซต์ชุมชน ของดีต้องมีพื้นที่ขาย
สสส.และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ร่วมกันเปิดตัวเว็บไซต์ www.hcshopping.org ซึ่งมาจากคำว่า healthy community หมายถึงสังคมชุมชนของคนรักสุขภาพ เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น โดยจะทำหน้าที่เป็นตลาดเพื่อใช้ระบายสินค้าของชุมชน ด้วยระบบการตลาดแบบออนไลน์ (digital market)
สำหรับสินค้าหลักนำมาจำหน่ายมี 6 หมวด ได้แก่
- ผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย ผ้าไหม ผ้าคราม ผ้าไทยทรงดำ ผ้าไทยใหญ่ ผ้าปากะญอ ผ้ามัดหมี่ และ ผ้าบาติก/ปาเต๊ะ
- ข้าว/โรงสี ซึ่งเป็นสินค้าจากการเกษตรยั่งยืน เช่น ข้าวสารหลากสายพันธุ์ ขนมที่แปรรูปจากข้าว
3.สินค้าแปรรูป ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและวัสดุในพื้นที่ เช่น หน่อไม้ดอง แหนมหมู ส้มปลา ถั่วตัด ข้าวเกรียบจากผลไม้
4.สินค้าสุขภาพ เพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน เช่น สมุนไพรรักษาสุขภาพ และของใช้ที่ผลิตจากสมุนไพร
5.สินค้าหัตกรรม จากภูมิปัญญาและแรงงานของชุมชน เช่น กระเป๋าสานจากไม้ไผ่ จากสายป่าน กระเป๋าผ้า กระเป๋าจากวัสดุเหลือใช้
- พืชผักผลไม้ ตามฤดูกาล เช่น กล้วยหอม ลองกอง และส้มโอ ซึ่งผลิตภัณฑ์มาจากเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่เป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 2,500 แห่ง ทั่วประเทศ
โดยที่สมาชิกจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการจัดการสินค้านำมาลงเว็บไซต์
สินค้าท้องถิ่นไทย ยกระดับ นำมาขาย
คุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า
“เวลาลงไปในพื้นที่แล้วพบว่า สินค้าที่มีคุณภาพจำนวนมากของชุมชน มักเป็นสินค้าที่กระจายไม่ออก ขายไม่ได้ ทำให้คิดกันไปเองว่า สินค้าชุมชนไม่มีคุณภาพ หรือขายไม่ดี เพราะทำสินค้าเหมือนกันหมด ทั้งที่ความจริงแล้วสินค้าส่วนใหญ่คุณภาพดี และไม่เหมือนกันเสมอไป เช่น กล้วยฉาบถึงแม้จะเป็นกล้วยฉาบเหมือนกัน แต่รสชาติความอร่อยไม่เหมือนกัน”
คุณดวงพร กล่าวต่อว่า “สสส. ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการตนเองด้านเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ด้วยการส่งเสริม ยกระดับ และพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีรูปแบบ และอัตตลักษณ์เฉพาะ ตามทรัพยากรและภูมิปัญญาของท้องถิ่น สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ลดปัญหาการว่างงาน และการย้ายถิ่นฐานของคนในชุมชนได้ ส่งผลให้ครอบครัวและชุมชน มีความอบอุ่นและเกื้อกูลกัน”
อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสในการจำหน่ายสินค้า ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภค จึงมีแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพของนักวิชาการชุมชนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยนักพัฒนาชุมชน นักวิเคราะห์ นักการศึกษาและอื่นๆ ให้มีการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้าให้มีคุณภาพ จะสามารถเป็นกลไกหลักในการช่วยกลุ่มองค์กรด้านเศรษฐกิจทั้งอาชีพหลัก อาชีพเสริม สินค้าตามภูมิปัญญาและวัฒนาธรรม สามารถสร้างมูลค่าและเข้าถึงผู้บริโภคได้