ครม.ไฟเขียวพ.ร.บ.ขายตรง เพิ่มโทษหนักเอาเปรียบผู้บริโภค

 

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ขายตรง และตลาดแบบตรง หลังจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ร่วมกันทบทวนร่างกฎหมายใหม่ ตามความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. โดยปรับปรุงแนวทางการควบคุมธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงให้รัดกุมมากขึ้น และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการให้รุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโอทอป เข้ามาเป็นผู้ประกอบธุรกิจได้สะดวกขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้แยกคุณสมบัติของผู้ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทั้ง 2 ประเภทออกจากกัน โดยธุรกิจขายตรง ซึ่งมีลักษณะที่ธุรกิจผ่านตัวแทนขาย อาจมีการชักชวนคนให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายโดยตกลงให้ผลประโยชน์ตอบแทนใน ลักษณะของแชร์ลูกโซ่ จึงต้องกำหนดคุณสมบัติผู้ที่เข้ามาจดทะเบียนอย่างเข้มงวด โดยต้องมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และบริษัทจำกัด รวมทั้งยังเปิดทางให้ห้างหุ้นส่วนสามารถยื่นขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขาย ตรงได้ แต่จำกัดเฉพาะห้างหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคล คือ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัดเท่านั้น เพราะมีความน่าเชื่อถือในทางธุรกิจมากกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญ

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่าส่วนธุรกิจตลาดแบบตรง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ขายผ่านสื่อ ที่ผ่านมาปริมาณคดีและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้รับสินค้า สินค้าชำรุดบกพร่อง หรือสินค้าไม่เป็นไปตามโฆษณา มีเกิดขึ้นไม่มาก และไม่มีโอกาสกลายเป็นแชร์ลูกโซ่ในลักษณะเดียวกับธุรกิจขายตรง ในกฎหมายฉบับนี้จึงเปิดกว้างให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถยื่นขอจด ทะเบียนประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้ เช่นเดียวกับกฎหมายปัจจุบัน ไม่จำกัดเฉพาะบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการโอทอป และผู้ประกอบการรายย่อยออนไลน์

ขณะที่ทุนจดทะเบียนยังได้ปรับลดวงเงินลง โดยผู้ยื่นขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท หากเป็นบริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ส่วนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ไม่ได้กำหนดเรื่องทุนจดทะเบียน เพื่อไม่ให้กระทบกับเอสเอ็มอี โอทอป และผู้ประกอบการออนไลน์

ด้านบทกำหนดโทษได้กำหนดให้เพิ่มโทษของธุรกิจขายตรงเพิ่มขึ้น เพราะหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจะมีผลกระทบกับประชาชนในวงกว้างมากและรุนแรง กว่าธุรกิจตลาดแบบตรง โดยธุรกิจขายตรงใดที่ไม่จดทะเบียนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีค่าปรับรายวันหากยังฝ่าฝืนปรับไม่เกินวันละ 20,000 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากวันละ 10,000บาท ส่วนประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงยังมีโทษเท่าเดิม มีโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีค่าปรับวันละ 10,000 บาท

นอกจากนี้ด้านการซื้อขายสินค้าออนไลน์ จะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ก็ต่อเมื่อผู้ซื้อและผู้ขายตกลงจะซื้อขายสินค้า ณ เวลานั้น ด้ายการซื้อขายผ่านโทรทัศน์ โทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ต เพราะมีลักษณะซื้อขายเด็ดขาด จะไม่มีการขอดูสินค้า หรือต่อรองราคาก่อน การนำเสนอขายสินค้าลักษณะนี้ ผู้บริโภคอาจถูกหลอกลวงได้ เนื่องจากผู้บริโภคจะเห็นเพียงรูปสินค้าและสรรพคุณของสินค้าผ่านสื่อโดยไม่ มีโอกาสได้จับต้องสินค้าจริง โดยให้สิทธิผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาได้โดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันได้รับสินค้า และให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงคืนเงินเต็มภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันได้รับหนังสือ ส่วนการซื้อขายสินค้าที่ไม่ได้มีการตกลงซื้อขายกัน และผู้บริโภคสามารถขอดูสินค้าหรือต่อรองราคาก่อนได้          จะไม่เข้าข่ายตามกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นการซื้อขายสินค้าทั่วไป เพียงแต่ซื้อผ่านสื่อออนไลน์เท่านั้น

ที่มา ข่าวสดออนไลน์