แรงงานพ้อผู้ประกันตนสิทธิรักษาน้อยกว่าแรงงานต่างด้าว ไม่เท่าเทียม ไม่เป็นมาตรฐาน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน ที่กระทรวงแรงงาน สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายประกันสังคมคนทำงานและโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่าย เพื่อพัฒนานโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะ และการมีหลักประกันทางสังคมสำหรับคนทำงาน(คสปค.) จัดเวทีสาธารณะ 2 ปี พระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 อภิปรายเรื่อง “เหลียวหลังแลหน้า มาตรา 63(2) มาตรา 8 และมาตรา 40” โดยมีตัวแทนจากสหภาพแรงงานและองค์กรต่างๆเข้าร่วมจำนวนมาก

นายสมชาย กระจ่างแสง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า 2 ปีของกฎหมายประกันสังคม ดีที่มีการแก้ไขเรื่องสิทธิประโยชน์หลายข้อแล้ว แต่ที่ยังไม่ผ่านตามมาตรา 63(2) คือ 1. เงื่อนไขการตรวจการส่งเสริมป้องกันโรค ผู้ประกันตนส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ป่วยจากการดำรงชีวิตหากมีการส่งเสริมป้องกันโรคจะช่วยได้มาก รายการตรวจที่ประกาศออกมาก็มีอยู่แล้วในสิทธิบัตรทอง เช่นการตรวจหาน้ำตาล ตรวจโปรตีนในปัสสาวะ บางรายการจะตรวจให้เมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไปซึ่งจะเกษียณอยู่แล้ว 2.ยังไม่สามารถทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงรายการตรวจป้องกันโรคนี้ได้จริงๆ 3.บางรายการเป็นการตรวจที่ไม่ได้ลงทุนมาก เช่นการตรวจสายตาด้วยชาร์ตตัวเลข หรือการตรวจการได้ยินโดยใช้นิ้วถูกันข้างหู

นายภาคภูมิ สุกใส ประธานสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคมดีที่สุด แล้วทำไมประกันสังคมไม่พัฒนาขึ้นมาบ้าง สำนักงานประกันสังคมควรบริหารจัดการจากเงินที่หักจากแรงงานมาแล้ว ถ้าไม่พอรัฐควรเข้ามาอุดหนุน ขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพใช้เงินจำนวนมาก แต่ประกันสังคมที่แรงงานต้องจ่ายเงินทำไมรัฐไม่เข้ามาดูแล และการที่เอามาตรา 63(2)มาใช้นั้นหยิบมาจากรายการของ สปสช. เป็นการเดินตามเขา

“ส่วนมาตรา 8 เรามองว่าบอร์ดประกันสังคมถูกครอบงำโดยคนบางกลุ่ม เราสะสมเงินในกองทุนทำไมจึงไม่มีตัวแทนอยู่ในบอร์ด เราต้องการผลักดันการแก้กฎหมายให้ผู้ประกันตนมีตัวแทนนั่งในบอร์ด หากจัดเลือกตั้งผู้ประกันตนใช้งบไม่มาก แต่รัฐบาลนี้ว่องไวใช้ม.44ตั้งบอร์ดที่ไม่มีอำนาจและหมดวาระแล้ว” นายภาคภูมิกล่าว

นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ประกันสังคมแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม ด้วยความไม่เท่าเทียมไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จากมาตรา 63(2) และมาตรา 40 แรงงานนอกระบบไม่มีระบบตรวจสุขภาพเชิงลึกจำเพาะอาชีพที่เสี่ยง ไม่มีการส่งเสริมป้องกันก่อนป่วย แม้จะขยายมาถึงแรงงานนอกระบบ แต่แค่ไม่ถึง 2 ล้านคน จาก 21 กว่าล้านคน ถ้าแรงงานนอกระบบตายได้เงินแค่ 2 หมื่นบาท น้อยกว่าในระบบ แล้วชีวิตเรามีค่าเท่ากันไหม กรณีชราภาพมีเงินสมทบจากรัฐเดือนละ 50 บาท ความเท่าเทียม มาตรฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กำลังถูกแบ่งให้คนห่างออกจากกัน แรงงานนอกระบบทำงานก็เสียภาษีให้รัฐควรจัดสวัสดิการให้เท่าเทียม เรารักษาด้วยสิทธิบัตรประกันสุขภาพอยู่แล้ว แต่สวัสดิการค่าชดเชยต่างๆควรขยับขึ้น และแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีมาตรา 40 คนจึงยังเข้ามาน้อย

ทพญ.มาลี วันทนาศิริ เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข กล่าวว่า สิทธิการทำฟันของรพ.รัฐ ดูแลทั้งข้าราชการ บัตรทอง ประกันสังคม และแรงงานข้ามชาติ บัตรทองอุดฟันกี่ซี่ก็ได้ ข้าราชการไม่ต้องสำรองเงินจ่ายทำกี่ซี่ก็ได้ แรงงงานต่างด้าวที่ทำประกันสุขภาพรักษาเสียครั้งละ30บาท ในตอนต้นประกันสังคมทำฟันได้ไม่เกินครั้งละ 300 บาท ไม่เกิน 2 ครั้ง ทำไมผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบแต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ขณะที่บัตรทองไม่ต้องจ่ายเงินแต่ทำเท่าไหร่ก็ได้ ประกันสังคมได้สิทธิน้อยกว่าแรงงานต่างด้าวทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ตั้งแต่ต้นเราเรียกร้อง 3 ข้อ 1.ผู้ประกันตนต้องรักษาทันตกรรมขั้นพื้นฐานตามจริงเหมือนบัตรทอง 2.ไม่ต้องสำรองจ่าย 3.การตรวจสุขภาพช่องปากประจำปีอย่างน้อยปีละ1ครั้ง

นางอำพันธ์ ธุววิทย์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่าเรื่องส่งเสริมสุขภาพที่เกิดขึ้นใหม่ต้องมีการปรับปรุง แต่รายการตรวจสุขภาพที่ออกมาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจที่จำเป็นและเหมาะสม ที่ผ่านมายังมีผู้ประกันตนไปตรวจสุขภาพน้อย พบว่าทุกสิทธิมุ่งเข้าไปที่โรงพยาบาลใหญ่ความพร้อมในการส่งเสริมสุขภาพจึงน้อย คิวเต็ม ที่ผ่านมาประกันสังคมจึงเข้าไปให้ความรู้ผู้ประกันตนและการจัดคิวของรพ.

“ขณะนี้มีการเสนอคณะอนุกรรมการเรื่องการปรับช่วงอายุบางรายการตรวจจาก 55 ปี มาเป็น 50 ปี รวมถึงเรื่องการตรวจสุขภาพช่องปาก และศึกษาว่ามีรายการใดบ้างที่ควรปรับเปลี่ยน และนโยบายกระทรวงแรงงานตั้งเป้าการดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตน ขั้นแรกจะเพิ่มจาก 2 ล้านคน เป็น 5 ล้านคน แต่จะให้ดึงมาทั้ง 21 ล้านคนอาจไม่ไหว

“ส่วนมาตรา 40 แรงงานนอกระบบ มีการแก้ไขคุณสมบัติผู้ประกันตน เดิมข้าราชการบำนาญก็มาสมัครด้วยจึงไม่ให้สิทธิกลุ่มนี้เพื่อไม่ให้สวัสดิการซ้ำซ้อน ส่วนอัตราเงินสบทบและสิทธิประโยชน์มีการปรับเปลี่ยนเป็น 3 ทางเลือก ที่มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ โดยเหลือขั้นตอนการเข้าครม. คาดว่าต้นปี2561จะออกมา ในอนาคตกองทุนจึงจะโตขึ้น ส่วนการตั้งบอร์ดมีการจัดทำร่างระเบียบให้มีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน โดยมีการกำหนดเขตเลือกตั้ง ให้ทั่วประเทศลงคะแนนพร้อมกัน โดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงาน” นางอำพันธ์กล่าว