ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กลุ่มชาวสวนยางขอเวลาพบนายกฯ 5 นาที เผยพบนายกฯ ยากที่สุด แม้กระทั่งโทรศัพท์ก็พูดไม่ได้ ล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อ ยื่น สนช. ปลดบอร์ด กยท. ล้มเหลวในการบริหาร
วันที่ 3 พ.ย. 60 นายไพรัช เจ้ยชุม คณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 3 พ.ย. 60 คณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางจำนวนหนึ่ง จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึง ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เดินทางมาพบกับประชาชน ที่ จ.นครศรีธรรมราช เรื่องของยางพารา เช่นปัญหาตลาดกลางยางพารา ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการประมูลซื้อขายยางพารา
นายไพรัช กล่าวว่า ตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีนายประทบ สุขสนาน รองประธานเครือข่ายฯ ระดับประเทศ นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายฯ ระดับประเทศ นายวิสูตร สุชาฏา ประธานเครือข่ายฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช นายไพรัช เจ้ยชุม กรรมการเครือข่ายฯ ระดับประเทศ นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ กรรมการเครือข่ายฯ ระดับประเทศ และนายวุฒิ รักษ์ทอง เครือข่ายฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) กล่าวว่า ได้ตั้งโต๊ะรับลงรายชื่อชาวสวนยางทั่วประเทศ โดยกระจายตั้งโต๊ะให้ลงชื่อในแบบฟอร์ม เพื่อให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย 15 คน (บอร์ด กยท.) พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด กยท. ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. พ้นจากตำแหย่ง บอร์ด กยท.
นายมนัส กล่าวว่า ให้ได้รายชื่อประมาณ 50,000 ชื่อ จากชาวสวนยางทั่วประเทศ แล้วจะทำการยื่นต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินการทำการถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งต่อไป จะทำการยื่นหนังสือไปยังหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทุกหน่วย ที่มีอำนาจ จนกระทั่งไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
“หากปล่อยเอาไว้ ทำให้ชาวสวนยางประสบกับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากขณะนี้ราคายางพาราได้ถดถอยลงตามลำดับ หรือเลือดไหลอย่างไม่หยุดยั้ง จึงจำเป็นต้องระงับเลือดที่ไหลออก โดยการลงรายชื่อ 50,000 ชื่อ เพื่อทำการถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะบริหารเรื่องยางบกพร่อง และผิดพลาด” นายมนัส กล่าว
นายมนัส กล่าวว่า ในรอบเดือน ต.ค. 60 ตลาดกลางยางพารา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และ จ.ยะลา 4 ตลาดกลาง กยท. ยางพารามีการออกสู่การประมูลซื้อขายประมาณ 800,000 กก./วัน เฉพาะเป็นยางแผ่นรมควัน แต่มีการประมูลประมาณ 20,000-30,000 กก./วัน โดยหมุนประมูลไปแต่ละตลาด
“ตลาดกลางยางพารา กยท. ล้มเป็นรายวัน โดยสลับหมุนเวียนแต่ละตลาดแต่ละวันตลอดเดือนต.ค. 60 เป็นเงินหลายสิบล้านบาท ยางพาราที่เหลือจากการล้มเลิกประมูล ทำให้ค้างสต๊อก โดยไม่มีที่ไป เพราะหาที่ขายไม่ได้กลายเป็นเศษขยะในที่สุด และราคาก็ลดลงเกินความเป็นจริง”
นายมนัส กล่าวว่า ในส่วนจะเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส.ค.ย. ที่เดินทางมา จ.นครศรีธรรมราช จะไม่เข้ายื่น เพราะที่ผ่านมาการเข้าพบนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งออกมาต่างจังหวัด ก็ยิ่งยากมาก
“กลุ่มตนไม่ได้ไปพบนายกรัฐมนตรี เพราะเคยประสบด้วยตนเองมาแล้ว ที่ จ.สุราษฎร์ธานี การรักษาความปลอดภัยที่เข้มข้น สแกนแม้กระทั่งสัญญาณโทรศัพท์ก็รับไม่ได้ หนังสือก็รับไม่ได้ พบนายกรัฐมนตรียากกว่าที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มจะไปยื่นที่ทำเนียบรัฐบาลดีกว่า”