คนเมืองกรุง”เฮลท์ตี้” กลัวเหี้ย สวนลุม วิ่งตัดหน้า ร้องกทม.จับ อุทยานติงเบาๆมันไม่ทำร้ายใครก่อน

กรณี สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนลุมพินี โดยจะเข้าจับตัวเหี้ย ที่เบื้องต้นมีมาก กว่า 400 ตัว ไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ชลบุรี เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ที่เข้าไปออกกำลังกายว่า ตัวเหี้ยออกมาสร้างความหวาดกลัวให้ เช่น วิ่งตัดหน้า ขณะกำลังวิ่ง หรือปั่นจักรยาน นั้น

วันที่ 19 กันยายน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องนี้ ได้สั่งการให้นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักสัตว์ป่า ประสานไปยังสำนักสิ่งแวดล้อมกทม.เพื่อร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยกทม.จะเข้าไปจับตัวเหี้ยโดยพละการไม่ได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จะต้องแจ้งให้กรมอุทยานฯรับทราบและร่วมดำเนินการด้วย

นางเตือนใจ กล่าวว่า เบื้องต้น ได้ประสานทำความเข้าใจไปทางกทม.แล้วว่า ความจริงแล้ว ตัวเหี้ยนั้นไม่ใช่สัตว์อันตราย ที่จะไปจู่โจมทำร้ายใครก่อน ยกเว้นว่าทำให้มันตกใจ พื้นที่ เช่น สวนลุม หรือบริเวณ สวนสัตว์ดุสิต เป็นพื้นที่เดิมที่มีตัวเหี้ยอาศัยมาก่อน แต่เวลาต่อมา คนไปรุกรานสร้างสิ่งก่อสร้างในที่อยู่ของมัน แต่สัตว์พวกนี้มีการปรับตัวได้ดี จึงอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ เบื้องต้น ทางกทม.เข้าใจเรื่องนี้ดี แต่เมื่อได้รับการร้องเรียนจากประชาชนก็ต้องหาวิธีจัดการ เพื่อไม่ให้เพิ่มประชากรตัวเหี้ยให้มากไปกว่านี้

“มีรายงานว่า ที่สวนลุม พบตัวเหี้ยประมาณ 400 ตัว มันเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว เพราะที่นั่นมีอาหารการกินที่ค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ ไม่มีใครทำร้าย พวกมันก็อยู่กันอย่างมีความสุข แต่การที่มีคนร้องเรียนว่าสัตว์พวกนี้ทำให้เขาหวาดกลัว ทำให้กทม.ต้องเข้าไปจัดการ นั้น ในส่วนของกรมอุทยานฯเห็นว่า หากจะจับออกไปทั้งหมดคงทำไม่ได้ อาจต้องจับออกไปแค่ส่วนหนึ่ง ซึ่ง ในวันที่ 20 กันยายน ที่จะเข้าไปจัดการนั้น อาจจะจับแค่ 40 ตัวเท่านั้น และใช้วิธี ตามหาไข่ ที่ฝังอยู่ตามที่ต่างๆ แล้วเอาไปทำลาย เป็นการควบคุมประชากรอย่างหนึ่ง เพราะจะให้ จับมาทำหมันนั้นคงจะไม่คุ้ม เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายตัวละเกือบ 1 พันบาท ทั้งนี้ ตัวเหี้ยจะวางไข่ครั้งละ 40-60 ฟอง ใช้เวลาฟักประมาณ 7-9 เดือน สำหรับตัวเหี้ยที่จะจับไปไว้ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน นั้น คงต้องไปอยู่กับ ตัวเหี้ยที่เคยจับจากที่ต่างๆมาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีอยู่แล้วประมาณ 100 ตัว สถานที่ ที่อยู่ เป็นบ่อคอนกรีต เชื่อว่า พวกมันคงมีความสุขไม่เท่ากับอยู่ในสวนลุมอย่างแน่นอน”ผู้อำนวยการสำนักสัตว์ป่า กล่าว

นางเตือนใจ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรมอุทยานฯเคยเสนอให้นำตัวเหี้ยออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อให้สามารถเพาะพันธุ์ เอาหนังไปขายได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย แต่ข้อเสนอดังกล่าว มีผู้ไม่เห็นด้วยหลายฝ่าย ปัจจุบันปริมาณตัวเหี้ยในธรรมชาติจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผิดกับที่ประเทศ อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย ที่สามารถเพาะเลี้ยงและส่งออกได้ ปัจจุบัน ทั้ง 2 ประเทศ ส่งออกปีละ 1 แสนตัว ทำให้ปัจจุบันนี้มีปริมาณตัวเหี้ยในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์