ในหลวง รับสั่งรบ.ช่วยน้ำท่วม ทรงห่วงราษฎร นายกฯน้อมรับ รุดด่วนอ่างทอง กรุงเก่าทุลักทุเล แห่ศพเผาทางน้ำ

ภาพถ่ายทางอากาศสถานการณ์น้ำท่วมชุมชนริมแม่น้ำเจ้า พระยา จ.อ่างทอง เขตติดต่อจ.พระนครศรี อยุธยา เมื่อ 30 ต.ค. ขณะที่กรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกจากแก้มลิงทุ่งรับน้ำ เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.

“ในหลวง”ทรงห่วงพสกนิกร รับสั่งให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย นายกฯ น้อมรับรุดลงพื้นที่อ่างทอง คิวต่อไปเป็นขอนแก่น “บิ๊กฉัตร”รุดตรวจความคืบหน้าซ่อมคันดินที่ถูกแม่น้ำพองกัดเซาะพัง ชาวสามโคก ปทุม ธานี ขึ้นป้ายไล่อบต. ฉุนไม่ยอมให้กระสอบทรายทำพนังป้องท่วม ชาวผักไห่ กรุงเก่า ระทมจมน้ำมา 4 เดือน ไร้หน่วยงานใดมาดูแล ส่วนที่บางบาลต้องเคลื่อนศพทางเรือไปฌาปนกิจด้วยความทุลักทุเล

เตือนมรสุมถล่มใต้

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรม อุตุฯ เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ (มีผลกระทบถึงวันที่ 3 พ.ย. ฉบับที่ 3 ความว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ เข้าปกคลุมบริเวณอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ในช่วงวันที่ 31 ต.ค.-3 พ.ย. ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัด ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และลมกระโชกแรงที่เกิดขึ้นไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณดังกล่าวควรงดออกจากฝั่ง จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีปภ. เปิดเผยถึงเรื่องเดียวกันว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ประสานจังหวัดเหล่านั้น รวมถึงศูนย์ปภ. เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

นายชยพลกล่าวอีกว่า กอปภ.ก.ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการ เกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. จัดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยเผชิญเหตุ พร้อมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เข้าประจำที่ศูนย์ปภ.เขต 11 สุราษฎร์ธานี ปฏิบัติการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนัก และเตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.เป็นต้นไป

บิ๊กตู่ตรวจท่วมอ่างทอง

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. พร้อมคณะ อาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จาก พล.ม.2 รอ. เขตพญาไท กรุงเทพฯ ไปลงที่โรงเรียนวิเศษไชยชาญ (ตันติวิทยาภูมิ) ม.6 ต.ไผจำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ตรวจเยี่ยมและ ให้กำลังใจชาวบ้านประสบเหตุอุทกภัย โดย มีนายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผวจ.อ่างทอง รายงานสรุปสถานการณ์

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใย โดยขอให้จัดทำแผนหลักแผนรองและแผนเผชิญเหตุ รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยาให้กับราษฎรที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ ทั้งนี้ ในด้านของความช่วยเหลือขอย้ำให้เน้นที่ประชาชนให้มากที่สุด ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ขอให้มองที่ภาพรวมทั้งหมดของประเทศ และจะแก้ปัญหาบูรณาการแก้ปัญหาในภาพรวมร่วมกัน นอกจากนี้กำชับให้ผวจ.ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ทราบถึงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องระบายน้ำออกมาบ้างเป็นจังหวะเวลา เพื่อไม่ให้เกิดการอั้นของน้ำแล้วเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา

“ขอขอบคุณประชาชนที่เดือดร้อนเสียสละให้เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำ ซึ่งจุดนี้รัฐบาล มีแผนจะให้ความช่วยเหลือเยียวยาไว้เรียบร้อยแล้ว และขอให้ผู้ว่าฯ ไปหาอาชีพเสริมในช่วงฤดูกาลน้ำท่วมให้กับประชาชน เพื่อมีรายได้ด้วย เช่น อาชีพประมง กำหนดเป็นโซนนิ่งโดยประสานดับกระทรวงเกษตรฯ ความเดือดร้อนที่เกิดจากอุทกภัยครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 10-29 ต.ค. ไม่ใช่แค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทั้งหมดนี้ถึง 23 จังหวัด 78 อำเภอ มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 120,000 ครัวเรือน” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาอุทกภัยในปีนี้ปริมาณน้ำถือว่าใกล้เคียงกับปี 2554 แต่การบริหารจัดการน้ำถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี ทำให้สถานการณ์ไม่รุนแรงเท่ากับปี 2554 ยืนยันว่ารัฐบาลแก้ปัญหาอย่างดีที่สุด แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ได้ทำฉาบฉวย เราต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง

ต่อมา นายกฯ พร้อมคณะ ไปยังเทศบาลตำบลบางจัก และอบต.โผงเผง เยี่ยมให้กำลังใจกับประชาชนที่ประสบปัญหาประชาชนที่ประสบปัญหา

รายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ. ประยุทธ์มีกำหนดเดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัยใน จ.ขอนแก่น ในวันที่ 31 ต.ค. เพื่อฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชน และขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสถานการณ์ จากนั้นไป ร.ร.กีฬาจังหวัดขอนแก่น บ้านคุยโพธิ์ ม.6 ต.บึงเนียม ดูการปฏิบัติงานปิดพนังคันดินคลองส่งน้ำชลประทานรวมถึงตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน และมอบถุงยังชีพให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัยบ้านบึงสวาง ม.5 ต.บึงเนียม

ซ่อมพนัง – จนท.ซ่อมพนังกั้นน้ำพอง บ้านคุยโพธิ์ ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น ถูกกัดเซาะเสียหายกว่า 30 เมตร น้ำทะลักจ่อท่วมเขตเทศบาลนครขอนแก่น คาดอีก 2 วัน จะซ่อมเสร็จ เมื่อ 30 ต.ค.

ขอนแก่นเร่งกู้คันดิน

ส่วนที่ จ.ขอนแก่น พล.อ.ฉัตรชัย สาริ กัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง เข้ารับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ภายในสำนักชลประทานที่ 6 ขอนแก่น โดยมี ผู้ว่าฯ จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และยโสธร รายงานถึงสถานการณ์และแผนการบริหารจัดการน้ำ จากนั้นลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ที่บ้านห้วยซัน ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น มอบถุงยังชีพและเงินช่วยครัวเรือนละ 3,000 บาท 161,942 ครัวเรือน รวมเป็นเงิน 485,826,000 บาท

จากนั้นไปติดตามการเร่งเสริมพนังกั้นน้ำคลองที่ถูกกระแสน้ำจากแม่น้ำพองกัดเซาะพังเสียหายเป็นระยะทางยาวกว่า 30 เมตร ส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร โดยเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน, ทหารช่าง, สำนักงานปภ. และจิตอาสา ระดมอุปกรณ์เข้าดำเนินการซ่อมแซมเป็นวันที่ 2 แต่ยังไม่สามารถ คืบหน้าไปได้มากนัก เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว

นายทองเปลว ทองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่นำหินลงบรรจุในกล่องเกเบียน หย่อนลงไปในน้ำตรงจุดที่พนังกั้นน้ำที่ขาด ดำเนินการปิดกั้นได้แล้วประมาณ 10 เมตร ขณะที่เป้าหมายที่ตั้งไว้ในการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวจะใช้เวลา 2 วัน ต่อจากนี้จะต้องปิดสถานการณ์ตรงนี้ให้ได้อย่างเด็ดขาด เพราะจุดนี้ถือเป็นจุดสำคัญของการป้องกัน น้ำท่วมเขตเมืองชั้นในของเมืองขอนแก่น นอกจากเจ้าหน้าที่จะเร่งกู้แนวพนังกั้นน้ำคืนแล้ว จะต้องสูบน้ำที่เอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้น้ำลดลงโดยเร็ว

ส่วนที่ประตูระบายน้ำเขื่อนธาตุน้อย ต.สหธาตุ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผวจ.อุบลราชธานี พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราช ธานี ตรวจดูระดับน้ำและการใช้เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 12 เครื่อง ระบายน้ำชีลงสู่แม่น้ำมูนก่อนไหลออกไปแม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น โดยเครื่องผลักดันน้ำที่กรมชลประทานนำมาติดตั้งช่วยเร่งระบายน้ำจะช่วยเพิ่มการระบายน้ำออกจากเขื่อนเพิ่มจากปกติวันละกว่า 2 ล้านลบ.ม.

คลื่นซัดเรือตังเกล่ม

วันเดียวกัน นายพัลลภ สิงหเสนี ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ สั่งการให้หัวหน้าส่วนราช การหน่วยงานทุกแห่งรับมือตามแผนป้องกันสาธารณภัยของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อย่างเคร่งครัด โดยให้ทุกหน่วยงานประชุมเตรียมความพร้อมในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์ และป้องกันความเข้าใจผิด รวมทั้งเกิดความตระหนก มิให้ส่งข้อมูลและภาพอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนออกไปสู่สังคมออนไลน์

ส่วนสถานการณ์คลื่นลมรุนแรงในพื้นที่ มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บรรดาเรือประมงหลบลมบริเวณเกาะไหหลำ เกาะพิง เกาะพัง และเขาตาม่องล่าย แต่มีเรือประมงขนาดกลาง 1 ลำ อับปางลง ขณะที่นำเรือเข้าฝั่งเพื่อหลบลมมรสุมที่เขาตาม่องล่าย ส่วนที่ชายทะเลปากน้ำ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี ตั้งแต่บริเวณหน้าสวนสาธารณะหาดนเรศวร ถึงชายหาดวน อุทยานเท้าโกษา (เขากะโหลก) ระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร มีเศษขยะทั้งไม้ไผ่ ลูกมะพร้าว ขวดแก้ว ขวดพลาสติก โฟม วัสดุขนาดเล็ก-ใหญ่ และขยะที่เกิดจากธรรมชาติ รวมทั้งพืชทะเล ถูกคลื่นซัดเกยชายหาดจำนวนมาก

วันเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารสำนักงานปภ.สุราษฎร์ธานี เรียกทวนสัญญาณวิทยุไปยังจุดประจำการของมิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อตรวจสอบสัญญาณการสื่อสาร และตรวจสอบปริมาณน้ำฝน รวมถึงสภาพอากาศ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ช่วงมรสุม โดยนายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ ธานี ออกหนังสือแจ้งเตือนประชาชนพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจ เช็กอุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัยให้พร้อมสถานการณ์

จากสภาพคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้เรือประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่ง จ.สงขลา ต้องนำเรือขึ้นมาเก็บไว้บริเวณชายหาด เพื่อป้องกันคลื่นลมแรงซัดเรือได้รับความเสียหาย สำนักงานปภ.สงขลา แจ้งเตือนให้พื้นที่เสี่ยงภัยที่เคยเกิดน้ำป่าไหลหลากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่งเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนบนใน อ.สะเดา

ปทุมโวยอบต.ไม่ช่วย

ส่วนที่หน้าวัดถั่วทอง ต.บ้านปทุม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ชาวบ้านติดตั้งป้ายขนาดใหญ่ที่ระบุข้อความว่า “วัดถั่วทอง ไม่ ขอต้อนรับ ฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปทุมทุกท่าน” สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ในพื้นที่ดังกล่าวถูกน้ำท่วมสูง ทั้งวัดและชุมชนประสานขอกระสอบทรายเพื่อทำพนังกั้นน้ำ ต่อมาชาวบ้านและลูกศิษย์วัดไปขอกระสอบมาใส่ทราย อบต.บ้านปทุม ไม่อนุญาต โดยอ้างว่าต้องนำไปให้เองและขอถ่ายภาพเป็นหลักฐานด้วย ชาวบ้านจึงไม่พอใจและขึ้นป้ายไวนิลดังกล่าว

ต่อมานายไพรัตน์ ลิ่มสกุล นายอำเภอสามโคก เข้ามาไกล่เกลี่ยระหว่างชาวบ้านและอบต.บ้านปทุม โดยให้ชาวบ้านนำป้ายลง และจะไปพูดคุยกับทางฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่อบต.บ้านปทุม เพื่อให้ช่วยการเหลือประชาชนที่เดือดร้อนซึ่งเป็นหน้าที่ของข้าราชการ

วันเดียวกันที่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากถูกน้ำท่วมขังตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุดน้ำเข้าท่วมใต้ถุนบ้านเสูงระดับครึ่งหัวเข่า โดยระดับน้ำทรงตัวมาแล้ว 2 วัน และคาดว่าจะสูงเพิ่มขึ้นอีก แต่ยังไม่มีหน่ายงานไหนให้ความช่วยเหลือ คาดว่าเป็นเพราะระดับน้ำยังไม่สูงมากและยังสามารถใช้ชีวิตได้อยู่ ส่วนถนนระหว่าง ต.ลาดชิด – ต.ลำตะเคียน ถูกกระแสน้ำเซาะขาดในพื้นที่ ม.10 ต.ลาดชิด ชาวบ้านต้องอ้อมไปใช้เส้นทางอื่นแทน สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ส่วนที่วัดบ้านแดง ต.น้ำเต้า อ.บางบาล ถูกน้ำท่วมสูงเต็มพื้นที่ ญาติและชาวบ้านต้องช่วยกันนำศพผู้เสียชีวิตลงเรือเคลื่อนจากศาลาการเปรียญไปขึ้นเมรุ ประกอบพิธีฌาปนกิจ ขณะที่ผู้มาร่วมงานต่างต้องพายเรือมาร่วมพิธีแทนรถยนต์ด้วยความทุลักทุเล เพราะถนนถูกน้ำท่วมสูงจนสัญจรไม่ได้

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์