ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ประชุมติดตามการทำงานของ สศค. และสั่งการให้สศค. เร่งดำเนินการมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น ให้ สศค. เร่งติดตามขับเคลื่อนการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและเป็นหนี้นอกระบบถึง 1.3 ล้านราย เป็นมูลหนี้ 7 หมื่นล้านบาท ให้มีการแก้ไขให้ไวขึ้น เพื่อที่จะทำให้การเกิดการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่ม
ที่ผ่านมา ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับผิดชอบแก้ไขหนี้นอกระบบกลุ่มนี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบโดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินที่รัฐบาลอนุมัติไว้เบื้องต้นธนาคารละ 5,000 ล้านบาท รวมเป็น 1 หมื่นล้านบาท แต่ที่ผ่านมาสามารถปล่อยแก้หนี้นอกระบบที่มาลงทะเบียนรายได้น้อยได้ 5.28 หมื่นราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 2,400 ล้านบาท
“สศค.จะหารือกับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ว่าจะทำอย่างไรให้การแก้หนี้นอกระบบรวดเร็วขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงการคลังที่ต้องการให้หนี้นอกระบบไม่มีในประเทศภายในปีนี้ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง”นายสุวิชญ กล่าว
นอกจากนี้ นายสมชัย ยังได้สั่งการให้ สศค. ติดตามปัญหาน้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่ง สศค. จะออกมาตรการเยียวยาผู้ประสบน้ำท่วมเศรษฐกิจในทุกรูปแบบเหมือนที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ เช่น การให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อซ่อมแซม หรือ ขยายกิจการเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามของ สศค. พบว่าน้ำท่วมปีนี้ยังอยู่ในวงจำกัด และปัญหาน้ำท่วมเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกปีอยู่แล้ว คาดว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 ปัญหาน้ำท่วมจึงไม่กระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจในภาพรวม แต่กระทรวงการคลังก็จะดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาผู้ที่ได้รับกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมมากที่สุด
นายสุวิชญ กล่าวว่า ปลัดคลังยังได้สั่งให้ สศค. เร่งทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจ หรือ บิ๊กดาต้า โดยให้ประสานกับศูนย์คอมพิวเตอร์ของกระทรวงการคลัง ให้สามารถนำข้อมูลทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นมหาภาค หรือ ไมโคร มาใช้วิเคราะห์เพื่อออกนโยบายหรือมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2560 ของ สศค .ในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการณ์ไว้ 3.6% แต่จะเพิ่มมากขึ้นเท่าไรต้องมีการประชุมติดตามปัจจัยบวกและลบต่างๆ ก่อนมีการประกาศตัวเลขอีกครั้ง