คาด พ.ย. รถไฟกรุงเทพฯ-หนองคาย เริ่มลงมือก่อสร้างได้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารืออย่างเป็นทางการกับนายจาง เกาลี่ รองนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและคณะ ว่า ได้เห็นชอบร่วมกันในการความสำคัญของโครงการเส้นทางสายไหม (one belt one road) และความร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย (รถไฟไทย-จีน) ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความพอใจในความคืบหน้า คาดว่าเดือนพ.ย. 2560 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้

ขณะเดียวกัน ได้นำเสนอแนวคิดในการประชุม คณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ซึ่งจะมีขึ้นในต้นปี 2561 ใน 2 ประเด็น คือ 1. การยกระดับความสัมพันธ์ด้านเกษตรจากการที่จีนเป็นเพียงตลาดรับซื้อ มาเป็นการร่วมพัฒนาโดยใช้วิทยาการสมัยใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า 2. ความร่วมมือยกระดับการพัฒนาทั้งภาคการผลิต ภาคบริการและภาคโลจิสติกส์โดยเน้นการสร้างคลัสเตอร์เฉพาะอย่าง ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี และคลัสเตอร์ โดยเฉพาะ เช่น เศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโอ อีโคโนมี การเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว และโลจิสติกส์

นอกจากนี้ ได้หารือถึงการเชื่อมต่อไทยเข้ากับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan Pearl River Delta:PPRD) ซึ่งมี 11 มณฑล ที่เป็นมณฑลที่จะมีประโยชน์สูงสุดต่อเส้นทางสายไหมและโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย ซึ่งในส่วนี้จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญทำให้เราเป็นศูนย์กลางนะหว่างเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลึ่มแม่น้ำจูเจียง ที่มี 11 มณฑลและภูมิภาคอาเซียนตลอดจนกลุ่มซีแอลเอ็มวี 7 ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ได้อย่างแท้จริง

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวว่า นายสมคิด ได้เสนอจีนให้มีกลไก ที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลึ่มแม่น้ำจูเจียง กับอาเซียน โดยเป็นความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างภูมิภาคต่อภูมิภาค (regional to regional) ซึ่งที่ผ่านมาเป็นความร่วมมือในระดับประเทศต่อประเทศเท่านั้น โดย เห็นว่าโครงการนี้มีความสำคัญอย่างมาก เคยหารือกันตั้งแต่ 10 ปีก่อนแต่ในช่วงหลัง ไม่ได้ความสำคัญ ซึ่งการที่ฮ่องกง ได้ตัดสินใจมาตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (HKETO) ในประเทศไทยนั้น จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นหัวหอกในการมาลงทุนของนักลงทุนจีนทางตอนใต้สู่ไทย และอาเซียนได้เป็นอย่างดีซึ่งในขณะนี้กระทรวงต่างประเทศกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินในเรื่องนี้

ในส่วนของความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์กับประเทศไทยนั้น ไทยได้เสนอให้มีความร่วมมือในการพัฒนาเพื่อยกระดับชุมชนไทย โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเกษตร ความร่วมมือด้านภาคการผลิต และ โลจิสติกส์ ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดในการประชุม

นายจาง กล่าวว่า ไทยเป็นเพื่อนบ้านของจีน ที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน และประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ซึ่งมีการใช้นวัตกรรมเพิ่มผลผลิต ซึ่งมีความยินดีที่จะร่วมมือกับประเทศไทย นอกจากนี้ นายจางระบุด้วยว่า จีนให้ความสำคัญกับโครงการรถไฟไทย-จีนอย่างมาก เพราะถือเป็นเส้นทางสายสำคัญ ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม รายงานในที่ประชุมว่าขณะนี้โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ได้ลงนามไปแล้ว 2 สัญญา เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา คือเรื่องการออกแบบ และงานก่อสร้าง ส่วนสัญญาที่ 3 จะมีการจะลงนามในต้นปี 2561 ในเรื่องของระบบอาณัติสัญญาณซึ่งใช้ เทคโนโลยีของจีน ส่วนโครงการในระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย น่าจะเจรจาได้ ภายในปี 2561