กสม.มอบรางวัลเกียรติยศ “ปู่คออี้ มีมิ” วัย 106 ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งผืนป่าแก่งกระะจาน

วันที่ 23 ต.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) มีมติมอบรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน”ประจำปี 2560 ให้แด่ 1.ปู่คออี้ หรือนายคออิ มิมี ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยง อายุ 106 ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบ้านใจแผ่นดินในป่าแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 2.คุณศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ วัย 86 ปี นักพัฒนาอาวุโสที่ทำงานภาคประชาชนมายาวนาน 3.นายสุแก้ว ฟุงฟู อายุ 57 ปี นักต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมด้านสิทธิในที่ดินและทรัพยากร ทั้งนี้จะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 14 ธ.ค. 60

สำหรับ ปู่คออี้ เกิดที่ต้นน้ำภาชี มีพี่น้อง 6 คน เมื่อเป็นหนุ่มได้ย้ายไปอยู่บ้านบางกลอยในพื้นที่ใจแผ่นดินซึ่งเป็นป่าใหญ่ในผืนป่าแก่งกระจาน ในวัยหนุ่มปู่คออี้ได้ท่องเที่ยวในพงไพรจนทะลุปรุโปร่ง ซึ่งในครึ่งศตวรรษก่อน การล่าสัตว์ยังเป็นเรื่องปกติของผู้ที่อาศัยอยู่กับป่า ปู่คออี้เป็นพรานใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญผืนป่าแห่งนี้ ซึ่งชุกชุมด้วยสัตว์มากมาย จนทำให้นักนิยมไพรจากกรุงเทพฯไว้ใจให้นำทางรอนแรมในผืนป่าแห่งตำนาน

ปู่คออี้ดำรงชีวิตตามวิถีกระเหรี่ยงดังที่บรรพบุรุษสั่งสอน โดยปลูกข้าวไร่และทำการเกษตรแบบหมุนเวียน ปลูกต้นหมากไว้ 2-3 แปลง โดยบ้านของปู่คออี้และชาวบ้านใจแผ่นดินทำจากไม้ไผ่มุงด้วยคอใบค้อ และทั้งชุมชนไม่มีสิ่งก่อสร้างถาวร และติดต่อกับสังคมภายนอกน้อยมากเนื่องจากอุปสรรคด้านการเดินทาง จนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นดินแดนลี้ลับที่ทางการยากจะเข้าถึง

ปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอยดำรงชีวิตเป็นปกติสุขเรื่อยมา และกระทรวงมหาดไทยได้ขึ้นทะเบียนให้บ้านบางกลอยเป็นชุมชนถูกต้อง จนกระทั่งปี 2539 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2524 ได้อพยพปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอย 391 คน มาไว้ที่บ้านโป่งลึก แต่อุทยานฯล้มเหลวเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกินและการดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ในที่สุดปู่คออี้และชาวบ้านจึงค่อยๆทยอยเดินทางกลับขึ้นไปอยู่ในถิ่นฐานเดิมอีกครั้ง

ปี 2535 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 9 นายสูญหายในป่าแก่งกระจาน จึงมีการค้นหากันครั้งใหญ่แต่ไม่พบ กระทั่งมีการประสานงานไปยังชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และปู่คออี้พร้อมลูกหลานได้อาศัยความชำนาญพื้นที่ออกค้นหาจนกระทั่งสามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาได้

ปี 2554 เจ้าหน้าที่รัฐผนึกกำลังกันอีกครั้งในการโยกย้ายชาวบ้านบางกลอยมาไว้ที่บ้านโป่งลึก เพราะได้รับรายงานว่าเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยและพัวพันยาเสพติด โดยบุตรชายของปู่คออี้คือนายนอแอะถูกจับ ขณะที่ปู่คออี้ถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาไว้ที่บ้านโป่งลึก หรือที่เรียกในเวลาต่อมาว่าบางกลอยล่าง

การอพยพครั้งนั้นใช้วิธีการรุนแรงโดยการเผาบ้านเรือนและยุ้งฉางสำหรับเก็บข้าว ซึ่งต่อมาได้มีการเรียกร้องให้ภาครัฐเยียวยาชาวบ้าน โดยมีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ซึ่งเป็นหลานชายปู่คออี้ เป็นผู้ประสานงานคนสำคัญ แต่ในที่สุดนายบิลลี่ก็ถูกทำให้สูญหายจนบัดนี้ยังไม่พบตัว

ปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอยต้องทนทุกข์ยากอยู่ในพื้นที่แปลงอพยพที่อุทยานฯจัดขึ้น เนื่องจากผืนดินที่ได้รับการจัดสรรไม่สามารถปลูกข้าวได้ แม้กระทั่งหน่วยงานต่างๆพยายามช่วยเหลือทำเป็นนาขั้นบันได แต่ก็ล้มเหลว ขณะที่ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินตามที่สัญญาเอาไว้ ตลอดระยะเวลายากลำบาก ปู่คออี้พยายามต่อสู้ด้วยแนวทางสันติโดยไม่เคยให้ร้ายหรือกล่าวหาคู่ขัดแย้ง

“หากได้คืน ก็สุขใจถ้าไปคืนกลับจริงๆก็ไม่ว่าอะไรเขาสักอย่าง จะคืนเป็นสิ่งของหรือเป็นเงินก็ได้ แต่ไม่กล้าไปขออะไร กลัวเขาจะมายิง”ปู่พูดถึงทรัพย์สินที่สูญหายและถูกเผาไประหว่างการถูกบังคับให้อพยพ เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากได้กลับคืนมามากที่สุด ปู่คออี้บอกว่า “เข็มขัดเงินกับสร้อยคอที่เป็นรูปเหรียญซึ่งห้อยกับด้าย สร้างลูกปะคำ และอยากกลับไปอยู่ที่เดิม เพราะมีหมาก พลู ของกินที่ปลูกไว้ อยากกลับไปทำไร่ที่เดิม”

“เราไม่เคยทำลายป่า ไม่เคยทำลายแผ่นดิน ไม่เคยนำไม้ไปขาย ทำแค่มีบ้าน มีพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ปลูกพืชผัก แม้ว่าบ้านเมืองจะพัฒนาไปอย่างไร เราทำเหมือนคนอื่นไม่ได้ เราทำได้แค่นี้ เท่าที่พ่อแม่สั่งสอนมา”

แม้ต้องทนทรมานอยู่ในพื้นที่แปลงอพยพและต้องย้ายบ้านไปแล้วหลายครั้ง แต่ความหวังสุดท้ายของปู่คออี้คือการได้กลับไปตายที่บ้านเกิด

“ฉันลืมตามาป่าก็อยู่ตรงนั้น น้ำนมหยดแรกที่ฉันดื่มก็อยู่ตรงนั้น บ้านใจแผ่นดิน เราไม่ได้ไปแย่งที่ของใครมา รอยเท้าของเรายังอยู่ในที่ที่ของเรา พ่อแม่ปู่ย่า ทำกินมาแต่ไหนแต่ไร ต้นไม้ ต้นไผ่ ยังเขียวชอุ่ม”

นับวันสภาพร่างกายของปู่คออี้อ่อนแอลงเรื่อยๆตามกฎธรรมชาติ แต่ผู้เฒ่าก็ยังมีความหวังถึงความหวังสุดท้ายในบ้านหลังน้อยกลางป่าใหญ่ใจแผ่นดิน

คุณศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ หรือ อาจารย์ศรีสว่าง หรือ “พี่ศรีสว่าง” ของนักพัฒนารุ่นก่อน หรือ “ป้าศรีสว่าง” ของนักพัฒนารุ่นหลัง เกิดเมื่อพ.ศ.2574 ภายหลังเรียนจบด้านบัญชีที่ม.ธรรมศาสตร์ ทำงานอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมัยที่มีอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นกำลังสำคัญ

หลังจากได้รับทุนไปเรียนต่อจนจบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ม.แวนเดอร์บิลท์ สหรัฐอเมริกา คุณศรีสว่างได้กลับมาทำงานที่เดิมแต่ขณะนั้นได้เปลี่ยนเป็นกรมวิเทศสหการ

“ได้รับอิทธิพลจากอาจารย์ป๋วยสูงสุด เพราะท่านเปิดโอกาสให้ได้พบ ได้เรียนรู้วิธีทำงานของท่าน” อาจารย์ศรีสว่าง ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวัน 22 ต.ค. 2542 ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือผู้นำสาธารณะประโยชน์และประชาสังคม

อาจารย์ศรีสว่างทำงานอยู่ในระบบราชการประมาณ 30 ปี และลาออกก่อนเกษียณ 8 ปี แต่ก่อนหน้านั้นได้เริ่มทำงานพัฒนามาตั้งแต่ปี 2518 ทั้งด้านเด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ

“อดประทับใจท่านไม่ได้เมื่อได้รู้ถึงความกล้าหาญที่พร้อมทัดทานและท้วงติงอย่างตรงไปตรงมาหากเห็นผู้บังคับบัญชาหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คุณศรีสว่างเป็นผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ ชนิดที่กล้าขวางผู้มีอำนาจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อตัวเอง นับเป็นข้าราชการ “ตงฉิน” ที่หาได้ยากอย่างยิ่ง หากเป็นยุคที่ผู้นำมีคุณธรรม คุณศรีสว่างย่อมเจริญก้าวหน้าในราชการอย่างแน่นอน เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถมาก อีกทั้งแม่นยำในหลักการ เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้ที่จริงใจต่อหน้าที่การงานทั้งที่อยู่เหนือและต่ำกว่าท่าน แต่เมื่อได้ผู้บังคับบัญชาที่ขาดความเป็นผู้นำ คุณศรีสว่างจึงถูกกดจนไม่มีอนาคตในทางราชการเลย” พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้เขียนบทความถึงคุณศรีสว่างไว้ใน http://www.visalo.org/article/person32Srisawang.htm

ป้าศรีสว่างเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เรื่องราวของเด็ก เยาวชนและสตรีได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ซึ่งในฉบับแรกๆนั้นได้ละเลยเรื่องเหล่านี้หมด โดยมีประสบการณ์ในวงราชการเป็นใบเบิกทาง ทั้งดร.เสนาะ อูนากูล ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ต่างเคยทำงานร่วมกัน จนกระทั่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 8 ได้ยึดหลักให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ

ป้าศรีสว่างเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ในสมัยปี 2519 ซึ่งผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลยุคนั้นมักได้รับข้อหานี้

ป้าศรีสว่างยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเองชน(กป.อพช.) เมื่อปี 2522 และได้ดำรงตำแหน่งประธานเมื่อปี 2537-2538 จนกระทั่งปี 2540 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

นายสุแก้ว ฟุงฟู หรือ “พ่อหลวงนง” เป็นผู้นำคนสำคัญในการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในที่ดินทำกินของคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรในโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่หนองปลาสวาย บ้านโฮ่ง ป่าซาง จังหวัดลำพูน ตามมติการประชุมคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2509 ซึ่งในทางปฎิบัติพบปัญหามากมาย ต่อมาเมื่อรัฐดำเนินนโยบายเร่งรัดออกโฉนดที่ดินและการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในปี 2533-2534 ในหลายพื้นที่ตำบลของอำเภอป่าซางและอำเภอบ้านโฮ่ง กลับพบข้อเท็จจริงอันกลายเป็นชนวนใหญ่คือปัญหาการออกโฉนดทับที่ทำกินของชาวบ้าน รวมถึงที่ดินทำกินของหมู่บ้านแพะใต้ของพ่อหลวงนง

ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กดดันให้สถานการณ์การใช้ที่ดินของชุมชนที่พ่อหลวงนงอาศัยอยู่ประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะมีนายทุนได้มาแสดงความเป็นเจ้าของ และได้มีการจับกุมชาวบ้านนับร้อยราย รวมถึงผู้นำอย่างพ่อหลวงนงในข้อหาบุกรุก

พ่อหลวงนงและชาวบ้านได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมและนำไปสู่การตรวจสอบกระบวนการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิในที่ดินโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่ โดยพ่อหลวงนงเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินระดับอำเภอและจังหวัด รวมทั้งเป็นคณะกรรมการระดับกระทรวง และเป็นกำลังสำคัญของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) ร่วมต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน

เดือนพฤษภาคม 2559 พ่อหลวงนงพร้อมเพื่อนอีก 6 คนแพ้คดีที่ถูกฟ้องร้องและติดคุกอยู่กว่า 1 ปี จนเมื่อพ้นโทษมาแล้ว พ่อหลวงนงยังคงกลับมาร่วมต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านและเกษตรกรต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Paskorn Jumlongrach