ส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก.ย. 60 ทอง-อัญมณี-ยาง-ข้าว ทะลุ 8%

กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานยอดการส่งออกสินค้าไทยในเดือนกันยายน 2560 ปรากฏมีมูลค่าถึง 21,812.3 ล้านเหรียญสหรัฐหรือขยายตัว 12.22% นับเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 18,454.1 ล้านเหรียญหรือเพิ่มขึ้น 9.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 3,358.2 ล้านเหรียญ ส่วนการส่งออกรวม 9 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 175,435.2 ล้านเหรียญหรือเพิ่มขึ้น 9.3% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี และการนำเข้ามีมูลค่า 163,203.7 ล้านเหรียญหรือเพิ่มขึ้น 14.75% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 12,231.4 ล้านเหรียญ

โดยมีข้อน่าสังเกตว่า การส่งออกในเดือนกันยายนที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์นั้น เป็นผลมาจากการขยายตัวของกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 7.9% เช่น ยางพารา, น้ำตาลทราย, ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป รวมถึงข้าวและอาหาร ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 12.5% จากทองคำ, ผลิตภัณฑ์ยาง, น้ำมันสำเร็จรูป, คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ, รถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ และอุปกรณ์สื่อสาร

สินค้าดาวเด่นพุ่งพรวด

หากพิจารณา “ไส้ใน” ตัวเลขส่งออกสินค้าไทยในเดือนกันยายน พบว่ามีสินค้าหลายรายการที่ขยายตัวอย่างโดดเด่น ยกตัวอย่าง ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เพิ่มขึ้นถึง 243.3% โดยส่งไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย และหากดูเฉพาะกลุ่มอัญมณี ที่ไม่รวมทองก็ขยายตัว 9.3% ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือนกันยายนขยายตัว 74.4% อย่างไรก็ตาม หากแยกกลุ่มทองคำออกมาต่างหาก การส่งออกโดยรวมของไทยก็ยังคงขยายตัวที่ 7.9% อยู่ดี

สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 52.4% จากการส่งออกไปยังตลาดจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ส่งผลให้ยอดส่งออกรวม 9 เดือนแรกของสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 53.8%, สินค้าน้ำมันสำเร็จรูปขยายตัว 53.1% จากการส่งออกไปเวียดนาม สิงคโปร์ และกัมพูชาซึ่งเรียกว่ามีมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ภาพรวม 9 เดือนแรกของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 33%

ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า แม้ภาพรวมยังติดลบ -0.2% แต่ปรากฏว่า “สินค้าโทรศัพท์และอุปกรณ์” ส่งออกเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะที่ส่งไปยังตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 337% ขยายตัวต่อเนื่องมา 12 เดือน ตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น 135%

สินค้ากลุ่มยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีน้ำหนักคิดเป็นสัดส่วนถึง 14.3% ของการส่งออก สามารถพลิกกลับมาเป็นบวก 4.9% จากเดือนก่อนที่ติดลบ -2.4% เป็นผลจากยอดส่งออกกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 2.8% จากเดือนก่อนที่ติดลบ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ขยายตัว 1.6% ในช่วง 9 เดือนแรก กลุ่มสินค้าเกษตร ข้าวสามารถส่งไปยังตลาดรัสเซียเพิ่มขึ้น 143% ส่งผลให้ยอดส่งออกข้าวโดยรวม 9 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกข้าวได้แล้ว 8.2 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้น 19.9% และมีมูลค่า 3,578 ล้านเหรียญหรือเพิ่มขึ้น 865.4% ขณะที่ยางพาราด้านปริมาณเพิ่ม 6.9% ราคาเพิ่ม 22.4%

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าบางรายการที่ส่งออกลดลงในเดือนนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ยังคงติดลบ -1.3% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะภาคเอกชนเยือนตุรกี เพื่อเปิดตลาดมันสำปะหลังอัดเม็ดไปแล้ว, สินค้ากลุ่มผักและผลไม้ที่ยอดลดลง 9.7% ตามฤดูการผลิต, สินค้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็งลดลง 9.5%, เครื่องปรับอากาศลดลง 10.6% และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ลดลง 13.6%

สหรัฐ-ญี่ปุ่น-จีนเพิ่มขึ้นทุกตลาด

ด้านตลาดส่งออกสำคัญของสินค้าไทย ปรากฏ “เพิ่มขึ้นทุกตลาด” เฉพาะตลาดหลักเพิ่ม 6.0% โดยตลาดสหรัฐเพิ่ม 5.7% จากการส่งออกสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง, เหล็กและผลิตภัณฑ์สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์, เครื่องซักผ้า/ส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และทรานซิสเตอร์ ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 10.3% จากการส่งออกไก่แปรรูปฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าสูงสุด, เครื่องคอมพิวเตอร์, แผงวงจร, เครื่องจักรกลไฟฟ้า, โทรศัพท์และอุปกรณ์ ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่ม 2.1% เป็นผลจากการส่งออกโทรศัพท์และอุปกรณ์, อัญมณีและเครื่องประดับ, เครื่องจักรกลและแผงวงจร

ตลาดที่มีศักยภาพสูง ส่งออกเพิ่ม 10.9% เช่น จีนเพิ่ม 12.1% จากการส่งออก รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง, เคมีภัณฑ์, ยางพารา และคอมพิวเตอร์ ตลาดกลุ่ม CLMV เพิ่ม 13.9% จากสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป, แผงวงจรไฟฟ้า, ทองแดง,เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ตลาดเอเชียใต้เพิ่ม 34.6% จากเครื่องเทศ-สมุนไพรและรถยนต์ ตลาดไต้หวันเพิ่ม 23.8% ตลาดฮ่องกงเพิ่ม 13.9% และตลาดอาเซียนเพิ่ม 1.0%

ส่วนตลาดศักยภาพรองโดยรวมเพิ่มขึ้น 9.5% ได้แก่ ออสเตรเลียเพิ่ม 15.3% ตะวันออกกลางเพิ่ม 6.4% ตลาดแอฟริกาเพิ่ม 2.1% ตลาดละตินอเมริกาเพิ่ม 1.4% รัสเซีย-CIS เพิ่ม 101% และแคนาดา 6.9%

เป้าหมายส่งออกทะลุ 8%

ด้าน นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจของตลาดส่งออกปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับผลจากมาตรการผลักดันการส่งออกของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่มุ่งเจาะตลาดศักยภาพรองกับตลาดศักยภาพสูง รวมทั้งตลาด CLMV เริ่มเห็นผลอย่างชัดเจน

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนของปีนี้ จะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง หากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 19,061 ล้านเหรียญ จะทำให้การส่งออกโดยรวมทั้งปีขยายตัวได้ถึง 8% ขึ้นไป หากสามารถทำได้มากกว่านั้นมีโอกาสขยายตัวถึง 8.5% หรือสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 7% (ซึ่งปรับขึ้นจากเป้าหมายรอบแรกที่ 5%)

“ปัจจัยหลักเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การค้าโลก เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ ซึ่งส่งผลดีต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ได้เพิ่มกิจกรรมผลักดันการส่งออกในช่วง 3 เดือนสุดท้ายอีกกว่า 35 กิจกรรม เช่น การจัดคณะผู้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศเข้าเจรจาจับคู่ธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อทันทีภายในงาน 600 ล้านบาท” นางอภิรดีกล่าว

ส่วนปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา หรือแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อเหรียญนั้น “ได้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว” จนประเมินว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในปีนี้ ประกอบกับผู้ส่งออกได้รับคำสั่งซื้อและกำหนดราคาล่วงหน้าไว้หมดแล้วจนถึงสิ้นปี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังต้องมีการติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนธันวาคม 2560 อย่างใกล้ชิด หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้บาทอ่อนค่าลง

ดังนั้นจึงขอให้ผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วย โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีการประชุมประเมินสถานการณ์และจัดทำมาตรการผลักดันการส่งออกปี 2561 ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) และภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2561

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์