รถคันแรกทำหนี้ครัวเรือนปูด! อีสานครองแชมป์กู้เพิ่ม-ใต้ค้างชำระมากสุด

แบงก์ชาติเผยรถคันแรกดันหนี้ครัวเรือนปูด พบหนี้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นจากปี”52 กว่า 92% มาอยู่ที่ 1.32 แสนบาทต่อคน ภาคอีสานหนี้เพิ่มขึ้นมากสุด แต่ภาคใต้ค้างชำระมากสุด

นางสาวโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 ของ ธปท. หัวข้อ “มองมาตรการภาครัฐและหนี้ครัวเรือนผ่านข้อมูลเครดิตบูโร” ว่า ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูล เครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2559 พบว่ามียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 15.8 ล้านล้านบาท และมีจำนวนผู้กู้กว่า 16.3 ล้านบัญชี โดยหนี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่กับผู้ที่เข้าถึงสินเชื่อสัดส่วน 10% แรก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีหนี้กว่า 61.2% ของหนี้รวมทั้งหมด และคนที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และอำเภอเมืองจังหวัดต่างๆ เป็นหลัก

นางสาวโสมรัศมิ์กล่าวว่า สำหรับการเข้าถึงสินเชื่อปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 24% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่การเข้าถึงสินเชื่ออยู่ที่ 18% หนี้เฉลี่ยต่อหัวปัจจุบันอยู่ที่ 1.32 แสนบาท เพิ่มขึ้นกว่า 92% จากปี 2552 อยู่ที่ 6.91 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการเข้าถึงสินเชื่อของคนที่ไม่เคยเข้าถึงและคนที่เข้าถึงสินเชื่อมีการกู้มากขึ้น ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นกลุ่มคนที่มีหนี้อยู่แล้วและมีหนี้เพิ่มมากขึ้นมากที่สุด ทั้งนี้ ยังพบว่าคนอายุ 31 ปี กว่า 50% สามารถเข้าถึงสินเชื่อมากที่สุด ส่วนกลุ่มอายุ 35-60 ปี พบว่าเป็นกลุ่มที่มีปริมาณหนี้สูง สะท้อนว่าทำไมคนที่กำลังจะเกษียณแต่ยังมีหนี้สูง ขณะที่กลุ่มคนอายุหลังเกษียณ 70-80 ปีก็ยังมีหนี้ทรงตัวในระดับสูงจากก่อนเกษียณ ซึ่งมีความเสี่ยงว่าจะมีรายได้ส่วนไหนในอนาคตมาชำระคืนหนี้

“สินเชื่อค้างชำระที่มีโอกาสค้างชำระมีกว่า76% ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยภาคใต้มีผู้ค้างชำระสินเชื่อมากที่สุด ภาคเหนือมีจำนวนน้อยที่สุด และพบว่าผู้ค้างชำระสินเชื่อมากที่สุดอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มต้นทำงานและเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งหากค้างชำระสินเชื่อมากขึ้นจะมีผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อของคนกลุ่มนี้ในระยะต่อไปได้” นางสาวโสมรัศมิ์กล่าว

นายอธิภัทร มุฑิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นรวดเร็วในปี 2554 เป็นผลจากมาตรการรถยนต์คันแรก ทำให้คนที่กู้อยู่แล้วกู้มากขึ้นและทำให้คนที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อมีการกู้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอายุ 25-35 ปี

ทั้งนี้ หากแยกเฉพาะมาตรการรถคันแรก ทำให้กลุ่มผู้กู้ที่ไม่เคยกู้มาก่อนเข้ามากู้ในระบบมากที่สุด และเมื่อกู้ตอนที่ยังไม่มีความพร้อมทำให้ความเข้มแข็งด้านการเงินมีน้อยกว่าคนที่ซื้อรถในภาวะปกติที่มีความพร้อมทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ไม่เฉพาะการผิดนัดชำระหนี้ ไม่เฉพาะหนี้รถเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตด้วย

“การให้แรงจูงใจซื้อสินค้าคงทนมีผลโดยตรงต่อจีดีพี แต่มีผลกระทบทางลบกับผู้กู้อย่างมีนัยสำคัญ แนวโน้มการชำระหนี้ลดลงและมีการก่อหนี้ใหม่” นายอธิภัทรกล่าว