คณะโขนพระราชทาน 300 ชีวิต จัดพิธีคำนับครูก่อนเริ่มฝึกซ้อมใหญ่ ถวายพระเกียรติสูงสุด

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 ตุลาคม ที่วิทยาลัยนาฏศิลปศาลายา จังหวัดนครปฐม คณะโขนพระราชทาน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่จะแสดงในเวทีกลางแจ้งบริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดพิธีคำนับครู ซึ่งมี ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และผู้อำนวยการผลิตโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นประธานในพิธี โดยมีนายสมบัติ แก้วสุจริต อดีตผู้ตรวจราชการ วธ. ผู้ได้รับพระราชทานครอบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2527 เป็นผู้ประกอบพิธี และมีคณะทำงาน อาทิ นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้ออกแบบและจัดทำบท ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการโขนพระราชทาน รวมถึงนักแสดง ครูนาฏศิลป์ เข้าร่วมพิธีกว่า 300 คน

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าวภายหลังเสร็จพิธีว่า โขนพระราชทานได้เตรียมการตามรับสั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชประสงค์ให้โขนพระราชทานมาจัดแสดงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งก็ได้เตรียมงานร่วมกับกรมศิลปากร จนได้บทมาทำการฝึกซ้อมเรื่อยมา โดยที่ผ่านมาได้คัดเลือกนักแสดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่เคยผ่านการคัดเลือกแสดงโขนพระราชทานในหลายรุ่น ซึ่งทุกคนมีความตั้งใจอยากถวายงานอย่างสุดหัวใจ ทุ่มเททุกอย่าง นำสิ่งที่ครูอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทวิชามาทำการแสดง

“โขนพระราชทานตอนนี้มีความพร้อมแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เครื่องแต่งกายที่มีการปรับปรุงและปักใหม่จนถือว่ามีชุดตัวแสดงครบทุกตัวละคร อาทิ ชุดพระนารายณ์ ซึ่งการปักก็ทำได้อย่างสวยงามไม่มีผิดพลาดอะไรเลย เพราะอาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย (ผู้จัดทำเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ) ได้สอนนักเรียนศิลปาชีพจากที่ต่างๆ อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ส่วนเรื่องฉากการแสดงก็มีความพร้อมมากแล้ว แม้จะนำฉากทั้งหมดไปจัดแสดงไม่ได้ แต่ก็ถ่ายภาพเพื่อนำขึ้นจอประกอบเทคนิค ซึ่งจะทำให้น่าชม อย่างไรก็ดี การแสดงในเวทีมหรสพต่างๆ ทุกคณะทำกันอย่างเต็มที่ ก็คิดว่าจะทำได้ออกมาอย่างสมพระเกียรติ” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าว

ขณะที่ ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการโขนพระราชทาน กล่าวว่า พิธีคำนับครูเป็นพิธีโบราณที่มุ่งหวังจะให้กำลังใจนักแสดง ในการน้อมนำคำสอนครูอาจารย์มาทำการแสดง ขณะที่ภายหลังพิธีวันนี้ยังเป็นการซ้อมรวมครั้งแรกของนักแสดงกว่า 300 ชีวิตที่ทำการแสดงในครั้งนี้ จากที่ผ่านมาได้นำบทไปฝึกซ้อมกันเองตามวิทยาลัยนาฏศิลป์ โดยจะฝึกซ้อมไปจนถึงวันที่ 23-24 ตุลาคม ที่จะไปซ้อมใหญ่ในเวทีจริงที่ท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือ ในเวลาระหว่าง 16.00 – 22.00 น. เพื่อซ้อมร่วมกับเทคนิคแสงสีเสียงจริง ทั้งนี้ การแสดงในเวทีมหรสพครั้งนี้ถือเป็นการแสดงกลางแจ้งของโขนพระราชทาน ซึ่งต้องใช้เทคนิคมัลติมีเดียมาช่วย อย่างการฉายฉากผ่านจอขนาดใหญ่ การติดรอกสลิงเพื่อรองรับการแสดงเหาะเหินเดินอากาศ ซึ่งต้องทำให้ปลอดภัยและไม่ทิ้งเอกลักษณ์ความเป็นโขนพระราชทาน

สำหรับโขนพระราชทานจะจัดแสดงในวันที่ 26 ตุลาคม ภายหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ประมาณเวลา 22.00 น. ณ เวทีที่ 1 ท้องสนามหลวงฝั่งทิศเหนือ โดยจะทำการแสดงเป็นลำดับที่ 2 หลังจากการแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ ทั้งนี้ ได้นำเรื่องรามเกียรติ์มาจัดแสดง แบ่งจัดการแสดงออกเป็น 3 ตอนใหญ่ ได้แก่ 1.ตอนรามาวตาร ซึ่งเป็นต้นเรื่องของการแสดง กล่าวถึงพระมหาฤาษีทั้งห้าขึ้นไปกราบทูลพระอิศวร และเชิญพระนารายณ์ให้อวตารลงมาเป็นพระราม เพื่อปราบอสูร เหล่าเทพบุตรต่างๆได้ร่วมอาสาลงมาเป็นพลวานร ทั้งพระลักษณ์และเทพอาวุธ ตลอดบัลลังก์นาคก็อาสาลงมาจุติ เพื่อเป็นกำลังของพระนารายณ์

2.ตอนนางสีดาหายและพระรามได้พล ซึ่งกล่าวถึงพระรามรับสัตย์จากพระบิดาออกเดินทางมาอยู่ป่าเป็นเวลา 14 ปี พระลักษณ์ อนุชาและนางสีดา มเหสีติดตามมาด้วย ทศกัณฑ์ใช้อุบายลักนางสีดาพาขึ้นราชรถเหาะมาพบนกสดายุเข้าขัดขวาง แต่นกสดายุพ่ายแพ้ เมื่อพระรามพระลักษณ์ติดตามมาพบนกสดายุบาดเจ็บอยู่ จึงทราบเหตุการณ์ทั้งหมด พระรามโศกเศร้า เข้าพักใต้ต้นหว้าใหญ่ หนุมานซึ่งถูกพระอุมาสาปมาพบเข้า จึงอาสาไปนำสุครีพ อุปราชเมืองขีดขินเข้ามาเฝ้าถวายไพร่พลเป็นกองทัพใหญ่ติดตามไปทำสงครามกับทศกัณฑ์

และ 3.ตอนขับพิเภก ซึ่งทศกัณฑ์เมื่อลักพานางสีดามาไว้ที่อุทยานท้ายกรุงลงกาแล้ว วันหนึ่งทศกัณฑ์เกิดนิมิตฝันเป็นลางร้าย จึงให้พิเภกทำนาย พิเภกทูลให้ส่งคืนนางสีดาแก่พระราม ทศกัณฑ์โกรธจึงขับไล่ออกจากเมือง พิเภกไปสวามิภักดิ์กับพระราม และถวายสัตย์สุจริต เหล่าเทพบุตรนางฟ้าจึงร่วมกันแสดงความยินดีในสัตย์สุจริตของพิเภก โดยการแสดงทั้งหมดใช้เวลา 2 ชั่วโมง จากนั้นจะเป็นการแสดงของกรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และวิทยาลัยนาฏศิลป์ ในเรื่องรามเกียรติ์ตอนต่อไป อาทิ พระรามข้ามสมุทร ศึกทศกัณฐ์สีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร เป็นตอนๆจนจบเรื่องประมาณช่วงเช้ามืดของวันที่ 27 ตุลาคม

ขณะที่ นายธงไชย โกวิฬาร อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รับบทบาท ‘พระราม’ ในโขนพระราชทานแสดงเวทีมหรสพสมโภช กล่าวด้วยสีหน้าภูมิใจว่า บทพระรามมีนักแสดงอยู่ 2 คน ตนคือหนึ่งในนั้น ก็รู้สึกภูมิใจและถือเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลอย่างมาก เพราะการได้รับโอกาสนี้ทำได้ยาก แม้จะเรียนด้านนาฏศิลป์มาตั้งแต่มัธยมต้น และเคยแสดงในโขนพระราชทานมาหลายครั้ง ได้แก่ ตอนโมกขศักดิ์ นาคบาศ พรหมมาศ และล่าสุด พิเภกสวามิภักดิ์ ที่ยกเลิกการแสดงไปก่อนในปี 2559 ซึ่งก็แสดงบทพระลักษณ์ พระราม แต่ก็ต้องฝึกซ้อมอยู่ตลอด ยิ่งได้รับบทบาทสำคัญในการแสดงครั้งยิ่งใหญ่ ตนยิ่งต้องฝึกซ้อมหนักเป็นพิเศษ โดยที่ผ่านมาฝึกซ้อมทุกวัน ทั้งอ่านบทให้เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกพระราม การฟิตซ้อมร่างกายที่ต้องเริ่มจากพื้นฐานการใช้นิ้ว เอว และเข่า

นายธงไชย กล่าวอีกว่า ประทับใจในหลวงร.9 ที่ทรงเป็นต้นแบบทุกอย่าง ทรงเป็นผู้นำ ทรงเป็นพ่อที่ดีทำเพื่อลูกๆ พระองค์ยังสอนให้พอเพียง ขยันหมั่นเพียร มุมานะ ซึ่งตนน้อมนำมาปฏิบัติตลอด อย่างไรก็ดี ตั้งใจจะเป็นคนดี และจะเป็นครูด้านนาฏศิลป์ เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมล้ำค่าสู่รุ่นลูกหลานต่อไป

ดร.สุรัตน์ จงดา
นายธงไชย โกวิฬาร