ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจราคาสินค้าและบริการจำนวน 387 รายการครัวเรือนผู้บริโภครายได้น้อย เขตเมืองทั่วประเทศ ที่มีรายได้ 4,200-21,000 บาท/เดือน สมาชิกครัวเรือน 1-5 คน อาศัยในเขตเทศบาลของกรุงเทพฯ/ปริมณฑล ทั้งประเทศ เดือน ก.ย. 2560 พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภครายได้น้อยรวมทุกรายการมีการปรับตัวสูงขึ้น 0.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุมาจากกลุ่มตัวอย่างใช้จ่ายไปกับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ถึง 45.12% เช่น อาหารบริโภคในบ้าน 11.20% เนื้อสด เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 8.17% หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 54.88% เช่น เคหสถาน 24.60% หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร 15.80%
ส่วนการสำรวจราคาสินค้าและการบริการ จำนวน 338 รายการครัวเรือนผู้บริโภคเขตชนบทของประเทศหรือเกษตรกร ที่มีรายได้ 8,500-40,000 บาท/เดือน สมาชิกครัวเรือน 1-5 คน ที่อาศัยนอกเขตเทศบาล ซึ่งผลจากการสำรวจพบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในเขตชนบทของเดือน ก.ย. 2560 รวมทุกรายการปรับตัวสูงขึ้น 0.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนการใช้จ่ายสูงสุดของกลุ่มตัวอย่างในกลุ่มนี้ใช้จ่ายไปกับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงสุด 42.63%
ผลการสำรวจดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการใช้วัดค่าครองชีพของประชาชนผู้มีรายได้ในเขตเมืองเช่น ผู้ใช้แรงงาน ใช้เป็นแนวทางให้กับภาครัฐในการปรับค่าจ้างแรงงาน ใช้วัดค่าครองชีพของประชาชนที่เป็นเกษตรกร เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพ วัดผลความสำเร็จของการพัฒนาชนบท ใช้จัดทำเส้นความยากจนนอกเขตเมือง รวมทั้งแนวทางการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มุ่งเน้นลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งผลการสำรวจพบว่ากลุ่มเป้าหมายใช้จ่ายไปกับสินค้ากลุ่มอาหาร รวมทั้งปรุงอาหารเพื่อรับประทานในครัวเรือนค่อนข้างมาก ดังนั้นสินค้าที่จำหน่ายในโครงการดังกล่าวควรเพิ่มความหลากหลายให้มากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าที่เป็นหมวดอาหาร ผัก เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ส่วนการเพิ่มวงเงินในบัตรนั้นตนไม่สามารถให้ความเห็นได้เพราะเป็นเรื่องของนโยบายที่จะกำหนด
ส่วนผลของการมีโครงการธงฟ้าประชารัฐ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั้งปีที่คาดการณ์ไว้หรือไม่นั้น ต้องใช้เวลาประเมินอย่างต่ำ 2-3 เดือน แต่ก็ไม่ได้วิตกเพราะการทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้บางส่วนเท่ากับว่าประชาชนจะมีเงินในกระเป๋าเหลือมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ประชาชนนำเงินในส่วนนี้ไปใช้จ่ายในส่วนอื่นทดแทน ทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ทาง สนค. จะมีการรายงานผลการสำรวจส่วนนี้ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงปลัดกระทรวงพาณิชย์ทราบ เพื่อนำไปพิจารณาปรับรายการสินค้าให้เหมาะสมต่อไป