เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม แบบจำลองภูมิอากาศ(วาฟ) สถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ระบุว่า พายุไต้ฝุ่นขนุน ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน โดยช่วงเวลาประมาณ 15.00 น.อยู่ห่างจากประเทศไทยจากจุด อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ประมาณ 346 กิโลเมตร โดยเวลาประมาณ 19.00 น. พายุไต้ฝุ่นขนุน จะเจอกับหย่อมความกดอากาศสูง ทำให้อ่อนกำลังลง จากนั้นก็จะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว แล้วหายไปเลยตั้งแต่ยังไม่ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม จึงไม่มีผลกับประเทศไทยโดยตรง อย่างไรก็ตาม ทำให้ร่องมรสุมจากเดิมที่จะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ก็จะเปลี่ยนไปพาดผ่านทางภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ทำให้ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม มรสุมจะเลื่อนกลับลงมาบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออกอีกครั้ง ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงมากขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบริเวณเขตดุสิต ดินแดง จตุจักร บางพลัด หลักสี่ วังทองหลาง และฝั่งตะวันออก และปริมณฑล รวมทั้งภาคตะวันตกบางพื้นที่ คือ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี มีฝนตกหนัก ถึงหนักมาก ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 17 ตุลาคม ถึงเวลากลางคืน และตกข้ามไปจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ของวันที่ 18 ตุลาคม เพราะฉะนั้นกรุงเทพมหานคร จะต้องเตรียมการรับมือกับฝนตกหนักอีกระลอก
แบบจำลองสภาพอากาศ คาดการณ์ด้วยว่า ปริมาณน้ำฝนตั้งแต่บ่ายวันที่ 17 ตุลาคมนั้น อาจจะไม่หนักเท่าปริมาณน้ำฝนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่แนวร่องมรสุมปกคลุมค่อนข้างกว้าง คาดว่าปริมาณน้ำฝนสะสมน่าจะอยู่ตั้งแต่ 60-100 มิลลิเมตร หรือมากกว่านี้