ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กรมอุตุฯเตือนอีกพายุ “ขนุน” ร่องมรสุมทำให้มีฝนตกต่อเนื่องทั่วประเทศ ขณะที่อ่างทองยังวิกฤต เจ้าพระยาทะลักท่วมป่าโมก ชาวบ้านอพยพวุ่นกลางดึก เทศบาลระดมกำลังขนกระสอบทรายอุด-ทำคันกั้นน้ำ ส่วนที่สิงห์บุรีประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 3 อำเภอ กระสอบทรายกั้นน้ำชำรุดน้ำไหลท่วมบ้าน ต้องขนข้าวของหนีมากางเต็นท์นอนบนถนน พัทยาก็อ่วมน้ำท่วมขังหลายจุด ต้นไม้ใหญ่หักโค่นทับรถบัสรับ-ส่งพนักงานระทึก
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 1 เรื่อง พายุ “ขนุน” (KHANUN) พายุดีเปรสชันบริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ขนุน” แล้ววันนี้ (13 ต.ค.60) เวลา 10.00 น. ได้เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 119.4 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 26 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีน และประเทศเวียดนามตอนบน
ในช่วงวันที่ 15-17 ต.ค.60 พายุจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทั้งนี้ เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ปกคลุมประเทศเวียดนามและลาวตอนบน โดยพายุนี้ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยในระยะ 1-2 วันนี้ อนึ่งร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้
ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน และการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 10-12 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี กำแพงเพชร สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ ชัยนาท และตาก รวม 26 อำเภอ 187 ตำบล 1,045 หมู่บ้าน 1 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,633 ครัวเรือน 121,317 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่จ.อ่างทอง เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา บริเวณตลาดเทศบาลป่าโมก อ.ป่าโมก น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทะลักเข้าท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ มีทั้งบ้านเรือนประชาชน ห้างร้าน สถานีขนส่งอำเภอป่าโมก และโรงเรียน เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังเข้าช่วยเหลือกันโกลาหล โดยบ้านที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำทะลักเข้ามาอย่างเร็วและไหลแรง น้ำท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม. และขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ประชาชนต่างตื่นตระหนกขนย้ายข้าวของหนีน้ำ และรีบนำยานพาหนะออกไปไว้ที่ถนนสูงอย่างโกลาหล โดยเทศบาลป่าโมกได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ขนกระสอบทรายเข้าไปอุดและทำคันกั้นน้ำ ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยายังเพิ่มการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง และให้ประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ด้านนายศิวกร นิรันดร นายกอบต.จำปาหล่อ ลงพื้นที่ตรวจดูถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ที่ 1 ต.จำปาหล่อ อ.เมืองอ่างทอง ซึ่งสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา จะข้ามถนนเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่อีกฝากถนน ก่อนสั่งการให้นำดินมาถมบนถนนที่เป็นจุดเสี่ยง และใช้รถแบ๊กโฮปรับเป็นคันดินกั้นน้ำขึ้นมาป้องกันซึ่งหากไม่นำดินไปทำเป็นคันกั้นน้ำเอาไว้ น้ำอาจไหลข้ามถนนได้
ส่วนในพื้นที่จ.ชลบุรี เกิดฝนตกหนักลมกระโชกแรง และเกิดเหตุต้นตีนเป็ดขนาดใหญ่อายุกว่า 50 ปี หักโค่นล้มทับรถบัสรับส่งพนักงาน บนถนนสายบึง-ปากร่วม หมู่ที่ 6 ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา ทำให้รถติดเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร นอกจากนั้นยังล้มทับร้านจำหน่ายเครื่องเสียงติดรถยนต์ริมถนนอีก 2 ร้านพังเสียหาย เคราะห์ดีที่ไม่มีใครอยู่ในร้าน อีกทั้งยังทำให้เสาไฟฟ้าล้มหลายต้น เจ้าหน้าที่ต้องเร่งตัดต้นไม้และปักเสาไฟฟ้าแทนต้นที่หัก และจากเหตุการณ์นี้ทำให้รถติดสะสมยาวหลายกิโลเมตร ขณะที่เมืองพัทยาเกิดเหตุน้ำท่วมขังหลายจุด เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังตามจุดน้ำท่วมขังต่างๆ ช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยว ประสบปัญหาน้ำท่วมจนเครื่องยนต์ยานพาหนะขัดข้อง
วันเดียวกันที่จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เรียกประชุมด่วนคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น เพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ เนื่องจากน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณ 2,726 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 112 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลเข้าประมาณ 119.25 ล้านลบ.ม. โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า มีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำจะไหลเข้าอ่างอีกจำนวนมาก ทำให้ในขณะนี้ต้องกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำแบบขั้นบันได และสถานีอุตุนิยมวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรายงานว่า วันนี้และวันพรุ่งนี้ยังคงมีฝนตกในพื้นที่แล้วยังจะตกหนักอีกครั้งวันที่ 16-17 ต.ค. ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์มากขึ้น โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ระบุว่า หากปล่อยให้มีการระบายน้ำสูงถึงวันละ 68 ล้านลบ.ม. จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำประกอบด้วย อ.อุบลรัตน์ 5 ตำบล อ.น้ำพอง 7 ตำบล และอ.เมืองขอนแก่น 11 ตำบล รวมพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 150,000 ไร่
วันเดียวกันที่ศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกรู ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พล.ต.สุริยนต์ เฉียงตะวัน เป็นผู้แทนพระองค์ ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภค บริโภค 1,700 ชุด มอบให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ครอบครัวราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.โพธิ์ ประทับช้าง และที่ตำบลบางลาย