กทม. อ่วมแน่ น้ำเหนือ-น้ำหนุน ริมเจ้าพระยา เฝ้าระวัง 24 ชม. อยุธยาวุ่นคันกั้นน้ำแตก!!

กทม. เกาะติดสถานการณ์น้ำ คาด 19 ต.ค. นี้ ปริมาณมากถึง 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาที 400 หลัง นอกเขื่อนกระทบแน่ อยุธยาวุ่น! คันกั้นน้ำหน้าวัดสนามไชยแตก น้ำจากแม่น้ำน้อยทะลักเข้าท่วมวัด บ้านชาวบ้าน ต้องขนของหนีน้ำวุ่น อ่างทองน้ำเจ้าพระยาทะลัก ท่วมตลาดป่าโมกกลางดึก กรมชลฯ เร่งระบายน้ำเข้าแก้มลิง รอรับมวลน้ำจากภาคเหนือ ยันปริมาณน้ำยังห่างปี’54 ตร.ไทรโยกหวิดดับ ตามจับคนร้ายในป่า ถูกน้ำป่าซัดรถจม

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ลุ่มภาคกลาง ซึ่งต้องรับมือกับน้ำจากเขื่อนใหญ่ทั้งเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ต่างเร่งระบายน้ำไว้รอรับน้ำจำนวนมากจากภาคเหนือและอีสาน

เมื่อเวลา 11.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.ทสส. เผยว่า ที่ประชุมได้หารือการเตรียมการสนับสนุนรัฐบาลโดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยได้เตรียมแผนช่วยเหลือ ตลอดจนการป้องกัน โดยให้นำประสบการณ์ที่ผ่านมามาปรับใช้ ดูจากสถิติการปล่อยน้ำในเขื่อน

“ยอมรับว่าเป็นห่วงฝนที่จะตกเพิ่มลงมาจะทำให้ประชาชนที่ประสบน้ำท่วมขยายวงกว้างเพิ่มไปอีก แต่เราได้เตรียมการป้องกันในเรื่องของกระสอบทรายและการโยกย้ายเครื่องมือหนักเพื่อเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าน้ำจะไม่ท่วมเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เนื่องจากเรามีการเตรียมการเป็นอย่างดี” ผบ.ทสส. กล่าว

ด้าน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าวที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีความห่วงใยและสั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกองทัพบก เตรียมกำลังพลลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะด้านท้ายเขื่อน ตนได้สั่งการให้กองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และกองทัพภาคที่ 3 ไปเตรียมความพร้อมและส่งคนเข้าไปช่วยเพิ่มเติม ทั้งนี้ จากการที่ตนลงพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดว่าได้เตรียมพื้นที่รองรับน้ำเอาไว้ 7 พื้นที่ เนื้อที่ประมาณ 6 แสนไร่ รองรับน้ำประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำในปีนี้ไม่ได้แตกต่างจากปริมาณน้ำในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่การบริหารจัดการที่ผ่านมาทั้งกรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการได้ดี ประชาชนจึงได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งซึ่งไม่มากนัก คาดว่า 2 สัปดาห์ทุกอย่างจะคลี่คลาย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำปริมาณมาก โดยการติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และทุก 6 ชั่วโมง กรมชลประทานต้องรายงานความคืบหน้าและสถานการณ์มายังตนโดยตรง โดยสั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์และตรวจสอบระบบชลประทานตลอดเวลา บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้วางแผนการจัดจราจรน้ำ โดยพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมประจำให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องมืออื่นเตรียมพร้อมไว้ด้วย และที่สำคัญคือ การบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน ห้วยหลวง น้ำอูน น้ำพุง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ บางพระ ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา และกระเสียว ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ระหว่าง 80-100% จำนวน 168 แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่า 100% จำนวน 167 แห่ง และเต็มความจุ 100% จำนวน 100 แห่ง

สำหรับสถานการณ์น้ำในภาคอีสาน หลังจากฝนตกหนักระหว่างวันที่ 9-11 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อ่างขนาดใหญ่เต็มความจุแล้วประมาณ 2-3 แห่ง และอีกประมาณ 2 แห่งน่าจะเต็มเร็วๆ นี้ ส่วนภาคเหนือบริเวณจังหวัดลำปางมีน้ำเต็มอ่างแล้ว 2-3 แห่ง ส่วนเขื่อนภูมิพลมีความจุประมาณ 66% จึงสามารถดักน้ำที่ไหลจากภาคเหนือได้หมด กรมจึงได้ประสานไปยังฝ่ายปกครอง และประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบ เนื่องจากต้องเร่งพร่องน้ำรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจเกิดขึ้น

“ปีนี้ปริมาณน้ำไม่ได้มากเท่าปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจ.นครสวรรค์ สูงถึง 4,600 ลบ.ม. ต่อวินาที ปีนี้ปริมาณน้ำอยู่ที่ 2,600 ลบ.ม. ต่อวินาที ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่เกิดจากน้ำฝนในพื้นที่ ไม่ได้เกิดจากน้ำหลากเข้าท่วม ซึ่งกรมจะพยายามรักษาปริมาณน้ำให้อยู่ต่ำกว่าตลิ่ง สัปดาห์นี้กรมจะพยายามเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่อาจเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า รวมทั้งปริมาณน้ำทะเลที่หนุนสูง โดยระบายน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลโดยตรง นอกจากนี้ จะระบายเข้าพื้นที่แก้มลิงอีก 2 แห่งที่ยังระบายน้ำเข้าไปไม่เต็ม โดยยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 400 ล้านลบ.ม.” นายสมเกียรติ กล่าว

ที่จ.ลพบุรี ชาวบ้านดอนมะกัก หมู่ที่ 4 ต.เขาพระงาม อ.เมืองลพบุรี กว่า 200 ครัวเรือนต่างรีบขนย้ายสิ่งของหนีน้ำกันจ้าละหวั่น หลังมีมวลน้ำหลากมาจากอ.บ้านหมี่ เข้าท่วมพื้นที่บางจุดระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร ชาวบ้านเล่าว่าน้ำเข้ามาเมื่อช่วงสายของวันนี้ โดยมีระดับเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 5 ซม. ซึ่งขณะนี้มีระดับน้ำบนถนนอยู่ที่ 65 ซม. ในบ้านที่เป็นแอ่งกระทะระดับน้ำสูงถึง 2 เมตรเศษ เรือกสวน ไร่นา บ่อปลา บ่อกบ หลายร้อยไร่ต้องจมหายไปกับสายน้ำ ขณะเดียวกัน น้ำระลอกใหม่ที่เกิดจากฝนตกลงมาเพิ่ม ได้เพิ่มจำนวนสูงขึ้น รถเล็ก-ใหญ่ไม่สามารถสัญจรในหมู่บ้านได้ ล่าสุดทางเทศบาลตำบลเขาพระงามได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และได้จัดเตรียมที่พักชั่วคราว โรงครัว สุขาเคลื่อนที่ ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้แล้ว

ขณะที่บริเวณตลาดเทศบาลป่าโมก จ.อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นทะลักเข้าท่วมทางเข้าและพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียนอนุบาลวงศ์สวัสดิ์วิทยา ถนนและร้านค้าได้รับความเสียหาย นางเสงี่ยม เจริญใจ อายุ 62 ปี เจ้าของร้านชำกล่าวว่า น้ำเข้าท่วมอย่างรวดเร็วเมื่อตอนตีสอง เก็บข้าวของแทบไม่ทัน โดยน้ำที่ไหลเข้ามาเป็นน้ำทะลุผ่านรอยต่อระหว่างคันดิน และไหลผ่านตามช่องปูนเข้ามา

ส่วนสถานการณ์น้ำในจ.อ่างทองในวันนี้ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทองสูงอยู่ที่ 8.51 เมตร/ระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 0.13 เมตร/รทก. สูงกว่าระดับเตือนภัยที่ 1.58 เมตร/รทก. ต่ำกว่าระดับวิกฤตที่ 0.15 เมตร/รทก. ปริมาณน้ำไหลผ่านจ.อ่างทองที่ 2,310 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 215 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ทางเขื่อนเจ้าพระยาระบายที่ 2,386 ลบ.ม./วินาที ในภาพรวมของจังหวัดได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 5 อำเภอ มีบ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 5 อำเภอ (1 ชุมชน 27 ตำบล 75 หมู่บ้าน) จำนวน 1,636 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจำนวน 3,595 ไร่ เกษตรกรเดือดร้อน 378 ราย

เมื่อเวลา 17.30 น. วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดสนามไชย ม.10 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา คันกั้นน้ำที่อยู่ติดกับริมแม่น้ำน้อยเกิดพังลงมา ความกว้างประมาณ 1 เมตร ทำให้น้ำเข้าท่วมวัดสนามไชยและบ้านเรือนประชาชน พระสงฆ์และชาวบ้านต่างเร่งช่วยกันขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงเป็นการด่วน ซึ่งคันกั้นน้ำดังกล่าวทางอบต.บ้านป้อมใช้กระสอบทรายกั้นเอาไว้ นายอภิชาต สุขสมบูรณ์ นายกอบต.บ้านป้อม เผยว่า สาเหตุเกิดจากเรือบรรทุกทรายวิ่งผ่าน จนคลื่นซัดมาที่คันกั้นน้ำ ขณะนี้ทางอบต. พร้อมหน่วยกู้ภัยอยุธยาอยู่ระหว่างทำการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

วันเดียวกันเกิดเหตุระทึกขึ้นในพื้นที่อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี โดยพ.ต.อ.ธานี สงวนจีน ผกก.สภ.ไทรโยค เผยว่า วันนี้ชุดสืบสวนสภ.ไทรโยค นำโดย พ.ต.ท.สนธยา ฉายเกียรติขจร สว.สส. นำกำลังติดตามจับกุมตัวนายอุดม เฆมสำลี อายุ 37 ปี ผู้ต้องหาฆ่านายปัญญา เสริมสุข อายุ 46 ปี ซึ่งเป็นพี่เขยเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยสามารถจับกุมตัวนายอุดมได้บริเวณกลางป่าวังใหญ่-แม่น้ำน้อย ม.5 ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จึงควบคุมตัวผู้ต้องหาเดินทางกลับสภ.ไทรโยค แต่ขณะรถของเจ้าหน้าที่ขับผ่านลำห้วยวายอ จู่ๆ เกิดน้ำป่าพัดลงมาอย่างแรง ชั่วครู่เดียวระดับน้ำท่วมสูงจนเกือบมิดกระบะทำให้เครื่องยนต์ดับคาอยู่กลางลำห้วย เจ้าหน้าที่เห็นท่าไม่ดีจึงกระโดดลงน้ำนำผู้ต้องหาว่ายเข้าฝั่ง จนรอดจากการถูกกระแสน้ำพัดไปได้อย่างหวุดหวิด ต่อมาจึงวิทยุขอกำลังสนับสนุนเข้าไปพาตัวทั้งหมดออกมาจากป่าด้วยความปลอดภัย

กรมอุทกศาสตร์ ออกประกาศเรื่อง สภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ และพื้นที่ใกล้เคียงในระหว่างวันที่ 7-11 ต.ค. ระหว่างเวลาประมาณ 07.00-11.00 น. และ 18.00-21.00 น. ฉบับที่ 10 โดยระบุว่า วันที่ 1-11 ต.ค. เวลาประมาณ 07.00-11.00 น. และ 18.00-21.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำเหนือไหลมาในปริมาณมาก ลักษณะดังกล่าวอาจทำให้ระดับแม่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงกว่าปกติ ซึ่งคาดหมายว่าปริมาณน้ำหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ และพื้นที่ใกล้เคียง ระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.70-1.85 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงขอให้ระมัดระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระดับน้ำดังกล่าว และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าน้ำวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี น้ำขึ้นสูงจนประชาชนที่ใช้บริการต่างได้รับผลกระทบเดินทางได้อย่างลำบาก

ขณะที่ นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่ กทม. ได้ประสานงานร่วมกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถระบายน้ำได้ 2,300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที จากเดิม 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที โดย กทม. คาดว่าปริมาณน้ำจะสูงถึง 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาที ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ เนื่องจากเร่งระบายน้ำจากภาคเหนือ ทำให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมากขึ้น ซึ่งกรมชลฯ ก็มีแผนในการผลักดันน้ำไปยังภาคตะวันออกและบางส่วนของภาคตะวันตก ทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา และอาจทำให้พื้นที่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบบางส่วน แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ ยกเว้นชุมชนที่อาศัยอยู่นอกแนวป้องกันริมแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 400 ครัวเรือน เรียกได้ว่าเป็นการติดตามชั่วโมงต่อชั่วโมง เพื่อติดตามผลกระทบจากอิทธิผลการปล่อยน้ำและสถานการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง รวมถึงน้ำเหนือด้วย

นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า ฝนที่ตกลงมาในช่วง 1-2 วันนี้ อาจทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจาก กทม. ได้มีแผนบริหารจัดการน้ำฝนปิดล้อมปริมาณน้ำทั้งหมด โดยการลำเลียงปริมาณน้ำฝนในระบบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่รอบนอก ซึ่ง กทม. ก็พยายามเร่งระบายน้ำส่วนนี้ให้แห้งเป็นปกติภายใน 1-2 ชั่วโมงหรือตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ส่วนในกรณีของน้ำเหนือและน้ำหนุนนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง แต่มั่นใจว่ารับมือได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 08.30 น. วันที่ 12 ตุลาคมนี้ พล.ต.อ.อัศวิน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลงเรือบริเวณท่าเรือกองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยง หรือบริเวณใต้สะพานสมเด็จ พระปิ่นเกล้า เพื่อตรวจความเรียบร้อยตามแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาและเยี่ยมชุมชนที่อาศัยอยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์