กรมควบคุมโรค ประชุมนักกฎหมาย จ่อฟัน ‘เครื่องกดเบียร์’ ร้านสะดวกซื้อ

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากกรณีที่กรมควบคุมโรคได้รับภาพถ่ายร้องเรียนเกี่ยวกับตู้กดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบ ณ ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งย่านเยาวราช เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการลงพื้นที่ยังไม่พบการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากร้านค้าได้ระงับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากตู้กดและได้ใช้ผ้าคลุมตู้กดดังกล่าวไว้

นพ.อัษฎางค์กล่าวว่า ทั้งนี้ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้ตู้กดดังกล่าวจะเป็นความผิดตามมาตรา 30 (1) การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ และมาตรา 32 ว่าเข้าข่ายเป็น “การสื่อสารการตลาด” ซึ่งถือเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นการแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 หรือไม่นั้น กรมควบคุมโรคจะได้นัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธาน และมีอนุกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิเทศศาสตร์ โดยจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการดังกล่าวอย่างเร่งด่วนภายในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าวต่อไป

“ขณะนี้กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างประสานงานกับกรมสรรพสามิตว่า การขายเบียร์สดผ่านตู้กดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะดังกล่าว ต้องได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 หรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้รับการประสานจากผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อดังกล่าว โดยได้แจ้งให้ทราบว่าร้านสะดวกซื้อในสาขาที่มีการติดตั้งตู้กดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกแห่งได้ระงับการขายและมิให้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับตู้กดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าวแล้ว” นพ.อัษฎางค์กล่าว และว่า กรมควบคุมโรคขอยืนยันว่าไม่สนับสนุนให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่อื่นๆ เช่นเดียวกันกับการขายแบบเครื่องกดในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ตระหนักถึงพิษภัยที่เป็นปัญหาสร้างผลกระทบทางด้านสังคมเศรษฐกิจ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย หากประชาชนพบเห็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขอให้ร้องเรียนมายังสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร 0-2590-3342 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ที่มา มติชนออนไลน์