ระรวยรินกลิ่น ‘ปาริชาต’ ‘ดอกไม้ส่งเสด็จ’ พ่อหลวง ร.9

เพียงแค่ก้าวเข้าไปในอาคารโรงโขน โรงเรียนพระตำหนักจิตรลดา ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งขณะนี้เป็นพื้นที่สำหรับจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีทั้งนักเรียนจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ นักศึกษาโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) รวมทั้งจิตอาสา ขะมักเขม้นนั่งประดิดประดอยดอกไม้เฟื่อง ดอกไม้ไหว อย่างประณีตบรรจงสุดหัวใจ

กลิ่นของน้ำปรุงแบบไทยพาให้จินตนาการย้อนกลับไปในยุคสมัยของแม่พลอยในสี่แผ่นดิน

นี่คือกลิ่นของน้ำปรุง เป็นเครื่องหอมของราชสำนักแต่โบราณ ที่ บุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการกองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง บอกว่า ปรุงขึ้นเป็นพิเศษ 300 ลิตร โดยใช้ดอกไม้นานาพรรณ เพื่อให้ได้เป็นกลิ่นน้ำสุคนธ์สำหรับดอกปาริชาต ดอกไม้ในตำนานดาวดึงส์ที่ได้รับการเลือกสรรขึ้นมาเป็นหัวใจของงานเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

กระบวนการประดิษฐ์ลายดอกไม้เฟื่องใช้บานไม่รู้โรยย้อมสี ดึงทีละกลีบประดับบนโครงที่เตรียมไว้

ถวายพระอิสริยยศสูงสุดครั้งสุดท้าย

ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระจิตกาธานถือเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศ มีกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผนในจารีตราชสำนักที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน มีความวิจิตรประณีตบรรจง เป็นจุดศูนย์รวมของงานช่างฝีมือ 3 แขนง คือ งานช่างแทงหยวก งานช่างแกะสลักของอ่อน และงานช่างดอกไม้สด ซึ่งเรียกรวมกันว่า “งานช่างเครื่องสด”

“ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นพระเมรุมาศลำดับชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ต่างจากครั้งนี้ซึ่งเป็นลำดับชั้นพระมหากษัตริย์”

อาจารย์บุญชัยบอกและอรรถาธิบายถึงรายละเอียดของงานเครื่องสดประดับพระจิตกาธานโดยเริ่มจากรายละเอียดของโครงสร้างพระจิตกาธานก่อนว่า โครงสร้างพระจิตกาธานนั้นเป็นทรงบุษบก ชั้นเรือนยอด 9 ชั้น ตามพระอิสริยยศที่สูงที่สุดของสถาบันพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ บนยอดสุดเป็นพรหมพักตร์แกะสลักจากไม้จันทน์หอม

สาธิตลายแทงหยวกประดับพระจิตกาธาน

หลังคาชั้นเรือนยอดประดับด้วยการกรองดอกไม้สดเป็นตาข่ายทุกชั้น ขอบปิดประดับด้วยลวดลายแทงหยวก เรียกว่า “หยวกรัดเกล้า” สาบลายช่องกระจกด้วยกระดาษทองอังกฤษ ประดับด้วยลายดอกประจำยามที่ทำจากเปลือกมะละกอดิบซ้อนชั้นเป็นดอกดวง ที่มุมชั้นของเรือนยอดแต่ละชั้นประดับด้วยกระจังทิศ กระจังเจิม ประดิษฐ์จากกาบกล้วยตานี สาบกระดาษทองอังกฤษ ด้านบนปักประดับด้วย “ดอกไม้ไหว” ที่ประดิษฐ์เป็นดอกปาริชาต ปักประดับเว้นระยะห่างกัน

ชั้น “รัดเอว” (ประดิษฐานพระโกศจันทน์) ประดับด้วยลายแทงหยวก ลายกลีบบัวจงกลซ้อนกาบลาย 5 ชั้น หน้าหยวกปิดประดับกระดาษทองอังกฤษ ประดับหน้าหยวกด้วยเครื่องสดลายดอกจอก

ลายดอกประจำยาม ซ้อนชั้น บริเวณด้านหน้าประดับดอกปาริชาต จำนวน 16 ดอก หมายถึงจำนวนชั้นสวรรค์ 16 ชั้น ในรูปลักษณ์ความหมายของไตรภูมิ

ส่วนชั้น “เรือนไฟ” หรือเรือนฟืน เป็นชั้นสำหรับวางท่อนฟืนดอกไม้จันทน์ ประดับด้วยลายแทงหยวก สาบด้วยกระดาษทองอังกฤษ

ด้านหน้าของเสาเรือนไฟทั้ง 8 เสา มีเทวดาชั้นพรหม 8 องค์ วรกายสีขาวนวล นั่งคุกเข่า พระหัตถ์ทรงถือพระขรรค์ ประดับด้านหน้า ประหนึ่งเฝ้าพิทักษ์รักษาและส่งเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์

“งานประดิษฐ์เทวดาประดับชั้นเรือนไฟ เป็นสิ่งที่ช่างของศิลปกรรมได้ระดมความคิดแล้วก็ทำถวายขึ้นมา ซึ่งแต่เดิมโบราณราชประเพณีไม่มี เพราะลักษณะองค์พระจิตกาธานมีความสูงใหญ่ (จากพื้นถึงยอดพรหมพักตร์เกือบ 11 เมตร เทียบเท่ากับตึก 3 ชั้น) ทำอย่างไรจะปิดช่องว่างได้ ส่งให้องค์พระจิตกาธานมีความสง่า มีความงดงาม และเพิ่มความวิจิตรพิสดารเข้าไป จึงประดิษฐ์รูปปั้นหล่อเทวดาชั้นพรหมขึ้นมา แต่ในสมัยโบราณไม่มี”

เทวดาชั้นพรหมประดับหน้าเสาชั้นเรือนไฟ

เลข ๙ ในลายเถาไขว้

ช่าง 4 ภาคร่วมใจถวายงาน

เมื่อถึงเวลาใกล้กำหนดถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะมีการระดมความคิดและกำลังฝีมือที่จะสร้างสรรค์ ประดิดประดอยผลงานให้ออกมาวิจิตรงดงามและสมพระเกียรติที่สุด น้อมส่งดวงพระวิญญาณสู่สรวงสวรรค์เป็นครั้งสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม การจัดทำพระจิตกาธานในการพระราชพิธีครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นความร่วมแรงร่วมใจจากช่างราชสำนัก ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ผู้ชำนาญการสถาบันการศึกษาต่างๆ จากหน่วยงานองค์กรต่างๆ

โปรดเกล้าฯ ให้ตัวแทนงานช่างแทงหยวก 4 ภูมิภาคเข้าร่วมถวายงานเป็นครั้งแรก คืองานแทงหยวก

ประกอบด้วยช่างแทงหยวกสกุลช่างฝั่งธนบุรี (วัดอัปสรสวรรค์) 4 นาย สกุลช่างจังหวัดสงขลา 4 นาย สกุลช่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากจังหวัดอุบลราชธานี 1 นาย จากจังหวัดมหาสารคาม 1 นาย และสกุลช่างเพชรบุรี 15 นาย รวมทั้งนักศึกษาวิชาช่างแทงหยวกจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) และช่างราชสำนัก สำนักพระราชวัง รวมทั้งสิ้น 37 นาย

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัวแทนช่างแต่ละภูมิภาค ซึ่งก็ล้วนเป็นพสกนิกรของพระองค์ ได้ร่วมเป็นจิตอาสาถวายงาน โดยราชสำนักเป็นคนประสานงานคัดเลือก เพราะช่างที่จะเข้ามาถวายงานจะต้อง 1.มีฝีมือ 2.มีความรับผิดชอบ 3.มีการสืบงานมาโดยสายช่าง แล้วมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างราชสำนักกับตัวช่างเองกับตระกูลของเขา

“บางตระกูลเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ งานสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ งานสมเด็จย่า เราก็เริ่มมีการติดต่อกันในสายช่าง ได้เห็นฝีมือไม้ลายมือ เห็นความสามารถของช่างตรงนั้น ก็เริ่มคัดเข้ามา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องทำงานกับช่างหลวงได้เพื่อให้ได้ออกมาเป็นชิ้นงานเดียวกัน”

ลายเถาไขว้ ตรงกลางเป็นเลข ๙

โดยในส่วนของงานแทงหยวกนั้น ธนวินทร์ จุ้ยอนันต์ นักจัดงานในพระองค์ปฏิบัติการ ดูแลเรื่องช่างเมืองเพชรบุรี พรเทพ จันทรา นักจัดงานในพระองค์ปฏิบัติการ รับผิดชอบเกี่ยวกับบริเวณชั้นหยวกรัดเกล้า และประสานกับช่างแทงหยวกสกุลช่างฝั่งธนบุรี (วัดอัปสรสวรรค์)

ขณะที่ กฤษณะ เฟื่องฟู ผู้ช่วยช่างทั่วไป เป็นนายช่างที่ออกแบบลวดลาย ลายประดับเสาเล็ก (ประดับชั้นเรือนไฟ) ซึ่งเป็นลายพิเศษของงานนี้คือ “ลายเถาไขว้ ตรงกลางเป็นเลข ๙”

“ลายหน้าหยวกจะมีเสาสูง 40-50 ซม. ซึ่งลายเสาจะเป็นลายแนวตั้ง ปกติจะเป็นลายฟันปลาและแข้งสิงห์ ส่วนลวดลายจะเป็นลวดลายพื้นๆ ลายเครือเถา ลายกนก แต่ในการระดมความคิดครั้งนี้มีแนวคิดของเพื่อนสมาชิกในกลุ่มว่า เราน่าจะเสนอลายพิเศษที่สื่อถึงพระองค์ในเชิงลัญลักษณ์ จึงใส่เลข ๙ อยู่ตรงกลางลายเถาไขว้” กฤษณะบอก

สำหรับงานแทงหยวกนั้นจะเริ่มทยอยตัดต้นกล้วยวันที่ 20 ตุลาคม ทุกอย่างต้องแข่งกับเวลาเพราะต้องสดทุกอย่าง

ดอกปาริชาตประดิษฐ์เป็นดอกไม้ไหวปักประดับด้านบนของชั้นรัดเกล้า

ระรวยรินกลิ่น “ปาริชาต”

จะกี่ภพกี่ชาติขอระลึกถึงพระองค์

การจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานนั้น ในทุกรายละเอียดล้วนสอดใส่ความประณีตบรรจง เป็นความร่วมแรงร่วมใจของพสกนิกรที่ตั้งใจน้อมถวายพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย

อาจารย์บุญชัยบอกว่า นอกจากช่างหลวง ช่างมีฝีมือจากที่ต่างๆ ทั้งจากวิทยาลัยในวัง (ชาย) ยังมีจิตอาสาอีกมากมายที่พร้อมช่วยงาน จึงมีการแจกจ่ายงานให้ทำดอกเข็ม องค์ประกอบหนึ่งที่ใช้ในงานกรองดอกไม้ โดยเฉพาะในส่วนของม่านตาข่ายดอกไม้สดประดับพระจิตกาธาน ซึ่งต้องใช้มากถึง 4 แสนดอก

วัตถุดิบที่ใช้ในการประดิษฐ์เป็นการเสาะหาสิ่งที่ดีที่สุด งามที่สุด เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่วิจิตรสมพระเกียรติที่สุด หลายๆ สิ่งนั้นหาไม่ง่าย เช่น “ไม้ระกำ” ที่ใช้ทำก้านดอก “ไผ่สีสุก” ที่ใช้ทำก้านดอกไม้ไหว ฯลฯ

เด็กน้อยจากโรงเรียนพระตำหนักจิตรลดาประดิษฐ์ดอกเข็ม

ที่พิเศษสุดคือ ดอกไม้ส่งเสด็จที่ประดับบนพระจิตกาธาน ออกนามว่า “ดอกปาริชาต” พ้องกับตำนานดาวดึงส์ ในตำนานไตรภูมิ กล่าวกันว่าเกิดอยู่บนสรวงสวรรค์ ใกล้กับพระเจดีย์จุฬามณี อยู่ในสวนของท้าวอัมรินทราธิราช (พระอินทร์)

คราใดที่ดอกปาริชาตบาน กลิ่นจะหอมไปได้ไกลถึง 5,000 โยชน์ ใครได้ดมกลิ่นของบุปผานี้จะสามารถระลึกถึงอดีตชาติภพภูมิของตนเอง ซึ่งการประดิษฐ์ดอกปาริชาตนั้นเปรียบประหนึ่งพสกนิกรชาวไทยขอตราตรึงความทรงจำในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อปวงชนตลอดไป ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติก็ขอระลึกถึงพระองค์มิเสื่อมคลาย

“ทำอย่างไรจะสื่อถึงดอกปาริชาตได้ เราไม่เคยเห็นดอกปาริชาต ไม่เคยเห็นสีของดอกปาริชาต ช่างจึงระดมความคิดกัน ใช้สีเหลือง ซึ่งเป็นสีของวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 สีชมพูอมแดง คือสีของกำลังวัน เราก็ดึงตรงนั้นมาทำเป็นกลีบดอก” อาจารย์บุญชัยบอกและว่า

ส่วนเกสรเป็นการนำเมล็ดธัญพืช เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพด เมล็ดถั่วเขียว ถั่วแดง ล้วนเป็นเมล็ดพืชซึ่งพระองค์พระราชทานให้กับเกษตรกร โดยนำมาจากแหล่งที่ดีที่สุด เช่น เมล็ดข้าวเปลือกหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ เมล็ดข้าวโพดจากเพชรบูรณ์ เชียงใหม่ และกาญจนบุรี ถั่วเขียวถั่วแดงจากเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา

คัดขนาดเมล็ดต่อเมล็ด ประดิษฐ์เป็นเกสร โดยเกสรชั้นในสุดประดิษฐ์จากนพรัตน์ 9 ดวง จากจันทบุรี ทั้งหมด 70 ดอก เท่ากับจำนวนปีครองราชย์ 70 ปี ประดับรอบชั้นรัดเอว แล้วอบร่ำด้วยน้ำปรุง ที่ใช้ดอกไม้นานาพรรณสกัดจากแอลกอฮอล์ ถือเป็นกลิ่นของสรวงสวรรค์ นี่คือการผูกเรื่องราวจากนามธรรมให้เป็นรูปธรรม

ขณะที่ดอกปาริชาตสด ซึ่งประดับบริเวณหน้าพระโกศจันทน์ ใช้กลีบดอกกล้วยไม้ดูดสีเป็นสีเหลืองและสีชมพูเช่นกัน ทั้งหมด 16 ดอก สื่อถึงสวรรค์ 16 ชั้น ในความหมายตามไตรภูมิ

“ความพิสดารอยู่ตรง ‘เถา’ เย็บจากใบแก้ว ซึ่งเป็นการกรองดอกไม้แบบชาววังในราชสำนักไทย ขณะที่ใบไม้ ซึ่งตีความกันว่า เมื่อเป็นดอกไม้บนสรวงสวรรค์ย่อมต้องมีสีใบที่ไม่เขียวเหมือนใบไม้ทั่วไป สีเขียวที่เหมาะแก่การณ์นี้จึงเป็นเขียว “ปีกแมลงทับ” “

นอกจากนี้ยังประดิษฐ์หมู่ภมรที่มาดมดอม โดยใช้งาขาวและงาดำเรียงร้อยเป็นตัว “แมลงภู่”

ทั้งหมดนี้เพื่อให้งดงามสมพระเกียรติที่สุด เพื่อน้อมถวายส่งเสด็จ “พ่อหลวง” ของพสกนิกรชาวไทยเป็นครั้งสุดท้าย

โดยงานเครื่องสดทั้งหมดจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 24 ตุลาคม จากนั้น 05.30 น. ของเช้าวันรุ่งขึ้นจะเคลื่อนย้ายเครื่องสดต่างๆ เข้าไปในพระเมรุมาศ ประดิษฐานให้แล้วก่อน 16.00 น.ให้ทันพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ

ปาริชาตสด ใบคือปีกแมลงทับประดับบริเวณหน้าพระโกศจันทน์