อีคอมเมิร์ซไทย 2.8 ล้าน เบอร์ 1 อาเซียน ตั้งรับศึกยักษ์ใหญ่

ก้าวสู่ยุคดิจิตอลที่คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 6.3 ชั่วโมงต่อวัน และการช็อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นกิจกรรมฮิตอันดับ 5 เมื่อใช้อินเตอร์เน็ต สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เปิดผลสำรวจล่าสุดของมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2559 และคาดการณ์ปี 2560

“สุรางคณา วายุภาพ” ผู้อำนวยการ สพธอ. เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2559 อยู่ที่ 2,560,103.36 ล้านบาท 60.24% เป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B (ธุรกิจกับธุรกิจ) 27.47% เป็นอีคอมเมิร์ซประเภท B2C (ธุรกิจกับผู้บริโภค) ที่เหลือ 12.29% เป็น B2G (ธุรกิจกับภาครัฐ) โดยเมื่อเทียบกับปี 2558 แล้วตลาดรวมอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 14.03% ส่วนประเภทธุรกิจแบบ B2C โตขึ้น 37.91% B2B โตขึ้น 15.53% แต่ B2G ลดลง 21.42% เนื่องจากการยกเลิกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐโดยวิธี e-Auction

SMEs ได้แชร์ตลาดแค่ 376 ล้าน

แต่ถ้าเจาะลึกลงไปถึงมูลค่าอีคอมเมิร์ซที่มาจากธุรกิจระดับ Enterprises (มีรายได้มากกว่า 50 ล้านบาท) พบว่าในปี 2559 มีมูลค่าอยู่ที่ 1,869,415.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าเท่าตัว และคาดว่าในปี 2560 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 2,042,705.30 ล้านบาท โดย 73.02% มาจากการขายคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร ขณะที่มูลค่าจากธุรกิจระดับ SMEs (มีรายได้น้อยกว่า 50 ล้านบาท) ปี 2559 อยู่ที่ 376.083 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11 ล้านบาท จากปีก่อน และคาดว่าปี 2560 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 445.089 ล้านบาท โดย 49.63% มาจากธุรกิจห้างสรรพสินค้า

เมื่อเจาะลึกไปถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซของผู้ประกอบการ SMEs พบว่า มากกว่า 72% ใช้การชำระเงินผ่านทางออนไลน์แล้ว และ 59.86% ของกลุ่มนี้เลือกชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิต และเพย์เมนต์เกตเวย์ของธนาคาร 23% ชำระผ่านระบบ e-Banking 13.33% ชำระผ่านระบบโมบายเพย์เมนต์ หรือตัวแทน และ 3.81% รับชำระเงินผ่านระบบชำระเงินต่างประเทศ เช่น Paypal, Alipay

ส่วนระบบการขนส่งที่ SMEs เลือกใช้ 84.38% ส่งโดยไปรษณีย์ไทย 47.76% บริษัทจัดส่งสินค้า ขณะที่ Enterprises 39.13% Outsource บริษัทโลจิสติกส์ 37.78% ใช้ไปรษณีย์ไทย 26.09% มีบริษัทโลจิสติกส์ของตนเอง

ไทยขึ้นเบอร์ 1 อินโดฯ โต 64%

หากเทียบมูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ในกลุ่มประเทศอาเซียน ไทย อยู่ในอันดับ 1 ที่ 1.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประชากร 68.41 ล้านคน) มาเลเซีย เป็นอันดับ 2 ที่ 1.74 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประชากร 30.22 ล้านคน) เวียดนาม อันดับ 3 ที่ 5.57 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประชากร 90.72 ล้านคน) อินโดนีเซีย เป็นอันดับ 4 ที่ 5.29 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประชากร 255.13 ล้านคน) สิงคโปร์ อันดับ 5 อยู่ที่ 4.13 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประชากร 5.46 ล้านคน) และฟิลิปปินส์ อันดับ 6 อยู่ที่ 5.1 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ (ประชากร 100.10 ล้านคน)

แต่ถ้าเทียบในแง่ของอัตราการเติบโตเฉพาะ B2C อินโดนีเซีย เติบโตสูงสุด 64.29% มาเลเซีย 46.92% ไทย 38.90% เวียดนาม 36.86% ฟิลิปปินส์ 15.91% และสิงคโปร์ 15.04%

หากเทียบสัดส่วนตลาดอีคอมเมิร์ซกับมูลค่าค้าปลีก ในประเทศจีนคิดเป็น 14.9% สหรัฐอเมริกา 8.1% ประเทศไทยคิดเป็นแค่ 1% ส่วนคาดการณ์ในปี 2560 เฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 8.6% เอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ 12.4%

ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซสูงสุดคือ การค้าปลีกและการค้าส่ง 713,690.11 ล้านบาท (31.78%) อันดับที่ 2 การให้บริการที่พัก 607,904.89 ล้านบาท (27.07%) อันดับที่ 3 การผลิต 428,084.73 ล้านบาท (19.06%) อันดับที่ 4 อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 384,407.71 ล้านบาท (17.12%) อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการขนส่ง 83,929.05 ล้านบาท (3.74%) ซึ่งในปี 2560 คาดว่าจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน

ส่องพฤติกรรมผู้บริโภค

ผลสำรวจพบว่า โฆษณาและสื่อออนไลน์มีอิทธิพลให้ผู้บริโภคชาวไทยเข้าเว็บซื้อขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด 55.9% รองลงมาคือ ข้อมูลจากการรีวิวและคอมเมนต์ของผู้เคยใช้สินค้า 54.9% ส่วนลด-ของแถม มีอิทธิพล 41.9% แต่ถ้าจะปิดการขาย ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากสุดคือ ขั้นตอนการซื้อที่ง่าย ได้รับสินค้าที่สะดวกรวดเร็ว โปรโมชั่นถูกใจ และราคาที่ถูกกว่า ขณะที่ราคาเฉลี่ยต่อครั้งคือไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนสาเหตุที่ไม่กล้าซื้อของออนไลน์ 51.1% เพราะกลัวโดนหลอก 39.9% ไม่ได้สัมผัสหรือทดลองใช้สินค้าก่อน

สินค้าและบริการยอดนิยม 44% แฟชั่นและเครื่องแต่งกาย 33.7% สินค้าด้านสุขภาพและความงาม 26.5% อุปกรณ์ไอที 19.5% เครื่องใช้ภายในบ้าน 18.7% บริการสั่งอาหารออนไลน์ 17.9% บริการเกี่ยวกับการเดินทางและท่องเที่ยว

สำหรับช่องทางชำระเงินที่นิยมใช้ 35.1% คือบัตรเครดิต 31.9% การโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นธนาคาร 27.1% โอนผ่านตู้เอทีเอ็ม 22.6% โอนเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคาร แต่ยังมีถึง 69.1% ที่ระบุว่า การชำระเงินแบบออฟไลน์ ยังทำให้รู้สึกสะดวกและสบายใจมากกว่าแบบออนไลน์

คาดปี ’60 โตทะลุ 2.8 ล้านล้าน

สำหรับปี 2560 คาดว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะอยู่ที่ 2,812,592.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.86% โดย B2C จะโตขึ้น 15.54% แต่ยังมีสัดส่วนแค่ 28.39% ของตลาดรวม ส่วน B2B โตขึ้น 8.63% มีสัดส่วน 59.56% ของตลาดรวม

ปัจจัยที่ทำให้เติบโตคือ 1. การสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐให้ผู้ประกอบการทุกระดับค้าขายออนไลน์ได้จริง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 2. ผู้ประกอบการหันมาเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์มากขึ้นตามความนิยมของผู้บริโภค 3. พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยและยอมรับการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น 4. นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอีคอมเมิร์ซมากขึ้นทั้ง e-Marketplace, e-Logistics, e-Payment ช่วยกระตุ้นการแข่งขันและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

ขณะที่ความท้าทายของอีคอมเมิร์ซไทยคือ การเข้ามาของยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ เป็นโจทย์ที่จะต้องร่วมกันดูแลธุรกิจท้องถิ่นทั้ง e-Marketplace, e-Logistics, e-Payment ให้อยู่รอดและพัฒนาให้ดีขึ้น รวมถึงสร้างโอกาสในการส่งสินค้าไทยไปต่างประเทศ การสร้างคนให้พร้อมรองรับยุคเศรษฐกิจดิจิตอล รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมั่นในระบบอีคอมเมิร์ซ

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์