เปิดเคล็ดลับความสำเร็จ “ละครช่อง3”

นับเป็นหนึ่งในสถานีโทรทัศน์ที่ “งานละคร” ติดตาติดใจผู้ชมหลายเรื่อง ดังนั้น งานเสวนา “เมื่อพล็อตเด่นเป็นละคร” ที่เผยเคล็ดลับความสำเร็จของ ละครช่อง3 จึงเป็นเรื่องน่าสนใจจนอยากหยิบมาเล่าต่อ

 

แรกเริ่ม สมรักษ์ ณรงค์วิชัย รองกรรมการผู้จัดการสถานี บอกว่า ในยุคนี้มีช่องทีวีหลากหลาย แต่ละช่องจึงต้อง “กำหนดภาพลักษณ์” ของตัวให้ชัดเจน โดยต้องพยายามให้แตกต่างและโดดเด่น

“ยุคหนึ่งเราลุกขึ้นทำละครชุด เพื่อต้องการแตกต่างจากช่องอื่น ถึงวันนี้ละครชุดไม่ใช่คำตอบของเราอีกแล้ว ดูเป็นปัจจัยเสี่ยงด้วยซ้ำว่าทำแล้วเรื่องหนึ่งประสบความสำเร็จ อีกเรื่องไม่ประสบความสำเร็จ” สมรักษ์บอก

ทั้งยังว่าในความเห็นเขา “งานละคร” ไม่ใช่ “งานก๊อบปี้” ดังนั้น หากเคยทำเรื่องนี้แล้วดัง ก็ไม่ได้แปลว่าถ้าทำเรื่องทำนองนั้นอีกแล้วจะได้ผลเดียวกัน ฉะนั้น การทำงานจึงต้องหาความต่าง-ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ “นิยาย” ยุคนี้ที่เป็น “ต้นทาง” ของละคร มีลักษณะซ้ำๆ กันไปหมด ช่องจึงพยายามหาทางออกด้วยกันจัดโครงการ Good Plot เป็นปีที่ 2 เพื่อเฟ้นหาพล็อตมาทำ

พล็อตที่ไม่ต้องสมบูรณ์พร้อมก็ได้ แต่ขอให้มีประเด็นแข็งแรงพอจะเล่นต่อ อย่างเช่นเรื่อง “4 หัวใจแห่งขุนเขา” ที่ “ตั้งแต่เล่ม 1-3 พล็อตไม่มีอะไร 2 ตระกูลไม่ถูกกัน, เจ้าชายปลอมตัว, แฝงไปองค์กรคู่แข่ง, จนมาถึงเรื่อง “วายุภัคมนตรา” อ่านไปเจอแค่ประโยคเดียวที่นางเอกด่าพระเอกว่าทำไมเธอถึงได้งี่เง่าขนาดนี้ ฉันช่วยเธอ ยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อเธอขนาดไหน ถึงได้เห็นว่าฉันรักเธอ”

%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b8%a0%e0%b8%b1%e0%b8%84%e0%b8%a1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b2-768x576

“ประโยคนี้ประโยคเดียว เราซื้อเลยนะ อยากเห็นว่าผู้หญิงคนหนึ่งเสี่ยงทั้งชีวิตยอมตายเพื่อผู้ชาย จะเป็นอย่างไร”

“เราเจอแล้วมันใช่” คนพูดย้ำ

พร้อมเหตุผล “ละครยังไงคนดูก็เป็นผู้หญิง ฉะนั้น เวลาเรามอง เราจะหาในแง่คำตอบที่ผู้หญิงฝันถึงอะไร ผู้หญิงอยากเห็นอะไร ผู้หญิงชอบอะไร”

นั่นเพราะ “กลุ่มเป้าหมายช่อง 3 คือ แม่บ้าน และกลุ่มคนดูในเมือง ที่เราจะพยายามรักษาระดับนี้ไป”

อย่างไรก็ตาม สมรักษ์เล่าว่า นอกจากพล็อตที่แข็งแรงและสนุก อีกสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือข้อมูลตัวละคร เช่น อาชีพ การทำงาน ฯลฯ ซึ่งถ้าเอามาใส่เป็นอุปสรรคในเรื่องก็จะช่วยให้มีรายละเอียดมากขึ้น ไม่ต่างจากบรรดาซีรีส์เกาหลีที่มีอิทธิพลมากปัจจุบัน

%e0%b9%81%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%a5%e0%b8%99%e0%b9%8c

“อย่าง ‘แอบรักออนไลน์’ ที่เอาคนมีความรู้เรื่องหุ้นมาเป็นที่ปรึกษาเขียนบท เพื่อลงลึกและทำให้คนเข้าใจง่าย ให้คนนึกออกมาว่าอาชีพนี้มันแก่งแย่งกันอย่างไร เมื่อเขาเข้าใจก็สามารถดูเรื่องนี้ได้อย่างสนุก เรื่องราวสามารถทำอะไรได้มากกว่าพ่อแง่แม่งอน งอนกันไปมา หูเบา ยุคนี้ที่ต้องทำคือข้อมูลที่แม่นยำ ข้อมูลต้องถูกต้อง

“สมัยนี้ที่ต้องคิดคือการค้นคว้า มานั่งเทียนเขียนไม่ได้”

ขณะ ยุ่น-ยิ่งยศ ปัญญา นักเขียนบทคนดัง ที่เคยมีผลงาน “ทองเนื้อเก้า”, “สุดแค้นแสนรัก”, “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา” ฯลฯ เสริมว่า การทำบทละคร อย่างหนึ่งที่ควรคิดมากๆ คือ “เราตีแตกความเป็นคนได้ขนาดไหน

อย่าง “สุดแค้นแสนรัก” นั่น “พล็อตธรรมดา แต่ว่าความเป็นคน มันถึงกึ๋น”

%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%94%e0%b9%81%e0%b8%84%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%81-768x536

“คนดูจะแยกแยะเองว่ารักคนนี้ เกลียดคนนี้ แล้วสิ่งที่ตามมาโดยคือการลุ้น และการชำระล้างจิตใจตัวเองของคนดูโดยไม่รู้ตัว ละครไม่สามารถสั่งสอนใครได้ แต่มันชำระล้างจิตใจ อยู่ที่กลยุทธ์ของคนคิดงาน ว่าเราจะใช้ชั้นเชิงอย่างไรที่คนดูไม่รู้สึกว่ากำลังถูกสอน แต่สิ่งนั้นเข้าไปปะทะจิตใจและอยู่กับเขาตลอดไป”

“ตอน ‘ทองเนื้อเก้า’ ออกอากาศ คนด่า ‘ลำยอง’ เยอะมาก แต่คนเขียนบทนั่งหัวเราะอยู่ เพราะคนดูติดกับ”

“ทำไมคนเกลียดลำยอง เพราะคนดูไม่รู้สึกตัวว่าเขากำลังได้ชะล้างจิตใจ คือในลึกๆ จิตใจคนมีพื้นฐานของการชั่งตวงวัดเรื่องความดีกับความชั่วอยู่ใแล้ว และมันถูกทำปฏิกิริยาโดยไม่รู้ตัว อันนี้คือกลยุทธ์ที่ทำให้คนติดกับตามดูจนจบฉาก”

นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืม ‘ความสมจริง’

“กล้ายืนยันว่าพื้นฐานที่คนดูไม่ต้องการเปลี่ยนคือความสมจริง มันก็กลับไปที่ความเป็นคน ถ้ามองเห็นความเป็นคนแตกฉานชัดเจน ไม่มีกรอบมากั้น มันจะเรียลเอง”

เช่นเดียวกับ เอิน – ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้จัดละคร ที่กวาดเสียงชมล้นหลามจาก ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ ที่เล่าว่า หลังได้โจทย์ให้ทำละครครอบครัวจึงหยิบเรื่อง ‘การเลี้ยงลูก’ ขึ้นมาเล่น โดยลงไปหาข้อมูลจริงมาประกอบ พร้อมกับต้องทำให้ ‘สนุก’ เพราะเดี๋ยวนี้คู่แข่งไม่ใช่แค่ละครไทย แต่ยังมีซีรี่ย์เกาหลี ฝรั่ง ดังนั้นจึงต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

สำหรับเรื่องที่ว่าทุกเรื่องต้องมี “คู่จิ้น” หรือไม่ ยิ่งยศรีบบอก “ความรักในเส้นของการทำละครมันสำคัญมากที่จะทำให้คนดูติดตาม”

อย่างน้อยก็ได้ผ่อนคลายจากประเด็นหลักที่มักเป็นเรื่องรุนแรง ถึงอย่างนั้นก็ต้องทำให้สมเหตุสมผลว่ารักกันได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น ‘ละครน้ำเน่า’ ทันที

“เรามีหน้าที่ทำให้คนดูตระหนัก ว่ารักคือสิ่งมีค่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉาบฉวยไม่ใช่ความรัก”

“รักกับเสน่หา คนละความหมายกัน” เขาว่า

%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%9a%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%94-768x432

ด้านสมรักษ์ออกตัวว่า เพราะข้อกำหนดของสถานีที่อยากมีละครฉายทุกวัน หากแต่ละเรื่องนั้นต้องใช้เวลามากในการถ่ายทำ หนำซ้ำเรื่องดีๆ ต้องรอบทอีกเป็นปี ฉะนั้นจึงต้องมีการเกลี่ยให้มีเรื่องหลากหลายแนว

“เรื่องคู่จิ้นมันเป็นเหมือนละครแนวลูกกวาด มันต้องมี ต้องมีอาหารจานด่วนบ้าง แต่ในจานด่วนเราก็ต้องลงรายละเอียดในแง่ของเหตุผลของตัวละคร ความลึกของตัวละคร”

“คู่จิ้นเป็นเรื่องของแฟนคลับ ซึ่งเราไม่ได้บ้าตามไป เราจับคนนั้นคู่กับคนนี้ เรารู้ว่ากำลังขายอะไรอยู่”

“อย่าง ‘วัยแสบฯ’ สิ่งที่เราและการตลาดกังวลมากคือเป็นละครค่อนข้างหนัก แล้วคนจะไม่ดูหรือเปล่า ก็พยายามทวงเรื่องเส้นความรักจากคนเขียนบท แล้วก็ไม่มั่นใจเรื่องชื่อเรื่อง กลัวว่ามันไม่ขาย เคยคิดชื่อใหม่ว่า ‘เติมรักในใจร้าว’แต่สุดท้ายก็กลับมาใช้ชื่อเดิม เพราะมันไม่ใช่”

“ในการทำงานเราห่วงเรื่องคนดู ห่วงเรื่องการตลาด ห่วงเรื่องพีอาร์”

เห็นอย่างนี้แล้ว คงรู้แล้วว่าการจะทำให้ละครประสบความสำเร็จ นอกจากทำให้ออกมาดี ยังต้องมองมุมให้ครบรอบด้าน