เผยแพร่ |
---|
วันที่ 4 ต.ค.2560 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. จัดงาน “SEC Retirement Savings Symposium 2017” ให้ความรู้และกระตุ้นนายจ้าง-ลูกจ้าง ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เล็งเห็นความสำคัญของการออมและวางแผนการเงินการลงทุนอย่างถูกวิธี
โดย รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. จัดงาน “SEC Retirement Savings Symposium 2017” ขึ้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2568 ซึ่งจะมีผู้สูงอายุเป็นจำนวน 20% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นการออมเงินเพื่อให้มีใช้จ่ายอย่างเพียงพอหลังเกษียณ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งมีสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีเพียงประมาณ 3 ล้านคน หรือ 21.5% ของแรงงานในระบบ โดยมีจำนวนนายจ้างประมาณ 17,000 บริษัท หรือเพียง 2.8% เท่านั้น
“ผลสำรวจพบว่า 50% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีเงินก้อนในวันเกษียณไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งงานวิจัยระบุว่า หากต้องการมีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตหลังเกษียณ ต้องมีเงินอย่างน้อย 3 ล้านบาท” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
จากนั้นศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เกษียณสุขเพียงพอ…ออมตามรอยพ่ออย่างยั่งยืน”
โดยอาจารย์ธงทอง กล่าวถึงการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระราชดำรัสครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517 มาเป็นแนวทางในการออมเงินเพื่อวัยเกษียณว่า ต้องออมในแบบพอเพียง และใช้เงินแบบพอประมาณสมควรแก่ฐานะ และยังระบุต่อไปอีกว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมีอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยที่มากขึ้น สิ่งนี้เป็นเหรียญที่มี 2 ด้านคือ เราจะได้อยู่ในโลกนี้ไปอีกช้านาน เห็นความภาคภูมิใจ แต่อีกด้านคือมีภาระกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่ว่าอาจจะมีโรคภัยตามมา
ข้อต่อมาคือสังคมเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า เมื่อเกษียณอายุแล้ว เราต้องอยู่โดยลำพัง ส่วนข้อสุดท้ายคือ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักรู้อย่างยิ่ง
อาจารย์ธงทอง กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการออมนั้น ปัจจัย 4 อย่างที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะต้องวางแผนอยู่ตามอัตภาพฐานะของตัวเอง และจะต้องเริ่มออมให้เร็วที่สุดคือ การออมตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน
จากนั้นเป็นเสวนาในหัวข้อ “บริษัทได้อะไร…ถ้าลูกจ้างมั่นใจว่าเกษียณมั่นคง” โดย รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน , อภิชาติ ขันธวิธิ HR – The Next Gen และ เสวก มีลาภกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพีแลนด์
โดย พรอนงค์ บุษราตระกูล ระบุว่า จากการสำรวจผู้ที่เกษียณอายุจริงจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีอยู่ 16% จากจำนวนประชากรทั้งหมด โดยเฉลี่ยมีการใช้จ่ายอยู่ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน แต่ 2 ใน 3 ของคนสูงวัยรายได้ต่อเดือนนั้นต่ำกว่าเส้นยากจนที่ 2,467 บาท ส่วนคนที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกษียณอายุไปแล้วจะใช้จ่ายอยู่ที่เดือนละ 8,000 บาท
ด้าน อภิชาติ ขันธวิธิ กล่าวว่า แผนกทรัพยากรบุคคล เองมีเป้าหมายที่จะต้องการดึงศักยภาพของพนักงานให้ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งสิ่งที่มารบกวนให้ศักยภาพของพนักงานบริษัทลดลงคือ ความเครียด ความกังวลต่างๆ ในการทำงาน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของเงิน การมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทนั้นจะทำให้นายจ้างเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูกจ้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ความรู้ การมีโบนัส ทำให้พนักงานทำงานออกมาได้อย่างเต็มที่สร้างผลดีให้กับบริษัท สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้พนักงานและบริษัทได้ผลดีในแบบวินวิน เช่นเดียวกัน
ส่วนข้อจำกัดในการสื่อสารในการลงทุนต่างๆ กับคนรุ่นใหม่ในบริษัทนั้น เจ้าของเพจ HR-The Next Gen ระบุว่า
“คนรุ่นใหม่มักจะทำงานกับบริษัทได้ไม่นานและมักจะออกไปแสวงหาความท้าทายใหม่ ทำให้การลงทุน การออมกับบริษัทยังไม่ได้เป็นที่สนใจของคนเหล่านี้มากนัก แต่สิ่งที่เราต้องให้คือความรู้ ถึงแม้ว่าการเกษียณอายุจะเป็นเรื่องไกลตัว” อภิชาติ กล่าว และว่า ให้บริษัทต่างๆ ลองมองดูสวัสดิการที่มีมานานว่า สวัสดิการบางอย่างอาจมีความล้าหลังหรือไม่ และลองปรับให้เป็นสวัสดิการ หรือกองทุนอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่ชัดเจนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน สเวก มีลาภกิจ ได้ยกตัวอย่างการสนับสนุนให้พนักงานบริหารจัดการเงิน เตรียมตัวใช้เงินในเวลาที่เกษียณให้เพียงพอของบริษัทซีพีแลนด์ว่า บริษัทต้องวางแผนให้พนักงานมีความสุข ลดความเครียดและเปลี่ยนแปลงค่านิยมของการใช้เงินให้ได้ โดย ซีพีแลนด์ได้จัดทำโครงการอยู่ 2 โครงการคือ Happy life to work, Happy work at CP Land และโครงการปลดหนี้สร้างสุข ส่งเสริมการออม เพื่อให้พนักงานทุกคนมีทัศนคติการใช้เงินที่ดีขึ้น และจะต้องไม่สร้างหนี้ใหม่ พร้อมกับใช้หนี้เก่าให้หมด
จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “สนับสนุนลูกจ้างอย่างไร ให้ปลายทางมีเงินเพียงพอ” โดย อารยา ธีระโกเมน กรรมการอำนวยการ บลจ.ทิสโก้, วิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และ ดร. รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อารยา ธีระโกเมน เผยถึง 3 ประเด็นที่จะทำให้มีเงินออมอย่างพอเพียงนั้นคือ ระยะเวลาที่ควรจะเริ่มออมตั้งแต่อายุยังน้อย, จำนวนเงิน โดยบริษัทควรสนับสนุนให้ลูกค้าสะสมเงินแบบเต็มสิทธิที่ 15% และการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน
ขณะที่ วิน พรหมแพทย์ ระบุว่า ประเทศไทยมีคนวัยแรงงานอยู่ที่ 38 ล้านคน แต่อยู่ในระบบที่มีนายจ้าง 13 และ ไม่มีนายจ้าง 25 ล้านคน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีเงินออมในภาคเอกชนมีแค่ 3 ล้านคนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีเงินออมเฉลี่ยเพียงคนละ 3 แสนบาทเท่านั้น
โดยปัญหาของประเทศไทยคือ จะไปดูแลคนที่ไม่มีเงินออม และอยู่นอกระบบเหล่านี้ได้อย่างไรให้เริ่มมีเงินออมมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนซีไอเอ็มบี ระบุว่า จะต้องออมอย่างไร ซึ่งปัญหาที่พบคือการออมที่น้อย และเลือกลงทุนในแผนที่มีความเสี่ยงต่ำเกินไปทำให้เงินเติบโตได้ช้า
ด้าน รินใจ ชาครพิพัฒน์ เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์มีโครงการ “เงินทอง ต้องวางแผน” ที่จะช่วยสอนทุกอย่าง พร้อมวางแผนให้มนุษย์เงินเดือนมีเงินเพียงพอใช้ โดยสนับสนุนให้บริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสมให้กับพนักงาน
ทั้งนี้วิทยาการทั้งหมดมีความเห็นที่ตรงกันว่า การออมเงินนั้นจะต้องออมให้เป็น และเริ่มอย่างเร็วที่สุด พร้อมกับต้องตระหนักใช้เงินให้ถูกต้องเหมาะสม และเตรียมพร้อมกับวัยเกษียณได้อย่างถูกวิธี
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์