กบง. อัดเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มอีก 3.0246 บาท/กก. อุ้มราคาแอลพีจี

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กบง. ส่งสัญญาณให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) อยู่ที่ 21.15 บาท/กก. เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาแอลพีจีในตลาดโลก และให้แนวทางการเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจีสามารถดำเนินต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกแอลพีจีในประเทศ ประกอบกับเพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิ์ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีเวลาปรับตัว

โดยให้ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการรักษาเสถียรภาพราคาด้วยการปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 3.0246 บาท/กก. จากเดิมที่กองทุนชดเชยที่ 3.5719 บาท/กก. เป็นชดเชย 6.5965 บาท/กก. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ราคาแอลพีจีตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 577.50 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 87.50 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนก.ย. 2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.1132 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 33.3160 บาท/เหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นแอลพีจีปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0246 บาท/กก. จาก 17.6970 บาท/กก. เป็น 20.7216 บาท/กก.

อย่างไรก็ตาม การรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกแอลพีจีดังกล่าว จะส่งผลให้กองทุนต้องรับภาระชดเชยราคา โดยมีรายจ่ายสุทธิสูงถึง 913 ล้านบาท/เดือน ซึ่งหากแนวโน้มสถานการณ์ราคาแอลพีจีตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ภาระการชดเชยราคาของกองทุนจะเพิ่มมากขึ้น จึงอาจมีความจำเป็นต้องมีการพิจารณาถึงสถานะของกองทุนน้ำมัน รวมถึงแนวทางการปรับราคาให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

สำหรับฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 1 ต.ค. 2560 อยู่ที่ 37,964 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีในส่วนของแอลพีจีอยู่ที่ 5,342 ล้านบาท และบัญชีในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 32,622 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ยังรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 พบว่า สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน (ณ มิ.ย. 2560) อยู่ที่ 14.41% แบ่งเป็น สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า 3.23% สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนผลิตความร้อน 8.88% และสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่ง 2.30% ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายรวมตามแผนที่กำหนดไว้ที่ 14.48% ภายในปี 2560 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2560 สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจะอยู่ที่ประมาณ 14.50%

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์